Site icon SDG Move

‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภัยพิบัติจากน้ำหรือที่เกี่ยวกับน้ำ (water-related disasters) จัดอยู่ในรายการภัยพิบัติทางธรรมชาติอันดับต้น ๆ ที่ก่อความเสียหายและการสูญเสียชีวิตมากที่สุดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ตามรายงาน The Atlas of Mortality and Economic Losses from Weather, Climate and Water Extremes (1970-2019) ล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) ซึ่งจะเผยแพร่ในเดือนกันยายนนี้

โดยรายงานได้ประเมินว่าใน 10 เหตุการณ์ตามที่เก็บข้อมูลระหว่างปี 2513 – 2562 (1970-2019) นั้น น้ำท่วมส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 58,000 คน อุณหภูมิสุดขั้ว (extreme temperatures) ส่งผลให้คนมากกว่า 55,000 ต้องเสียชีวิต ขณะที่พายุทำให้มีการเสียชีวิตราว 577,000 ราย และความแห้งแล้งที่ทำให้มีการเสียชีวิตราว 650,000 รายทั่วโลก โดยที่เมื่อมองในมุมของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว พายุสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว ๆ 521 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนน้ำท่วมส่งผลที่ราว ๆ 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่า ความสูญเสียใหญ่ที่สุดที่เกิดกับยุโรปในห้วง 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ 377.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น มาจาก ‘น้ำท่วม’ และ ‘พายุ’ เป็นหลัก

อย่างในอดีต จากกรณีน้ำท่วมในเยอรมันเมื่อปี 2545 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเสียหายถึง 16.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์เดียวที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด ขณะที่ทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นทั้งหมด 1,672 ครั้ง (ที่มีการบันทึก) ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตเกือบ 160,000 ราย เสียหายไปกว่า 476.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยหากย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ล่าสุด เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคมที่เกิดในวงกว้างกระทบต่อยุโรปเหนือและยุโรปกลาง ไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ก็ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่า 120 คนในเยอรมันประเทศเดียว ขณะที่กว่าพันคนสูญหาย

และนั่นยังไม่นับว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในภูมิภาค/ประเทศอื่นของโลกด้วย

ผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก Petteri Taalas ระบุว่า ‘อากาศ สภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ/ด้านน้ำ จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ… เฉพาะเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากการที่ฝนตกหนักมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในยุโรปกลางและจีน’

Petteri Taalas ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนไปกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) อันหมายรวมถึงการพัฒนาสร้างระบบเตือนภัยพิบัตินานาประเภทล่วงหน้าด้วย (multi-hazard early warning systems)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘มหาอุทกภัย’ น้ำท่วมใหญ่ในยุโรปตะวันตกเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 122 ราย สูญหายอีกกว่า 1,300 ราย (the matter)
ฝนตกหนัก-น้ำท่วมใหญ่ที่จีน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนนับแสนต้องอพยพ (bbc)

หมายเหตุ
รายงาน The Atlas of Mortality and Economic Losses from Weather, Climate and Water Extremes (1970-2019) จะเผยแพร่ในเดือนกันยายน 2564 ส่วนรายงานเล่มปัจจุบันที่มีการเผยแพร่ สามารถเข้าถึงได้ที่ Atlas of Mortality and Economic Losses from Weather and Climate Extremes (1970-2012)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองที่ยั่งยืน
-(11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือ/ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนา โดยมีความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย
-(17.17) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งที่มา:
Water-related hazards dominate list of 10 most destructive disasters (UN News)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version