เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองเนเปิลส์ อิตาลี ที่ประชุม G20 ด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และพลังงาน (G20 Environment, Climate and Energy) ไม่สามารถเห็นพ้องกันว่าด้วยเรื่อง ‘ความมุ่งมั่น’ (commitment) ร่วมกันของนานาประเทศในการยกเลิกการใช้ถ่านหินและเป้าหมายที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส ทำให้การหารือใน 2 ประเด็นสำคัญนี้ต้องนำไปถกแถลงกันอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ณ กรุงโรม อิตาลี ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ หรือหนึ่งวันก่อนเริ่มการประชุม COP26 (การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ณ กลาสโกว์ สกอตแลนด์
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ António Guterres จึงแถลงตอบต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความกังวลใจ โดยชี้ว่า ‘โลกไม่อาจเดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เลย หากปราศจากการนำของบรรดาประเทศ G20’ ทั้งด้านนโยบายและการลงมือทำ รวมถึงการให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา
เพราะตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า เพื่อที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จ โลกจะต้องมีการกำหนด ‘เป้าหมายที่ทะเยอทะยานแต่สามารถบรรลุได้’ จึงได้กำหนดไว้ว่าให้มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutrality) ก่อนปี 2593 (2050) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อันตราย 45% ภายในปี 2573 (2030) จากระดับของปี 2553 (2010) รวมถึงจะต้องไม่มีการใช้ถ่านหินเพิ่มหลังจากปี 2564 (2021)
พร้อมกันนี้ ประเทศชั้นนำ G7 และประเทศพัฒนาอื่น ๆ จะต้องร่วมมือร่วมใจสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การสนับสนุนด้านการปรับตัว (adaptation) และฟื้นคืนจากความผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง (resilience) เป็นงบประมาณอย่างน้อย 50% ของงบประมาณด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ตลอดจนสนับสนุนให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีมีการผนวกรวมหมุดหมายเหล่านี้ไว้เป็นแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา
ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศชั้นนำจะต้องไม่ลืมว่า ในแต่ละวันมีประชากรโลกนับพันล้านคนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างก็ต้องการความแน่นอนว่าบรรดารัฐ/รัฐบาลชั้นนำเหล่านี้จะสร้างอนาคตที่มีความทนทานและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่ อย่างไร
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหวังว่า ในท้ายที่สุด บรรดารัฐชั้นนำจะสามารถเห็นพ้องกันทั้งเจตจำนงค์ทางการเมืองและในรายละเอียดสำคัญข้างต้น เพื่อที่จะนำไปสู่การผลักดันอย่างมีนัยสำคัญต่อโลกต่อไปในที่ประชุม COP26 (จากที่เลื่อนการประชุมมาแล้วเพราะโควิด-19)
● G7 ประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสหภาพยุโรป
● G20 ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เม็กซิโก, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, ซาอุดิอาระเบีย, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.a) ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัด ในฐานะที่เป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินงานอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน (capitalization)
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งที่มา:
No pathway to reach the Paris Agreement’s 1.5˚C goal without the G20: UN chief (UN)