Site icon SDG Move

SDG Updates | โควิด-19 แพร่ระบาดไม่เลือกหน้า แต่ไทยให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้วหรือยัง?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ นั่นหมายถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่ย่ำแย่ลงทุกวัน ตามตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และการที่รัฐบาลไทยเลือกใช้ข้อบังคับที่จำกัดการดำเนินชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มตลอดช่วงเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาเพื่อระงับการแพร่ระบาดดังกล่าว  แต่ปัญหากลับพัลวันทั้งในมิติด้านสุขภาพและผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลไทยที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสภาพเศรษฐกิจในหลาย ๆ ภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากสภาพการณ์ของปัญหาและผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐดังกล่าว ทางรัฐบาล จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาตามมา ทั้งนโยบายการช่วยเหลือและการรักษาผู้ที่ติดเชื้อ นโยบายช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ให้แก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ รวมถึงนโยบายเยียวยาทางเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง และเราชนะ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะช่วยพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในภาวะลำบากได้เต็มที่ นอกจากนั้น ในด้านการบริหารจัดการ อาจจะยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือและการเยียวยาได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ กล่าวคือ เป็นไปได้ว่ายังมีอีกหลายกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจากนโยบายของรัฐเอง

เมื่อสังเกตรายละเอียดภายในกลุ่มประชากรที่มักได้รับความสนใจน้อยจะพบว่า กลุ่มที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือน้อยที่สุดในทุก ๆ ด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นโยบายของรัฐในการให้ความช่วยเหลือนั้น เน้นการให้ความสำคัญแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยมากกว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย อันหมายรวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือใด ๆ จากทางภาครัฐได้

SDG Updates ในวันนี้ จึงชวนคุณผู้อ่านมาสำรวจความเป็นไปของกลุ่มประชากรชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่มักถูกละเลยต่อการพูดถึงการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ทว่ามีนัยสำคัญต่อการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในประเทศไม่แตกต่างกัน


มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานข้ามชาติ

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้สูงนั้น เริ่มครองพื้นที่การแพร่ระบาดในประเทศไทยจนทำให้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มรวมทั้งหมด 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยในช่วงก่อนเดือนกรกฎาคมนั้น การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่วนใหญ่เริ่มกระจายอยู่ในแคมป์แรงงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ทำให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พยายามที่จะระงับการแพร่ระบาดด้วยการออกคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างและระงับกิจกรรมก่อสร้างทั้งหมดทั่วกรุงเทพ ฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกีดกันแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในแคมป์เหล่านั้นออกจากสังคมแล้ว ยังส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ต้องหยุดงานชั่วคราวทั้งยังไม่สามารถหางานอื่นทำเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากคำสั่งให้หยุดงานและจำกัดบริเวณดังกล่าวได้

ถึงกระนั้น จะต้องไม่ลืมว่าผลกระทบที่มีต่อแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งจากการติดเชื้อและจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด นั่นหมายความว่าความต้องการการช่วยเหลือและมาตรการเยียวยาจากภาครัฐมีไม่แตกต่างไปจากความต้องการของบุคคลผู้ถือสัญชาติไทย

แต่ในความเป็นจริงนั้น ใช่ว่าทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือ . . .

รายงานข่าวของบีบีซีไทยได้ชี้ให้เห็นถึงการปฏิบัติทั้งด้านการช่วยเหลือและรักษาต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติอื่นในไทย กับข้อกังขาว่าเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ (discrimination) กล่าวคือ เมื่อคนงานก่อสร้างกลุ่มนี้ทราบผลการตรวจจากทางบริษัทว่าติดเชื้อโควิด-19แล้ว สิ่งที่ทำได้คือการกักตัวกับผู้ร่วมงานที่ติดเชื้อด้วยกันเท่านั้น โดยที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับแรงงานชาวไทยที่ยังพอมีโอกาสติดต่อขอเข้ารับการรักษากับทางโรงพยาบาลได้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีแพทย์เข้ามาตรวจเยี่ยมอาการของแรงงานกลุ่มนี้บ้างเป็นครั้งคราว แต่สภาพความเป็นอยู่ก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาที่มีไม่เพียงพอ

ภาพหนึ่งในแคมป์ก่อสร้างจาก: matichon.co.th

นอกจากนี้ ในแง่ของการตรวจเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรงงานข้ามชาติกลับเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่ภาครัฐให้ความสนใจเช่นกัน ตามข้อมูลของสำนักข่าวไทยรัฐที่ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ออกเอกสารแจ้งยกเลิกการตรวจหาเชื้อให้แก่กลุ่มแรงงานที่มีสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายและมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด

ต่อให้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ผู้ที่ได้รับก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบเท่านั้น!

ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในการตรวจหาเชื้อที่เพิ่งถูกยกเลิกไป หรือจะเป็นมติจากคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ล้วนเป็นการให้ความช่วยเหลือที่กำหนดให้เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายหรืออยู่ในระบบประกันสังคมของรัฐเท่านั้น ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่มีประกันสังคมหรือไม่ได้อยู่ในระบบของภาครัฐ อย่างไรก็ดี กลุ่มดังกล่าวเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือไม่แตกต่างกันกับกลุ่มบุคคลอื่น เพราะต้องไม่ลืมว่าเฉพาะในมุมของการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเดียวนั้น โควิด-19 ไม่ได้เลือกละเว้นการติดเชื้อและแพร่เชื้อที่ ‘สัญชาติ’ หรือ ‘มีใบอนุญาตให้เข้าทำงานตามกฎหมาย’

นอกจากนี้ ตามมติ ครม. ในเรื่องการแจกเงินเยียวยา แรงงานข้ามชาติผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขยังได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าแรงงานชาวไทยที่ใช้สิทธิเดียวกันอีกด้วย

การฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย

เมื่อมีการแพร่ระบาด ก็ต้องมีการยับยั้ง หนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยและการตายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รมควบคุมโรคของประเทศไทยก็ได้แถลงการณ์ว่าจะฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรวมถึงชาวต่างขาติ โดยจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ และได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนในประเทศไทยไว้ที่ 50 ล้านคน หรือนับเป็นจำนวน 100 ล้านโดส

เป้าหมายชัดเจน แต่การดำเนินการคลุมเครือ

จากข้อมูลที่กรมควบคุมโรคได้แถลงนั้น ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าชาวต่างชาติสามารถขอเข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านช่องทางใดได้ มีเพียงการชี้แจงโดยรวมว่าการลงทะเบียนฉีดวัคซีน สามารถดำเนินการผ่านทางแอพพลิเคชั่น หรือไลน์ ‘หมอพร้อม’ หรือสามารถแจ้งความประสงค์ไปที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบรายละเอียดในการลงทะเบียนจองการฉีดวัคซีนผ่าน ‘หมอพร้อม’ กลับพบว่าชาวต่างชาติไม่สามารถลงทะเบียนได้เพราะต้องมีการกรอกเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก รวมถึงว่าไม่สามารถขอรับการฉีดกับโรงพยาบาลได้เช่นกัน เพราะข้อมูลที่ต้องรวบรวมส่งให้ภาครัฐในการขอโควตาวัคซีนยังจำเป็นต้องใช้เลขบัตรประชาชน นอกจากนี้ เมื่อไปติดต่อกับหน่วยงานอื่นที่สามารถติดต่อได้ก็พบว่าไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะการตัดสินใจโดยตรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานเหล่านี้

ฉีดวัคซีนยังติดขัด ส่วน ‘โควตา’ ก็มีไม่เท่ากัน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดช่องทางให้ชาวต่างชาติสามารถเริ่มลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ โดยชาวต่างชาติที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคเรื้อรังให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ Thailandintervac.com ส่วนชาวต่างชาติทั่วไปให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ Thailandintervac.com/expatriates

อย่างไรก็ดี เมื่อเปิดเว็บไซต์ดังกล่าวดูในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลับพบว่า แพลตฟอร์ม Thailandintervac.com ที่เคยรับลงทะเบียนจากชาวต่างชาติที่กล่าวไปข้างต้นได้ปิดรับลงทะเบียนแล้ว เพราะกรมควบคุมโรคได้เปลี่ยนให้เป็นการจองล้วงหน้า (pre-registration) กับโรงพยาบาลที่กรมควบคุมโรคได้กำหนดไว้ให้แทน โดยผู้ที่สามารถจองได้จะต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ/หรือ มีโรคเรื้อรังเท่านั้น แต่กระนั้น โควตาที่เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติดังกล่าวให้สามารถจองผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาล 2 แห่งในเดือนกรกฎาคมนั้น พบว่าเต็มจำนวนโควตาเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์จองการฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เปิดรับการจองโดยตามการรายงานของสำนักข่าว PPTV พบว่าโควตาที่ถูกจัดสรรมาให้นั้นมีเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น

ถึงแม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการเปิดให้ชาวต่างชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดได้ที่สถานีกลางบางซื่อ และยังสามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลในเดือนสิงหาคมตามที่กรมควบคุมโรคได้แจ้งไว้ แต่จำนวนโควตานั้นก็ยังมีอย่างจำกัดสำหรับชาวต่างชาติเหล่านี้ ทั้งที่ชาวต่างชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในไทยนั้น มีอย่างน้อย 111,625 คน ซึ่งเป็นตัวเลขตามจำนวนชาวต่างชาติที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ทว่าตัวเลขตามความเป็นจริงเป็นไปได้ว่ามีจำนวนมากกว่านี้

เพราะการดำเนินการที่คลุมเครือ ขาดข้อมูลที่แน่ชัด ส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายเป็นไปได้ยาก

หลังจากที่ ‘หมอพร้อม’ ได้ปิดรับการลงทะเบียนเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลมีวัคซีนไม่เพียงพอและการส่งมอบวัคซีนไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ก็ได้มีการเปิดช่องทางอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเปลี่ยนคำสั่งนโยบายไปมาอย่างกระทันหันอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การเลื่อนฉีดวัคซีนอย่างทันทีทันใด ทำให้ทุกฝ่ายสับสน นอกจากนี้ เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเลือกที่จะแจกจ่ายให้แก่กลุ่มที่สร้างแรงกดดัน มากกว่าที่จะอิงตามลำดับความสำคัญของกลุ่ม ทำให้ ณ ปัจจุบันไทยยังห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก

รายงาน ‘วัคซีนโควิด-19 สถานการณ์โลก ประเทศไทย และอาเซียน’ โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รวบรวมสรุปข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 แยกตามกลุ่มเป้าหมายของไทย ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรจะได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก ๆ ถัดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข กลับได้รับการฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มสองน้อยกว่าประชาชนทั่วไปซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ

ภาพจาก: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นอกจากนี้ เมื่อนำยอดตัวเลขการฉีดวัคซีนสะสมให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จากรายงานของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2564  มาคำนวณเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์กับจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ เดือนมีนาคม 2564 แล้ว พบว่าจากทั้งหมด 13 จังหวัดที่ ศบค. ได้ประกาศล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้ม มีเพียงแค่จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น ที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ (14.63%) ซึ่งความเป็นจริงแล้วตัวเลขสัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่ได้จากการคำนวณในครั้งนี้อาจจะน้อยกว่านี้ เพราะอาจจะยังมีผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ประชากรแฝง และชาวต่างชาติ เป็นต้น

แผนภาพ: จัดทำโดยผู้เขียน
แหล่งข้อมูล: รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564 (กระทรวงสาธารณสุข) และ สถิติจำนวนประชากรที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ เดือนมีนาคม 2564

จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมด สามารถชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการที่ ‘คลุมเครือ’ การขาดข้อมูลที่แน่ชัด อาทิ ข้อมูลการฉีดวัคซีนที่ไม่มีรายละเอียดเฉพาะสำหรับกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงข้อกังขาเรื่องการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสและการเลือกปฏิบัตินั้น ได้ทำให้การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการประเมินผล เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและจัดการรับมือกับโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้น เป็นไปได้ยาก

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลควรพิจารณาแจกจ่ายวัคซีนโดยอิงลำดับความสำคัญตามความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะว่าจะต้องพยายามจัดสรรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มคน และทุกสัญชาติภายในประเทศอย่างเสมอภาคกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันต่อโรคให้เกิดขึ้นสำหรับทุกคนและส่งผลดีสำหรับทุกคน ตลอดจนเป็นการตอกย้ำบทบาทของไทยที่แข็งขันในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

ทิ้งท้าย

นอกจากในสภาวะปกติแล้ว ในยามขับขันและวิกฤติที่ต้องอาศัยการทำงานอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว การตัดสินใจที่รัดกุม รอบด้าน และสนองตอบต่อความต้องการของทุกกลุ่มคนอย่างครอบคลุม บนฐานของข้อมูลที่ละเอียดและแม่นยำ นั่นหมายความว่าการดำเนินงานของภาครัฐต้องมี ‘ความชัดเจน’ มีการกำหนดมาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือที่เรียงตามลำดับความสำคัญซึ่งผ่านการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนมาแล้ว โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่กลุ่มที่ ‘เปราะบาง’ ก่อนโดยไม่คำนึงถึง ‘เชื้อชาติและสัญชาติ’ เพราะมักจะเป็นผู้ที่ถูกทิ้งท้ายเอาไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ หากภาครัฐมีการเก็บข้อมูลที่โปร่งใส ละเอียดถี่ถ้วน และครอบคลุมทุกกลุ่มคน ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

และสามารถกล่าวได้ว่าการดำเนินการในประเด็นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ สัมพันธ์กับการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม SDGs อย่างมีนัยสำคัญ

โดยการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มที่เปราะบางเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึง ‘ความแตกต่างทางเชื้อชาติ’ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับ #SDG10 ว่าด้วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (10.3) ในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียม โดยจะต้องมาจากการลดความไม่เสมอภาค การขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสม ตลอดจน (10.4) การเลือกใช้นโยบายการคลังและความคุ้มครองทางสังคม ที่ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคของประชาชน

ทั้งนี้ นอกจากรัฐจะต้องคำนึงถึงการสนับสนุนให้มีระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมโดยครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางในประเทศ (1.3) พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกัน ลดและป้องกันความเสี่ยงจากภัยต่าง ๆ อันหมายรวมถึงภัยทางเศรษฐกิจและสังคม (1.5) ตาม #SDG1 การขจัดความยากจนแล้ว จะต้องไม่ลืมว่าทุก ๆ คนในฐานะที่เป็นแรงงานซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ไปจนถึงการฟื้นกลับจากภาวะวิกฤติเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานชาวไทยหรือบุคคลอื่นที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยก็ตามล้วนมีบทบาทสำคัญยิ่ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการที่จะคำนึงถึงการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน โดยไม่ละเว้นการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (8.8) ตาม #SDG8 ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาและการแจกจ่ายวัคซีนให้แก่ทุกกลุ่มตามลำดับความสำคัญอย่างครอบคลุม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ ก็จะช่วยส่งเสริม #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่สำคัญ พร้อมกับเป็นการส่งเสริมระบบของการมี (3.8) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุขด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ประเด็นที่เป็นรากฐานของการผลักดันให้การดำเนินการมีประสิทธิผล ภาครัฐควรที่จะดำเนินการตาม #SDG16 ส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าทียมกัน โดยมุ่งเน้นไปที่ (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ (accountability) และความโปร่งใสในทุกระดับ (16.7) มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม เป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับ (16.10) สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ เราคงไม่อาจแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ตรงหน้าได้ทันการณ์และคงไม่อาจฟื้นกลับจากวิกฤติได้อย่างมั่นคง หากปราศจาก #SDG17 ความร่วมมือและหุ้นส่วนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าประสงค์ที่ (17.18) ว่าด้วยการเสริมขีดความสามารถของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และเชื่อถืออันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ‘โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ อย่างที่ทุกคนใฝ่ฝัน

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร


สรุปและเรียบเรียงจาก:
โควิด-19: แรงงานก่อสร้าง ชนชั้นที่ถูกลืมกลางโรคระบาด (บีบีซีไทย)
โควิด-19: ยุทธศาสตร์วัคซีนที่ถูกเบี่ยงเบน ดับความผิดพลาดในการบริหารแผน (บีบีซีไทย)
เลิกตรวจโควิดในแรงงาน 3 ชาติ ความบกพร่องของรัฐไทย อยากใช้คนแต่ไม่ดูแล (ไทยรัฐ)
สรุปขั้นตอนลงทะเบียน “หมอพร้อม” ไขข้อสงสัยการ Walk in ฉีดวัคซีนโควิด-19 (ไทยรัฐ)
สถานีกลางบางซื่อ ฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในประเทศไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป (ไทยรัฐ)
ครม. อนุมัติจ่ายเงินเยียวยา ประกันสังคม ม. 33-39-40 เพิ่ม 3 จังหวัด (ประชาชาติธุรกิจ)
กรมควบคุมโรคย้ำ! ฉีดวัคซีนโควิดไม่เลือกปฏิบัติ เป็นไปตามนโยบายฉีดให้ทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย (Hfocus)
Epi 1: หมอพร้อม และ วัคซีน COVID-19 (โรงพยาบาลกรุงเทพ)
จองวัคซีนในไทย ไม่ง่ายสำหรับชาวต่างชาติ (PPTV)
เดือดร้อนไปถึงชนบท!! แพทย์เหลืออด ที่สุดแห่งความล้มเหลว “ประชาชนพร้อม-วัคซีนพร้อม-หมอพร้อมปิดตัว” (MGROnline)
เอกสารแจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข
กรมการจัดหางานแจง กรณียกเลิกโครงการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านสาธารณสุข
รายงาน ‘วัคซีนโควิด-19 สถานการณ์โลก ประเทศไทย และอาเซียน’ โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564 (กระทรวงสาธารณสุข)
สถิติจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ เดือนมีนาคม 2564

Author

  • Knowledge Communication [Intern] | นักศึกษาฝึกงานผู้ฝันใฝ่ในสังคมที่ดีกว่า

Exit mobile version