SDG Updates | Blockchain ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและแก้ปัญหาด้านข้อมูลของภาคเกษตรไทยได้อย่างไร ?

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อาชีพในภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อคนในประเทศ เพราะมีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึง 30 % ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมถึง 6.4 ล้านครัวเรือน และมีที่ดินทำการเกษตรกินพื้นที่ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่พบในภาคการเกษตรไทย คือ การผลักดันเกษตรกรไทยให้ทำ ‘การเกษตรอัจฉริยะ’ (Smart Farming) ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการการเพาะปลูก วิเคราะห์ข้อมูลและแก้ปัญหาได้แบบทันที (Real-Time) ที่สามารถช่วยทุ่นแรงของเกษตรกรได้เป็นอย่างมากและให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างแม่นยำ แต่จากบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 2” พบข้อจำกัดที่สำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตร คือ เกษตรกรบางส่วนยังไม่ปรับทัศนคติและความเชื่อในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเกษตรกรผู้สูงอายุที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาก รวมถึงยังขาดแหล่งเงินทุนในการในลงทุนเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี และต้องแบกรับความเสี่ยงจากการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ซึ่งเป็นต้นทุนเพิ่มเติม จึงทำให้เกษตรกรบ้านเรายังคงนิยมการปลูกผลผลิตโดยวิธีเดิม ๆ เพราะมองว่าการลงทุนทางเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอาจไม่คุ้มค่า

จากที่กล่าวไป แนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น ถูกต้อง ทันสมัย และมีความรวดเร็ว ดังนั้นหากสามารถเสริมสร้างการจัดการข้อมูลอย่างมีมาตรฐานสำหรับภาคเกษตรกรรม จะช่วยส่งเสริมให้ในอนาคตมีเกษตรกรหันมาทำการเกษตรในรูปแบบใหม่นี้มากขึ้น โดยระบบเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและรวดเร็วได้

Blockchain คือ ระบบการบันทึกข้อมูลที่มีการจัดเก็บไว้ในเครือข่ายและมีการแก้ไขข้อมูลได้ยากซึ่งช่วยลดโอกาสในการถูกปลอมแปลงฐานข้อมูล นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลในเครือข่ายที่มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือได้โดยไร้ซึ่งคนกลางที่คอยควบคุมข้อมูล ทั้งนี้ Blockchain ยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ได้แก่

1. Permissioned Blockchain ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาต มีอีกชื่อว่า Private Blockchain
2. Permissionless Blockchain ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีอีกชื่อว่า Public Blockchain

ในปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่ในหลายประเทศได้นำระบบ Blockchain เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เช่น ภาคการเงินการธนาคาร เช่น ธนาคาร Barclays ในสหราชอาณาจักร ในภาคอุตสาหกรรม เช่น IBM และ Samsung ในภาคพลังงาน เช่น LO3 Energy ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในภาครัฐ เช่น Govchain ที่คอยช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในปัจจุบันยังติดตามความคืบหน้าโครงการในประเทศอื่น ๆ เพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับ Blockchain สำหรับเป็นข้อมูลในการตัดสินใจทางนโยบายของหลาย ๆ ประเทศที่กำลังสนใจ

สำหรับในภาคการเกษตรซึ่งมีหลากหลายประเทศ เช่น เคนยา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทยที่กำลังศึกษาระบบ Blockchain อยุ่ด้วยเช่นกัน  

Agri-Wallet (สาธารณรัฐเคนยา) แพล็ตฟอร์มที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกรเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น

เกษตรกรในสาธารณรัฐเคนยา ซึ่งตั้งอยู่ทางแอฟริกาตะวันออก ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและเผชิญปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงิน ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การทำธุรกรรมกู้ยืมมีความยากลำบากมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายเล็กที่อาจไม่มีเครดิตทางการเงินมากพอ จากต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งเงินทุนที่น่าเชื่อถือด้วยและต้นทุนจากการต้องเดินทางจากชนบทเข้าเมืองเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่จะทำให้เป้าหมาย ‘#SDG2 – เป้าประสงค์ 2.3 ด้านการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด ของเกษตรกรประสบความสำเร็จได้ล่าช้า

รูปภาพที่ 1 : Business Model ของ Agri-wallet
ภาพจาก : raflearning.org

Agri-wallet ดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมฟินเทค (fintech) สำหรับภาคเกษตรโดยใช้ระบบ Blockchain ในการจัดเก็บข้อมูลรวมถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ ระหว่างผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทาน โดยจุดประสงค์ของแพล็ตฟอร์มนี้คือเพื่อช่วยให้เกษตรกร (Farmers) ผู้ซื้อ (Buyers) และ ผู้จัดจำหน่าย (Supplier) สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นได้มากขึ้นและง่ายขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขาดแหล่งเงินทุน โดยประโยชน์ของแอปพลิเคชัน Agri-wallet มีทั้งหมด 3 ข้อใหญ่ดังนี้

  1. ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายระหว่างผู้ซื้อผลผลิต กับ ผู้ขายผลผลิต ในช่วงเวลาที่ผู้ขายต้องส่งผลผลิตให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อสามารถใช้เงินส่วนเกิน (Overdraft) ของทาง Agri-wallet จ่ายล่วงหน้าแล้วจึงชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยภายหลัง และผู้ขายก็สามารถเลือกได้ว่าจะรับรายได้เป็นในรูปเงินโอนเข้าบัญชีหรือเป็นเหรียญโทเค่นในระบบ ซึ่งเหรียญโทเค่นดังกล่าวสามารถนำไปใช้จ่ายสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายในระบบ (Supplier or Input provider) เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบขั้นต้นสำหรับการทำการเกษตร ในทางกลับกันผู้ขายสามารถใช้เงินส่วนเกินเพื่อซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายได้เช่นกัน และชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในภายหลัง (ดูรูปภาพที่ 1 ประกอบ)
  2. ช่วยจัดสรรการใช้เงินของเกษตรกรให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สำหรับเกษตรกรบางรายเมื่อได้รายได้จากการขายผลผลิตอาจนำเงินไปใช้จ่ายส่วนอื่นจนไม่ได้สำรองไว้เพื่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป จึงทำให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ดังนั้นทาง Agri-wallet จึงมีข้อตกลงกับเกษตรกรผู้ใช้งาน ว่าจะมีการหักรายได้หลังการขายบางส่วนเก็บไว้สำหรับใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรจากผู้จัดจำหน่ายในระบบเท่านั้น ทั้งนี้หากมองในระดับประเทศการที่เกษตรกรมีเงินสำหรับปลูกผลผลิตในรอบถัดไปได้อย่างแน่นอนจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ให้แก่ประชากรในประเทศด้วยและยังเป็นหนทางหนึ่งที่จะการันตีว่าเกษตรกรจะยังคงมีรายได้และลดส่วนที่เป็นหนี้ลงได้ ซึ่งช่วยส่งเสริมเป้าหมาย ‘#SDG1 – เป้าประสงค์ 1.4 สร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่ประสบปัญหาความเปราะบางและความยากจนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ และบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม’ ให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
  3. การกู้ยืมเงินของเกษตรกรผู้ขายผลผลิตผ่านระบบของ Agri-wallet ที่อยู่ในรูปของโทเค็นมากกว่าสกุลเงินที่อาจมีความผันผวน ทำให้ผู้ให้กู้เต็มใจที่จะให้เงินกู้แก่เกษตรกรได้ง่ายขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาหนี้นอกระบบ และยังช่วยกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ เพื่อการซื้อขายเฉพาะธุรกิจการเกษตรเท่านั้น ทำให้สามารถลดการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นของผู้ขายผลผลิตได้

จากประโยชน์ที่กล่าวมา การทำธุรกรรมทั้งหมดบน Agri-wallet สามารถถูกตรวจสอบโดยผู้ซื้อ ผู้ชาย หรือผู้จัดจำหน่ายที่อยู่ภายในระบบ ก่อให้เกิดความโป่รงใส (Transparency) และชัดเจนต่อทุกฝ่าย รวมถึงสามารถติดตาม (Tracking) ได้ว่าเงินถูกโอนไปที่ใด สินค้าถูกส่งไปที่ใดแล้ว การใช้เงินของเกษตรกรใช้ไปกับการเกษตรจริงหรือไม่ เป็นต้น

AgriDigital (ออสเตรเลีย) แพล็ตฟอร์มที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก

ความซับซ้อนของวิธีการทำงานของห่วงโซ่อุปทานแบบเดิม ทำให้ยากสำหรับเกษตรกรที่จะมีข้อมูลของทางการเงินจากการขายสินค้า ในมือได้ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรในออสเตรเลียที่ประกอบอาชีพนี้สืบทอดรุ่นต่อรุ่นและสืบต่อวิธีการทำงานมาด้วย จากบทสัมภาษณ์ Emma Weston ผู้ก่อตั้ง AgriDigital กล่าวถึงเป้าหมายของแพล็ตฟอร์มนี้ เพื่อ ‘แก้ปัญหาด้านปัญหาโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน’ เช่น ความปลอดภัยด้านธุรกรรม ความปลอดภัยในการชำระเงิน การกระจายตัวของข้อมูล เพราะอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรอย่างหนึ่งมาจากความล่าช้าและไม่ครบถ้วนของข้อมูลจากเกษตรกรที่ยื่นให้ผู้กู้พิจารณา

รูปภาพที่ 2 : Benefit ที่ Agri-Digital นำเสนอให้แก่ลูกค้า
ภาพจาก : agridigital.io

จึงนำมาสู่การจัดตั้ง AgriDigital เพื่อทำให้การเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรทั่วโลกง่ายขึ้น และมุ่งมั่นจะเป็นศูนย์กลางของข้อมูลการเดินทางของผลผลิตและการทำธุรกรรมทุกชนิดที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การจัดการคลังระบบสินค้า การติดต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย การออกใบแจ้งหนี้ การชำระเงิน ทั้งหมดบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์

การดำเนินธุรกิจของ AgriDigital คล้ายคลึงกับ Agri-Wallet แต่ไม่ได้เน้นด้านการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นหลัก แต่จะเน้นในเรื่องของการเพิ่มความสามารถในการติดตาม (Traceability) สินค้าตั้งแต่ออกจากฟาร์มไปจนถึงผู้ขาย ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ทำให้ผู้ใช้ AgriDigital มีข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งและสถานะของสินค้าที่เคลื่อนผ่านห่วงโซ่อุปทานในทันที และเมื่อสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและการเข้าออกของเงิน ทำให้เวิร์กโฟลว์ของการซื้อขายเป็นไปอย่างมีระบบ ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนของการทำรายงานเอกสารที่มีจำนวนมาก และลดโอกาสในการฉ้อโกงลง

AgriDigital ยังให้ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ทางธุรกิจที่มาจากประสบการณ์ของเกษตรกร ซึ่งจะหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเห็นถึงแนวโน้มของธุรกิจ พืชผลที่ควรปลูกเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น รวมไปถึงการให้บริการสื่อสารทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอย่างง่ายดายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

จากการยกตัวอย่าง ทั้ง Agri-Wallet และ AgriDigital ทำให้เห็นถึงความสามารถของ Blockchain ที่ไม่เพียงจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ยังช่วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความสามารถของ Blockchain ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนการลดความรุนแรงของ Climate Change ในอนาคตได้มากขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Nori (สหรัฐอเมริกา) แพล็ตฟอร์มส่งเสริมความยั่งยืนและเกษตรคาร์บอนต่ำ

รูปภาพที่ 3 : กระบวนการทำงานของตลาด Nori
ภาพจาก : Medium.com

ในสหรัฐอเมริกา บริษัท Nori ดำเนินการธุรกิจให้บริการในตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Marketplace) โดยเป็นตัวกลางระหว่างผู้ขาย (เกษตรกร) กับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต โดยผู้ขายดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ด้วยการใช้วิธีการเพาะปลูกแบบไม่ไถพรวนดิน เป็นต้น แล้วนำผลกิจกรรมรายงานไปยัง Nori หลังจากนั้นทางบริษัทจะประมวลผลและส่งเป็นใบรับรอง (Certificate) กลับไปสู่ผู้ขายถึงปริมาณเครดิตที่ลดไป จากนั้นผู้ขายสามารถนำใบรับรองนี้ไปขายในตลาดให้แก่ผู้ซื้อต้องการคาร์บอนเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีกิจกรรมทางการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงเพื่อเป็นการชดเชยปริมาณคาร์บอน (ดูรูปภาพที่ 3 ประกอบ)

โดย Nori ได้นำระบบ Blockchain เข้ามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง ‘การนับซ้ำ’ ในตลาดคาร์บอนเครดิตปัญหา สรุปโดยง่าย คือ เมื่อผู้ขายขายใบรับรองให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะถูกนับเป็น 2 บุคคลผู้ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามปริมาณที่ซื้อขายกัน ซึ่งถือว่าเป็นการนับจำนวนซ้ำ และปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อผู้ซื้อกลับนำเครดิตนี้ไปขายต่อให้รายอื่น ๆ (Resell) จนทำให้ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ช่วยลดได้ในแต่ละปีที่มักจะปรากฏในรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานของ Forest Trend มักจะมีค่าสูงกว่าความเป็นจริง

ดังนั้น ระบบ Blockchain จะช่วยให้มีการติดตามใบรับรองดังกล่าวว่า ณ ปัจจุบันผู้ใดเป็นผู้ถือใบรับรองทำให้ช่วยลดปัญหาการนับซ้ำและยังช่วยสนับสนุน ‘#SDG13 – เป้าประสงค์ 13.2 ในด้านความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศด้วย’ ให้เห็นเป็นรูปธรรมและมีความน่าเชื่อถือด้านข้อมูลมากขึ้น

หากระบบ Blockchain สามารถบังคับใช้ได้ในตลาดที่เกี่ยวข้องกับตลาดคาร์บอนเครดิตในหลาย ๆ ประเทศ จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถเข้าใกล้ความสำเร็จได้มากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ SDG 13 แต่ยังหมายถึง ‘#SDG8 – เป้าประสงค์ 8.4 เรื่องของการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และการทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม’ เพราะผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตจำเป็นต้องคิดหาแนวทางการใช้ทรัพยากรที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมเพราะในอนาคตราคาของใบรับรองจะมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากเมื่อขายต่อแล้วผู้ที่เคยถือใบรับรองจะไม่ถูกนับเป็นผู้ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์อีกต่อไป รวมถึงยังช่วยส่งเสริมผู้ที่ทำการเกษตรแบบลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้หันมาสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเป้าหมาย ‘#SDG2 – เป้าประสงค์ 2.4 การมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน’ ให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

สรุปความสามารถของ BlockChain และแนวโน้มในประเทศไทย

จากการยก Case Study 3 ตัวอย่าง การขับเคลื่อน Blockchain ของเอกชนในภาคการเกษตรถูกประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ช่วยเป็นตัวกลางให้บริการทางการเงิน (Financial Service)ที่โปร่งใสให้แก่เกษตรกร การอำนวยความสะดวกเพื่อการติดตามสินค้า (Traceability) ในห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์หนึ่งที่เหมือนกันคือความโปร่งใสและข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของ Blockchain ที่ทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้กันอย่างมากมาย และความสามารถนี้ยังช่วยส่งเสริมเป้าหมาย ‘#SDG16 – เป้าประสงค์ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถในการเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน’ ให้เข้าใกล้ความจริง

Blockchain ไม่เป็นเพียงเรื่องระดับประเทศแต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นระดับโลก จะได้เห็นได้จากหลายองค์การระหว่างประเทศระดับโลก เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) สหภาพยุโรป (European Union) ได้ออกรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ในการประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย การนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยการใช้งาน โดยทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้เริ่มต้นโครงการพัฒนา Blockchain เพื่อส่งเสริมการค้าขายทางเศรษฐกิจ โดยมีผู้ให้คำปรึกษาคือสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาตรารับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ (Organic Certification) และ พัฒนาระบบในการติดตามแหล่งที่มาและขั้นตอนกระบวนการผลิตของสินค้า เช่น ข้าวอินทรีย์

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายปัจจัยในการที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะในประเด็นด้านความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ความพร้อมด้านเงินทุนของเกษตรกรเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือด้านความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ รวมถึงยังต้องมีการปรึกษาหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในระบบห่วงโซ่ภาคการเกษตรเพื่อถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสีย แนวทางการนำมาใช้อย่างครบถ้วนต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
1.4 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่กลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น มรดกทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับ
ฐานราก (microfinance) ภายในปี 2573
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
2.3 เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาการรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิงคนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกพื้นที่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อย่างปลอดภัยและเท่าเทียมภายในปี 2573
2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง
ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิ
8.4 พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปีของแผนการทำงานเพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการ ไปจนถึงปี 2573
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 สังคมสงบสุขและยุติธรรม สถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม
16.10 การสร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

หากสนใจรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ
1.การนำ Blockchain มาจะช่วยแก้ปัญหาด้าน Climate Change ในภาคการเกษตรได้อย่างไร (United Nation)
Applying blockchain for climate action in agriculture: state of play and outlook
2.การใช้ระบบ Blockchain สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีโอกาสและความท้าทายอย่างไร (United Nations Conference on Trade and Development)
Issues Paper on Harnessing blockchain for sustainable development : prospects and challenges
3.การสำรวจแนวทาง Blockchain สำหรับธนกิจเกษตร (Agricultural Finance) (World Bank)
Exploring Blockchain Applications to Agricultural Finance

หากสนใจกรณีของ Agri-wallet ของประเทศเคนยาอ่านต่อได้ที่ :
Understanding ag fintechs’ business models
หากสนใจโครงการ Blockchain ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า อ่านต่อได้ที่ :
Executive Summary Developing Blockchain Application to Enhance Trade and Economy Project

เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร


ที่มาของข้อมูล :
นวัตกรรมการเกษตร : ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1 (Bank of Thailand)
นวัตกรรมการเกษตร : ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 2 (Bank of Thailand)
รวม 20 ภาคธุรกิจกับการนำ Blockchain มาใช้พร้อมกรณีศึกษา (TechSauce)
Understanding ag fintechs’ business models (The Rural and Agricultural Finance Learning Lab)
Developing Blockchain Application to Enhance Trade and Economy Project
(สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า)
AGRI START-UP TRANSFORMS SUPPLY CHAIN (National Australia Bank
)
How to save the planet and make climate change “just go away” using blockchain and cryptocurrency (Medium.com)
AgriDigital launches global Waypath platform for grain farmers(GrainCentral.com)

Last Updated on สิงหาคม 1, 2021

Author

  • Itthiporn Teepala

    Knowledge Communication [Intern] สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรวดเร็ว มีผลกระทบต่อความยั่งยืนหรือมั่นคงในด้านต่าง ๆ อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น