ปี 2543 – 2562 ภาวะโลกรวน-ภาวะโลกร้อน ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ ‘ไม่เหมาะสม’

ครั้งแรกของงานวิจัยนานาชาตินำโดยมหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัย Shandong ประเทศจีน เผยแพร่ใน Lancet Planetary Health สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตและสภาพภูมิอากาศจากทุกภูมิภาคของโลก (global overview) ในห้วง 20 ปี ระหว่างปี 2543 – 2562 ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.26 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ร้อนที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม พบว่า การเสียชีวิตที่มากกว่า 5 ล้านรายต่อปี เป็นผลจากอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนหรือหนาวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและเป็นอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคนั้น ๆ

แม้ว่าภาพรวมการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิจะลดลง เพราะการเสียชีวิตจากความหนาวเหน็บลดลง ทว่าในระยะยาวที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวนได้นำมาซึ่งภาวะโลกร้อนนั้น จะทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตนี้สูงขึ้นในอนาคต และสาเหตุหลักมาจากอุณหภูมิที่ยังคง ‘ร้อน’ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยผลการศึกษาชี้ว่า 9.43% ของการเสียชีวิตทั่วโลกเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาว เทียบได้กับการเสียชีวิตที่มากขึ้น 74 รายต่อทุก ๆ 100,000 คน โดยการเสียชีวิตในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่ ‘ไม่เหมาะสม’ แตกต่างกันไป อาทิ แถบยุโรปตะวันออกมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากอากาศที่ร้อนสูงขึ้นมาก/คลื่นความร้อน และแอฟริกาซับซาฮารามีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากอากาศหนาว ส่วนในรายละเอียดของการเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ในแต่ละภูมิภาค มีดังนี้

  • แอฟริกา – 1.2 ล้าน
  • เอเชีย – 2.6 ล้าน
  • ยุโรป – 835,000
  • อเมริกาใต้ – 141,000
  • สหราชอาณาจักร – 52,000
  • สหรัฐฯ – 173,600
  • จีน – 1.04 ล้าน
  • อินเดีย – 74,000
  • ออสเตรเลีย – 16,500
การเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ ‘หนาว’ ในแต่ละภูมิภาค มีดังนี้การเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ ‘ร้อน’ ขี้นในแต่ละภูมิภาค มีดังนี้
• แอฟริกา – 1.18 ล้าน
• เอเชีย – 2.4 ล้าน
• ยุโรป – 657,000
• อเมริกาใต้ – 116,000
• สหราชอาณาจักร – 44,600
• สหรัฐฯ – 154,800
• จีน – 967,000
• อินเดีย – 655,400
• ออสเตรเลีย – 14,200
• แอฟริกา – 25,550
• เอเชีย – 224,000
• ยุโรป – 178,700
• อเมริกาใต้ – 25,250
• สหราชอาณาจักร – 8,000
• สหรัฐฯ – 18,750
• จีน – 71,300
• อินเดีย – 83,700
• ออสเตรเลีย – 2,300

ทั้งนี้ ในช่วง 20 ปีดังกล่าว การเสียชีวิตจากอากาศหนาวลดน้อยลง 0.51% ส่วนการเสียชีวิตจากอากาศร้อนเพิ่มขึ้น 0.21% ขณะที่การเสียชีวิตจากเหตุของอุณหภูมิอากาศทั้งหมดลดลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มขึ้นชั่วคราวในเอเชียใต้และยุโรป

งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลฐานจาก 43 ประเทศใน 5 ภูมิภาคที่มีลักษณะภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม ประชากร โครงสร้างพื้นฐาน และบริการด้านสาธารณสุขที่แตกต่างกัน จึงเป็นชุดการวิจัยที่สามารถช่วยฉายภาพรวมของโลกได้ชัดเจนขึ้น เมื่อเทียบกับการศึกษาที่มีมาก่อนหน้าเมื่อปี 2558 ซึ่งจำกัดการศึกษาอยู่ที่ 13 ประเทศ/ภูมิภาค ที่สำคัญ ด้านศาสตราจารย์ Guo หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยย้ำว่า ข้อมูลความแตกต่างเหล่านี้จะช่วยให้ทราบถึงรูปแบบและแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตและสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนานาชาติในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อลดผลกระทบ (mitigation) และปรับตัว (adaptation) ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพสำหรับทุกคน (health protection) ได้

● เข้าถึงงานวิจัยที่ : Global, regional, and national burden of mortality associated with non-optimal ambient temperatures from 2000 to 2019: a three-stage modelling study – The Lancet Planetary Health

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า

โดยสภาพอากาศ/อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่เหมาะสมนั้น ส่งผลต่อ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี

แหล่งที่มา:
World’s largest study of global climate related mortality links 5 million deaths a year to abnormal temperatures (Monash University)

Last Updated on กรกฎาคม 26, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น