จะลดความขัดแย้งด้านการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศลงได้ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ฉากทัศน์ปัญหาและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน

งานวิจัยนานาชาติ When timing matters—misdesigned dam filling impacts hydropower sustainability เผยแพร่ใน Nature Communications ภายใต้โครงการ Horizon 2020 DAFNE ของสหภาพยุโรปร่วมกับแอฟริกา นำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zurich) ได้ทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และที่สำคัญ เป็นการพัฒนาเครื่องมือยุทธศาสตร์ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดหรือ ‘ลดความขัดแย้ง’ ในการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศลง

ด้วยความที่แม่น้ำเป็นชีวิตสำหรับทุกประเทศและระบบนิเวศ ทั้งการเป็นแหล่งน้ำดื่มและน้ำใช้สำหรับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทีมผู้วิจัยยังต้องการชี้ว่ามันมีความเชื่อมโยง (nexus) ระหว่างน้ำ พลังงาน อาหาร และระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า Water-Energy-Food (WEF) Nexus เช่นเดียวกันกับกรณีของลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศและมีผู้คนจากนานาประเทศพึ่งพิง ทว่ามักเป็นจุดที่เกิด ‘ข้อพิพาท’ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศซีกโลกใต้หรือประเทศกำลังพัฒนา ที่มักจะแข่งขัน/แย่งชิงการเข้าถึงแหล่งน้ำจืดกันอย่างดุเดือด ทั้งการหันมาใช้พลังงานน้ำ (hydropower) ที่มากขึ้นยิ่งทำให้การแข่งขันยืดยาวต่อไป และข้อพิพาทที่นำมาซึ่งความตึงเครียดทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน มักจะมาจากประเด็น อาทิ การสร้างสิ่งก่อสร้าง เขื่อน และการชลประทาน

ตัวอย่างความขัดแย้ง เช่นในกรณีของเอธิโอเปีย เมื่อประเทศได้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ Gibe III ในแม่น้ำ Omo เมื่อปี 2558 ประเทศและผู้คนที่อยู่ปลายน้ำของแม่น้ำสายนี้ พบว่าปริมาณน้ำลดลงอย่างสังเกตได้ ภาวะน้ำท่วมตามธรรมชาติลดลงได้ส่งผลให้ปริมาณโคลนที่อุดมสมบูรณ์ที่จะถูกพัดผ่านมาลดลงด้วย รวมทั้งอาจประสบกับความแห้งแล้ง ส่งผลต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำของทะเลสาบ Turkana ในเคนยา ที่น้ำจากแม่น้ำ Omo ต้องไหลพาดผ่าน มีระดับน้ำลดลง 2 เมตร ส่งผลต่อการทำเกษตรกรรมและผู้คนที่พึ่งพาน้ำบริเวณนี้

โดยการจะลดความขัดแย้งลงได้ก็ต้องเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นองค์รวม คำนึงถึงบทบาท-ผลประโยชน์-ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน บูรณาการแผนการจัดการน้ำและบูรณาการการเข้ามามีส่วนร่วมหารือและลงมือทำ การตัดสินใจบนฐานของหลากมิติมุมมอง โดยที่มีการประณีประนอมและชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางเศรษฐกิจ (trade-offs) ของประเด็น Water-Energy-Food Nexus

ซึ่งในรายละเอียดของโมเดลเครื่องมือ (การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์) นี้ จะเน้นที่การประเมินผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ‘ในเชิงปริมาณ’ เช่น ตัวชี้วัด ปริมาณ/ระดับน้ำในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ การไหลของน้ำในฤดูกาลหนึ่ง ๆ เป็นต้น เพื่อให้สามารถสร้างทางเลือกของการพัฒนาได้หลากหลายและเหมาะสมกับฉากทัศน์มากที่สุด เช่นอาจจะมีทางเลือกเป็นโมเดลการจัดการน้ำท่วมในฉากทัศน์เรื่องสภาพภูมิอากาศแบบ El Niño หรือ La Niña ที่จะนำมาซึ่งการหารือ/วิเคราะห์กันต่อไปเรื่องทรัพยากรน้ำ พร้อมกันนั้นก็มีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างทุกแง่มุมการใช้น้ำจากผู้มีส่วนได้เสีย/ผู้ใช้น้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (digital visualisation) เพื่อให้สามารถประเมินปัญหาจากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียทุกคนได้

นอกจากนี้ ทางทีมผู้วิจัยระบุว่า สามารถนำเครื่องมือนี้หรือจะเรียกว่าเป็น ‘DAFNE tool’ ไปใช้ร่วมกับเครื่องมือพยากรณ์น้ำท่วม/น้ำแล้งตามฤดูกาลที่มีอยู่เดิมของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในทุกแห่งของโลกก็ได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | 7 นาที สรุป 7 ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับ 101
MRC ออกยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ ตั้งระยะเวลาที่ 10 ปี จัดการน้ำให้ยั่งยืนคล้องกับกรอบเวลาของ SDGs

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาลที่ดี
-(6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดน (transboundary cooperation) ตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือ/ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนา โดยมีความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย
-(17.17) ส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม บนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
Water resources: defusing conflict, promoting cooperation (ETH Zurich)

Last Updated on กรกฎาคม 29, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น