องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) กำหนดหลักการเบื้องต้นในการพัฒนา ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ สรุปโดยคร่าว ดังนี้
- คำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติ หรือ ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (carrying capacity)
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน
- กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมให้กับคนในท้องถิ่น
- ส่งเสริมประสบการณ์ที่มีคุณค่ากับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
- เข้าใจและเรียนรู้สภาพเฉพาะของพื้นที่ ทรัพยากร ขนบธรรมเนียม/วัฒนธรรม/วิถีชีวิต
- ส่งเสริมการออกแบบที่เป็นกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น
- ผสานการท่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ
- พัฒนาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจและติดตามตรวจสอบ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้อธิบายนิยามการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในรายละเอียดที่สอดคล้องกันกับ UNWTO ว่าเป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวและการจัดบริการอื่นทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อสงวน รักษา และพัฒนาเอาไว้สำหรับคนรุ่นหลัง โดยที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ การที่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นได้ โดยที่ตระหนักถึงขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นนั้น ไปจนถึงการที่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นเอง มีจิตสำนึกในเรื่องนี้
โดยรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สนับสนุนความยั่งยืน มีอาทิ การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community-based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (Eco tourism) ตลอดจนการที่รัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นกำหนดนโยบายและมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวและการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นที่กล่าวถึงและมีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของโลกที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างงานจำนวนมหาศาล เฉกเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวมักนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น หรือร้ายแรงถึงขั้นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อแลกกับรายได้
จึงเป็นเหตุให้โลกเน้นย้ำให้การท่องเที่ยวต้องเป็น ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) บนหลักการ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (Economics Sustainability) ที่คำนึงถึงการบริหารจัดการ การสร้างอาชีพและการรองรับนักท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ความยั่งยืนทางด้านสังคม (Social Sustainability) ที่คำนึงถึงการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ที่คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของนักท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนมากและอาจนำมาซึ่งปริมาณของเสียที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเก็บเอาพันธุ์ไม้ไปจากพื้นที่ที่กระทบต่อระบบนิเวศ เป็นต้น
โดยไทยเองก็ได้ใช้หลักการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สนับสนุนกิจกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจนได้รับรางวัลนานาประเภท รวมถึงโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมองโกเลีย ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีไทย– เยอรมนี – มองโกเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ไทยได้รับคัดเลือกเป็นตัวอย่าง SDG Good Practices เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย (อ่านต่อ ที่นี่)
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าประเทศไทยนำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ มีความแข็งขันในการดำเนินการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาเสมอ พร้อมกับที่รับแนวคิดจาก UNWTO และ SDGs ทว่านอกจากที่ไทยจำเป็นต้องปรับปรุงในเรื่องการประเมินขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติตามรายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 12 (2560) แล้ว ไทยควรประเมินสถานการณ์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในบริบทของการพลิกฟื้นจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย
‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG12 – (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น’
Target: 12.b Develop and implement tools to monitor sustainable development impacts for sustainable tourism that creates jobs and promotes local culture and products
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 12 (2560)
การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (สทน.)
รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
Last Updated on มกราคม 3, 2022