SDG Vocab | 40 – Sustainable Procurement – การจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน

การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน‘ หรือ sustainable procurement คือการนำปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมาใช้พิจารณาควบคู่ไปกับราคา คุณภาพ การส่งมอบสินค้าและบริการในกระบวนการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ที่ไม่เพียงแต่มีความคุ้มค่าทางการเงินในแง่ของการสร้างกำไรให้องค์กรเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ และลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

โดยมีตัวอย่างแนวทางปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนในแต่ละมิติดังนี้

  • มิติด้านสังคม – การจัดซื้อจัดจ้างท่ีคํานึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีต่อผู้ใช้แรงงาน (Labor Practices) ครอบคลุมประเด็น การคำนึงถึงชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมการทำงาน สุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดซื้อจัดจ้างท่ีคํานึงถึงสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ครอบคลุมประเด็น การเคารพสิทธิมนุษยชน หลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ และปกป้องกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง
  • มิติด้านเศรษฐกิจ – บรรษัทภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชั่น (Business Ethics & Anti-Corruption) ครอบคลุมประเด็น แนวทางการดำเนินงานที่มีจริยธรรม โดยเฉพาะการต่อต้านการทุจริต มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และ การจัดซื้อจัดจ้างงานท้องถิ่น (Local Partnership) ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานและการเข้าถึงบริการ รวมถึงการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • มิติด้านสิ่งแวดล้อม – การจัดซื้อจัดจ้างท่ีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ครอบคลุมประเด็น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากร การสร้างมลภาวะ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับองค์กรที่รับเอาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนมาปฏิบัติใช้จะได้รับประโยชน์จากการลดความเสี่ยง (risk reduction) ต่อการเสียชื่อเสียงที่อาจเกิดจากการเป็นคู่ค้ากับซัพพลายเออร์ที่มีแนวปฏิบัติการทำงานที่ไม่ดี เช่น มีการใช้แรงงานเด็ก และยังช่วยลดต้นทุน (cost saving) เพราะมีการประหยัดพลังงานหรือลดของเสียได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ (revenue growth) เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าที่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นการรับประกันว่าองค์กรจะอยู่ได้ในอนาคต (future-proof) เพราะได้ลงมือลดความเป็นได้ของการขาดแคลนอุปทานที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต ด้วยการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความยั่งยืนแล้ว

ผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนคนสำคัญ คือ ‘ภาครัฐ’ เพราะภาครัฐมีกำลังสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างมหาศาล ในกลุ่มประเทศ OECD การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และสำหรับในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก มีการใช้จ่ายสูงถึงกว่า 30% ของ GDP หากภาครัฐใช้กำลังซื้อส่วนนี้ไปสำหรับสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ก็เป็นการชี้นำตลาดให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่มีความยั่งยืนมากขึ้นได้เช่นกัน

‘การจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน’ ปรากฏใน  ‘#SDG12 – (12.7) ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ยั่งยืนตามนโยบายและการให้ลำดับความความสำคัญของประเทศ’

Target 12.7: Promote public procurement practices that are sustainable in accordance with national policies and prioritised efficient use of natural resources


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
indicator 12.7.1 (UN SDG Indicator Metadata)
สร้างมูลค่าให้กิจการด้วย Sustainable Procurement (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
Sustainable Public Procurement (UNEP)
Sustainable Procurement: What Is It and Why Does It Matter? (Oxford College of Procurement and Supply)
Sustainable Procurement Policy (World Economic Forum)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น