งานวิจัย The impact of disasters on contraception in OECD member countries: a scoping review โดย University of Warwick เผยแพร่ใน The European Journal of Contraception & Reproductive Health Care ระบุว่า ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงก่อนและขณะที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ยังคงจำกัด ทำให้ข้อมูลและการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงหายไปจากการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่โรคระบาดมีต่อการใช้ยาคุมกำเนิด สุขภาพของผู้หญิง อัตราการสูญเสียครรภ์ระยะแรก การที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด ไปจนถึงอัตราการเกิดในอนาคต
โดยงานวิจัยชี้นนี้เป็นการทบทวนขอบเขตของงานวิจัยที่มีอยู่และศึกษาถึงผลกระทบของวิกฤติที่มีต่อยาคุมกำเนิดในประเทศที่มีรายได้สูง อาทิ สหราชอาณาจักร เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการสนับสนุนในการวางแผนเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้จากภัยพิบัติและโรคระบาดในอดีต เพื่อโฟกัสที่โควิด-19 ณ ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราการสูญเสียครรภ์ระยะแรก ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด และอัตราการเกิด อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาทบทวนว่าการใช้ยาคุมกำเนิดได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร และผลกระทบอะไรที่มีต่อสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง
จึงนำมาสู่คำถามต่อช่วงโควิด-19 อาทิ มาตรการล็อคดาวน์ทำให้ผู้หญิงประสบปัญหาในการเข้าถึงยาคุมกำเนิดหรือไม่ และการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศติดขัดหรือไม่ เป็นต้น ขณะที่สภาพของสถานการณ์ทำให้ผู้หญิงอาจไม่ต้องการเดินทางหรือไปรับยาคุมกำเนิดเพราะกลัวว่าจะติดไวรัส และนโยบายว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงยาคุมกำเนิดก็ยังแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ อาทิ การเข้าถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (IUD หรือ IUS) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง แม้แต่ในประเทศที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้ฟรีผ่านระบบบริการสุขภาพแห่งชาติโดยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ เฉกเช่นในสหราชอาณาจักร
ถึงกระนั้น บางประเทศก็มีความพยายามที่จะเปิดช่องทางการเข้ารับยาคุมกำเนิดให้ยังคงมีอยู่ อาทิ การเข้ารับยาคุมกำเนิดแบบ drive through หรือการรับคำปรึกษาด้านสุขอนามัยทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ telehealth
การศึกษานี้พยายามชี้ว่า การที่ผู้หญิงยังคงสามารถเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้ไม่ว่าจะยามปกติ หรือวิกฤติอย่างภัยพิบัติและโรคระบาด มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะต้องไม่ลืมว่าสำหรับบางครอบครัวก็อาจจะวางแผนที่จะสร้างครอบครัวและอาจจำต้องเปลี่ยนใจหรือยกเลิกแผนนั้นเพราะเหตุด้านสุขภาพหรือการเงิน ทำให้การคงไว้ซึ่งทางเลือกของการเข้าถึงและใช้ยาคุมกำเนิดยังคงจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสุขภาพและทางสังคม รวมถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนหรือตั้งใจไว้
● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้องที่ สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และ วิธีการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.7) หลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการ ข้อมูล การให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัว และวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
-(5.6) หลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขนามัยทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
Last Updated on มกราคม 12, 2022