จีนทำอย่างไรให้ปลอดจากโรคมาลาเรียได้สำเร็จจนได้ใบรับรองยุติโรคมาลาเรียจาก WHO

ประเทศจีนใช้ความพยายามร่วม 70 ปีจากที่มีจำนวนการติดเชื้อโรคมาลาเรีย 30 ล้านรายต่อปีตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 จนปลอดจากโรคมาลาเรียในวันนี้ โดยได้รับใบรับรองยุติโรคมาลาเรีย (Certification Malaria Elimination) อย่างเป็นทางการเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมาจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

โดยปัจจุบันนี้ มี 40 ประเทศและเขตแดนทั่วโลกที่ได้รับใบรับรองยุติโรคมาลาเรียจาก WHO โดยประเทศล่าสุดมี เอลซัลวาดอร์ (2021) แอลจีเรีย (2019) อาร์เจนตินา (2019) ปารากวัย (2018) และอุซเบกิสถาน (2018) ส่วนประเทศจีนนั้น ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกที่ได้รับใบรับรองยุติโรคมาลาเรียในช่วงระยะ 30 ปีมานี้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ได้สถานะนั้นแล้วมีอาทิ ออสเตรเลีย (1981) สิงคโปร์ (1982) และบรูไนดารุสซาลาม (1987)

สำหรับจีน เส้นทางสู่ความสำเร็จได้เริ่มต้นขึ้นจากความพยายามตั้งแต่เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่หน่วยงานด้านสุขภาพในจีนชี้จุดและหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยใช้ยาต้านมาลาเรีย (antimalarial medicines) ทั้งสำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคและกลุ่มผู้ป่วย และยังมีความพยายามลดพื้นที่ที่เกิดการเพาะจำนวนยุงซึ่งเป็นพาหะ มีการใช้สเปรย์ยาฆ่าแมลงในบ้านและบางพื้นที่

ต่อมาในปี 1967 รัฐบาลจีนออกโครงการชื่อ 523 ซึ่งเป็นโครงการวิจัยทั่วประเทศเพื่อเสาะหาวิธีการรักษาโรคมาลาเรีย โดยมีนักวิทยาศาสตร์ 500 รายจาก 60 สถาบันที่เข้าร่วมอันนำไปสู่การค้นพบอาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) ในคริสต์ทศวรรษ 1970 ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของยาอาร์ติมิซินินร่วมกับยาต้านมาลาเรียอื่น (Artemisinin-based Combination Therapies – ACTs) ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่มีใช้จนถึงปัจจุบัน

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 จีนเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่ทดสอบการใช้มุ้งที่เคลือบสารป้องกันยุง (Insecticide-Treated Nets – ITNs) ก่อนที่ WHO จะแนะนำให้ใช้ควบคุมโรคมาลาเรีย พอมาถึงปี 1988 ก็ได้มีการใช้มุ้งกันยุงที่มากกว่า 2.4 ล้านชิ้นทั่วประเทศ ซึ่งสามารถช่วยลดจำนวนโรคมาลาเรียลงได้ในพื้นที่ที่ใช้ ทำให้เมื่อถึงปลายปี 1990 จำนวนเคสผู้ป่วยลดน้อยลงไปที่ 117,000 คน และการเสียชีวิตลดลง 95%

ประจวบกับที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนระดับโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ที่เริ่มเมื่อ 2003 ทำให้จีนมีการอบรม มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้เฉพาะทาง มีเครื่องมือในห้องทดลอง มียารักษา มีมาตรการควบคุม มีความพยายามลดจำนวนผู้ป่วยลง ทำให้ภายในระยะ 10 ปี จำนวนเคสผู้ป่วยลดลง 5,000 เคสในทุกปี

โดยปี 2020 ถือเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่จีนปราศจากโรคมาลาเรีย จึงได้ยื่นขอใบรับรองยุติโรคมาลาเรียอย่างเป็นทางการจาก WHO และเจ้าหน้าที่ WHO ได้ให้การรับรองสถานะดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ความสำเร็จของจีนนั้นมาจากความพยายามใน 3 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้

  1. การให้บริการด้านสาธารณสุขที่ประชาชนเข้าถึงการตรวจโรคและรักษาโรคที่มีราคาไม่แพง (Affordable) โดยไม่จำกัดการเข้าถึงจากเหตุความแตกต่างของสถานะทางกฎหมายหรือสถานะทางการเงิน
  2. ความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่แข็งขันและมีประสิทธิภาพ อาทิ จากหน่วยงานด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน การวิจัยและวิทยาศาสตร์ การพัฒนา ตำรวจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว
  3. การใช้ ‘กลยุทธ์ 1-3-7’ ที่หมายถึง มีการรายงานผลการตรวจวินิจฉัยโรคภายใน 1 วัน โดยภายในวันที่ 3 เจ้าหน้าที่จะต้องยืนยันว่ามีการติดเชื้อและมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อหรือไม่ และภายใน 7 วัน จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่อไป โดยที่จีนเองจะมีการสอดส่องในพื้นที่เสี่ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดซ้ำด้วย

ทั้งนี้ นอกจากเราจะสามารถเรียนรู้จากความพยายามจัดการและวิธีการยุติการแพร่ระบาดของโรคจากจีนได้ ทางผู้อำนวยการ WHO ยังได้ยกให้จีนเป็นหนึ่งตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้นานาประเทศเห็นว่า เป้าหมายสู่การยุติโรคมาลาเรียลงจนเป็นศูนย์นั้นเป็นไปได้ ถึงกระนั้น ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วยังจะต้องจับตาดูและดำเนินการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ เช่นที่ในกรณีของจีนยังต้องเฝ้าระวังในบางจังหวัดและบางพื้นที่ชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว เมียนมา และเวียดนาม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อซึ่งรวมถึงโรคมาลาเรีย ภายในปี 2573
-(3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
-(3.b) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคที่ติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา
-(3.c) ส่งเสริมการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ การสรรหา การพัฒนา และการฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการจัดให้มีหลักประกันด้านสุขภาพสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
From 30 million cases to zero: China is certified malaria-free by WHO (WHO)

Last Updated on สิงหาคม 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น