25 เมืองใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 52% ของปริมาณทั่วโลก โดยเมืองใหญ่ในเอเชียเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ

งานวิจัย “Keeping Track of Greenhouse Gas Emission Reduction Progress and Targets in 167 Cities Worldwide” รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 167 เมือง จาก 53 ประเทศ พบว่า เมืองขนาดใหญ่ระดับเพียง 25 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณมากถึง 52% ของปริมาณทั้งหมด โดยเมืองในทวีปเอเชียปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และเมืองส่วนใหญ่ของประเทศที่พัฒนาแล้วมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหัว (per capita) สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีนัยยะสำคัญ

การศึกษาของนักวิจัยจากประเทศจีนฉบับนี้นำเสนอข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกจากกิจกรรมต่างๆ ในเมืองใหญ่ทั่วโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งแม้เมืองต่างๆ จะกินพื้นที่เพียงแค่ 2% ของพื้นผิวโลกแต่เป็นต้นตอของก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 70% และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนของโลก

ผลการค้นพบที่สำคัญจากการศึกษา ได้แก่

  • เมืองชั้นนำ 25 อันดับแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 52% ของปริมาณทั้งหมดที่มาจากเมืองที่ทำการศึกษา โดยเมืองใหญ่ๆ ในเอเชีย เช่น เซี่ยงไฮ้ และโตเกียว เป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่สูงเป็นพิเศษ
  • เมืองต่างๆ ในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวสูงกว่าเมืองต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าในอาคารที่พักอาศัยและสำนักงาน และการขนส่ง เป็นสองแหล่งที่มาหลักของก๊าซเรือนกระจกในเมือง
  • 42 เมืองจากทั้งหมดมีข้อมูลย้อนหลังที่สามารถติดตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตได้ พบว่าในจำนวนนี้มี 30 เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีลดลง แม้ว่าในหลายเมืองจะมีการปล่อยเพิ่มขึ้น
  • 113 เมือง จากทั้งหมด 167 เมือง มีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีเพียงแค่ 40 เมืองเท่านั้นที่กำหนดเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ (carbon neutrality)

ผู้วิจัยได้เสนอข้อเสนอแนะทางนโยบาย 3 ประการ เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมือง ดังนี้

  1. ควรมีการระบุว่าภาคเศรษฐกิจใดเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักและกำหนดเป้าหมายเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. พัฒนาระเบียบวิธีในการทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกันทั่วโลก เพื่อติดตามประสิทธิผลของนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละเมืองได้
  3. เมืองต่างๆ ควรกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทะเยอทะยานมากขึ้นและติดตามได้ง่ายขึ้น โดยอาจเริ่มต้นจากเป้าหมายลดความเข้มข้นของคาร์บอน (intensity mitigation) ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวควรไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจกแบบสัมบูรณ์ (absolute mitigation) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกภายในปี 2050
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs ใน
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ (13.2)
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ปลอดภัยและยั่งยืน ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ (11.6) 

ที่มา : 52% of the world’s greenhouse gas emissions come from just 25 cities (World Economic Forum)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น