SDG Vocab | 37 – Sustainable Urbanization – การกลายเป็นเมืองอย่างยั่งยืน

การกลายเป็นเมือง‘ หรือ urbanization คือ กระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ชนบทให้กลายเป็นเมือง ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนรูปแบบการกระจายตัวของประชากรเชิงพื้นที่ไปยังเขตเมืองมากขึ้น และยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและพฤติกรรม ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมและประชากรของพื้นที่เมืองและชนบทเปลี่ยนไป ผลตามมาที่สำคัญของการกลายเป็นเมือง คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนพื้นที่และขนาดประชากรที่ตั้งถิ่นฐานในเมือง และสัดส่วนระหว่างคนเมืองและคนชนบท

การกลายเป็นเมือง ถูกกำหนดโดยการวางผังเมืองและการวางแผนเชิงพื้นที่ เช่นเดียวกับ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอาคารของทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้า และข้อมูล การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง จึงทำให้เมืองกลายเป็นสถานที่ที่มีบริการจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีคุณภาพดีกว่า และเข้าถึงได้ง่ายกว่าในพื้นที่ชนบท

ในทางปฏิบัติ การกลายเป็นเมือง หมายถึงทั้งการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและการเติบโตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนผู้อยู่อาศัยในเมือง ขนาดของเขตเมือง และพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้เพื่อตั้งถิ่นฐานในเมือง

แต่ ‘เมือง’ หรือ ‘urban’ คือ อะไร ?

คำจำกัดความของ ‘เมือง’ ไม่ได้ถูกกำหนดใดขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งเป็นสากล ดังนั้น เมื่อองค์กรระหว่างประเทศทำการรวบรวมข้อมูลจึงใช้ข้อมูลระดับชาติที่แต่ละประเทศ/พื้นที่มีการนิยามพื้นที่เขตเมืองของตนเอง

รายงาน World Urbanization Prospects: The 2018 Revision ได้รวบรวมคำจำกัดความของ ‘เมือง’ ที่ใช้ในการสำรวจสำมะโนประชากรในประเทศและพื้นที่ทั้งหมด 232 แห่ง โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดเขตเมืองที่ปรากฏ ได้แก่ ขนาดประชากร ความหนาแน่นของประชากร ประเภทของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลักษณะทางกายภาพ ระดับของโครงสร้างพื้นฐาน หรือใช้เเกณฑ์เหล่านี้รวมกัน หรือถือรวมว่าทั้งประเทศเป็นเขตเมือง

จากข้อมูล พบว่ามีมากถึง 101 ประเทศที่ใช้เกณฑ์จำนวนและความหนาแน่นของประชากรเพื่อกำหนดเขต ‘เมือง’ เพียงเกณฑ์เดียวหรือใช้ร่วมกับเกณฑ์อื่น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของจำนวนประชากรในพื้นที่หนึ่งที่ถือว่าเป็นเมืองมีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 200 ถึง 50,000 คน แต่ค่าที่ถูกใช้มากที่สุด คือ มีประชากร 2,000 คน (23 ประเทศ ใช้ตัวเลขนี้) และ 5,000 คน (21 ประเทศ ใช้ตัวเลข)

และหากพิจารณาใช้เกณฑ์ความหนาแน่นของประชากรเป็นตัวกำหนด ก็พบความแตกต่างระหว่างจำนวนขั้นต่ำเช่นกัน โดย เกณฑ์ความหนาแน่นของประชากรต่ำสุดที่ถือว่าเป็น ‘เมือง’ คือ 150 คน/ตร.กม. (เยอรมนี) และสูงสุด คือ 1,500 คน/ตร.กม. (จีน)

ตัวอย่างการกำหนดนิยาม ‘เขตเมือง’ ของแต่ละประเทศ
ที่มา : visualcapitalist

การกลายเป็นเมือง เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคทั่วโลก ประชากรครึ่งหนึ่งของจากทั้งหมดประมาณ 7 พันล้านทั่วโลกอาศัยและเติบโตอยู่ในเขตเมือง ด้วยอัตราเร็วนี้ ภายในปี 2050 สัดส่วนประชากรในเขตเมืองจะสูงขึ้นถึง 70%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกระทบต่อหลักการความยั่งยืนในหลายๆ ประการ ทั้งการขยายตัวอย่างไร้การควบคุมของเขตเมือง ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ระดับความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นในเขตเมือง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชากรเมืองมากกว่าสองในสามของโลก ที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 และมีคนหลายพันล้านที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ได้มาตรฐานหรือสลัม รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้อพยพที่เข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น

ดังนั้น ‘การกลายเป็นเมืองอย่างยั่งยืน‘ หรือ sustainable urbanization จะต้องเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ส่งเสริมแนวทางบูรณาการที่ให้คุณค่าทั้งทางมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อาศัยในปัจจุบันให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการปกป้องสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในอนาคตด้วย

โดยตัวอย่างการพัฒนาเมืองบนหลักความยั่งยืนในเมือง ได้แก่

  • พัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
  • ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น วิถีชีวิตและงานที่มีคุณค่า
  • การเข้าถึงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การบริการ การเคลื่อนย้ายและที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อคนยากจน
  • ให้อำนาจเมืองและชุมชนในการวางแผนและจัดการความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีกระบวนการวางแผนและตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม
  • การไม่เลือกปฏิบัติและสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกคนในเมือง

เมื่อเมืองกลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่จะกำหนดความเป็นไปได้ในการบรรลุ SDGs

เมืองและชุมชน สัมพันธ์กับทุกมิติที่กำหนดในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะกิจกรรมต่างๆ ล้วนมีผลกระทบต่อหลายเป้าหมาย เช่น ความพยายามในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การรักษาระบบนิเวศ ความมั่นคงด้านพลังงาน การจัดการขยะ ที่อยู่อาศัย การเดินทางและขนส่งในเมือง ดังนั้น การกลายเป็นเมืองที่ไม่มีการจัดการและวางแผนที่ดี จึงถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการบรรลุ SDGs ทั้งทางตรงและทางอ้อม

* ศึกษาเพิ่มเติม SUSTAINABLE URBANISATION & SUSTAINABLE DEVELOPMENTS GOALS

‘การกลายเป็นเมืองอย่างครอบคลุมและยั่งยืน’ ปรากฏใน ‘#SDG11 – (11.3) ยกระดับการกลายเป็นเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573’

Target 11.3: By 2030, enhance inclusive and sustainable urbanization and capacity for participatory, integrated and sustainable human settlement planning and management in all countries


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
What does “urban” mean? (World Bank Blogs)
World Urbanization Prospects: The 2018 Revision (UN DESA)
World Cities Report 2020 : The Value of Sustainable Urbanization (UN Habitat)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น