การศึกษาใหม่จาก University Medical Centre Mainz ประเทศเยอรมนี ที่ตีพิมพ์ใน European Heart Journal สำรวจว่าการกลายเป็นเมือง (urbanization) ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCDs) ของผู้อาศัยในเขตเมืองมีความรุนแรงขึ้นอย่างไร
ภายในปี 2050 คาดว่าจะมีประชากรโลกเกือบ 70% ที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในเขตเมือง แต่การกลายเป็นเมืองและการขยายตัวของเมืองที่เอื้อให้เกิดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะทำให้เกิดสภาพการจราจรที่ติดขัด มลพิษทางอากาศ และเสียงดังรบกวน ผลที่ตามมาคือ คนในเมืองจะประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง สุขภาพโดยรวมแย่ลงและนำมาซึ่งการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในที่สุด
การศึกษาชิ้นนี้ได้สังเคราะห์ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมในเมืองหลายประการที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไม่ติดต่อ ทั้ง ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ‘เสียงรบกวนจากการจราจร’ ที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลึซึมเนื่องจากฮอร์โมนความเครียด อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น และ ‘มลภาวะทางแสงจากการจราจรในเวลากลางคืน’ ซึ่งส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย และอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ เช่นโรคอ้วนและโรคหัวใจ
พร้อมกับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่พบว่าการวางผังเมืองที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวทางกาย ลดมลพิษทางอากาศ ลดมลพิษทางเสียงและความร้อน และมีพื้นที่สีเขียวมากพอ จะช่วยลดการเสียชีวิตที่ป้องกันได้มากถึง 20% ผู้วิจัยจึงได้ระบุ 4 โมเดลการพัฒนาเมืองที่จะช่วยส่งเสริมให้คนในเมืองมีสุขภาพดี ได้แก่
- Compact City – เมืองที่ขนาดกะทัดรัดที่มีความหนาแน่นสูง พร้อมระบบขนส่งสาธารณะโดยตรงและมีพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองในโมเดลดังกล่าว คือ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย - Superblock City – เมืองที่บล็อกที่อยู่อาศัยหลายๆ บล็อกถูกล้อมด้วยถนนสายหลักที่ให้ความสำคัญกับคนเดินถนนและคนใช้จักรยานมากที่สุด การใช้รถยนต์จะอนุญาติเฉพาะรถของผู้อาศัยในพื้นที่เท่านั้นวิ่งบนถนนได้ในความเร็วที่จำกัด
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองในโมเดลดังกล่าว คือ บาร์เซโลนา ประเทศสเปน การวางผังเมืองในลักษณะนี้คาดว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้เกือบ 700 รายทุกปี จากมลพิษทางอากาศ เสียงจากการจราจรบนถนน และความร้อน - 15-minute City – เมืองที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปถึงจุดหมายปลายทางเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งไปซื้อของชำ ไปโรงเรียน ไปโรงพยาบาล หรือไปถึงสถานที่ทำงานภายในเวลา 15 นาที
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองในโมเดลดังกล่าว คือ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส - Car-free City – เมืองปลอดรถ ช่วยลดการจราจรที่ไม่จำเป็นและการใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการพัฒนาผังเมืองให้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้โดยง่าย
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองในโมเดลดังกล่าว คือ ย่าน Vauban ของไฟร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี
โมเดลการพัฒนาเมืองทั้ง 4 รูปแบบได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเชิงรุกเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ มลภาวะทางเสียง ความร้อน และช่วยเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกายของคนในเมืองที่จะทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม โมเดลการพัฒนาเมืองเหล่านี้ออกแบบโดยวางรูปแบบการใช้ชีวิตของโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Western-centric) ที่อาจไม่เข้ากับวิถีชีวิตและเงื่อนไขของผู้คนในโลกตะวันออก โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกาที่การกลายเป็นเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อเสนอแนะของการพัฒนาเมืองที่เหมาะสม จึงควรคำนึงถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมที่เฉพาะเจาะจงด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมต่อปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำในสังคม
การออกแบบเมืองเพื่อการมีสุขภาพที่ดี เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4) และลดการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6)
- #SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ในประเด็น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกคน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของมนุษย์ (9.1)
- #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย จ่ายได้ และคำนึงคนเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ด้วย (11.2) การจัดการมลพิษทางอากาศและของเสีย (11.6) และ การพัฒนาและเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสำหรับคนกลุ่มต่าง ๆ (11.8 )
ที่มา : Heart health: design cities differently and it can help us live longer (The Conversation)