Site icon SDG Move

Director’s Note: 10: มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สวัสดีวันอังคารครับ

รอบนี้ Director’s Note มาช้าเล็กน้อยหลังจากหายไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ ครั้งนี้เราจะกลับสู่รูปแบบเดิม โดยช่วงแรกผมจะสรุปสิ่งที่ทาง SDG Move ได้ดำเนินการหรือมีส่วนร่วม แล้วจึงกล่าวถึงบางประเด็นที่อยากเล่าสู่กันฟังครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ถ้าพูดโดยสรุปส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสื่อสารเรื่อง SDGs และบทบาทของสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งเราไปร่วมพูดคุยหรือเป็นผู้จัดเองในงานต่อไปนี้

มหาวิทยาลัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นหนึ่งที่อยากหยิบมาเล่าสู่กันฟังวันนี้คือ มหาวิทยาลัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่ว่งปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยตื่นตัวกับเรื่อง SDGs มากเพราะการจัดอันดับ Times Higher Education University Impact Ranking ที่ใช้ SDGs มาเป็นกรอบการดำเนินงานหลัก ทำให้หลายมหาวิทยาลัยก็ประสานงานมาทาง SDG Move เพื่อขอคำแนะนำและจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ

แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดี ในการผลักให้เรื่อง Impact Ranking นี้เป็นมากกว่าการเล่นเกมจัดอันดับและนำไปสู่การพลิกโฉม (Transform / Reinventing) มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

สถาบันการศึกษานำ SDGs และหลักการที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้ได้ใน 4 เรื่องด้วยกัน 

  1. ด้านการวิจัย – ประเด็นภายใต้ SDGs มีความเกี่ยวโยงกับโจทย์วิจัยของอาจารย์ในคณะส่วนใหญ่ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าจะ transform ให้เป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ SDGs การวิจัยน่าจะต้องขยับจากงานวิชาการที่มุ่งขยายพรมแดนทางวิชาการอย่างเดียว ไปเป็นการเพิ่มประโยชน์เพื่อการขับเคลื่อน SDGs หรือแก้ปัญหาความยั่งยืนต่าง ๆ ด้วย ถ้าจะ transform ไปให้สุดควรจะไปถึงการใช้แนวทางวิจัยที่เรียกว่า Transdisciplinary Approach ให้ได้ ซึ่งก็คือการ co-produce หรือผลิตร่วมกันของความรู้ ทั้งจากนักวิชาการหลากหลายศาสตร์ และผู้ใช้ความรู้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อขยายพรมแดนทางวิชาการและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย
  2. ด้านการศึกษา – วิชาของหลายคณะก็คงเชื่อมโยงกับประเด็นภายใต้ SDGs ซึ่งการนำวิชาในหลักสูตรมาเชื่อมโยงกับ SDGs เป็นวิธีการง่าย ๆ ในการบอกว่าเราทำเรื่อง SDGs แล้ว แต่ถ้าจะให้พลิกโฉมอย่างแท้จริง เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ควรสอดแทรกประเด็นวิกฤติของโลกหรือประเทศเอาไว้บ้าง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือกระทั่งประเด็นการจัดการของเสีย เป็นต้น และถ้าพลิกโฉมให้ถึงที่สุด วิชาต่าง ๆ ควรสอดแทรกทักษะในการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Competencies in Sustainable Development) ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนออกไปร่วมเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนได้ เอาไว้ด้วย
  3. ด้านการบริหารจัดการภายใน – หลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยและวิทยาเขตต่าง ๆ แต่การจะขยับไปสู่การ transformation ไปสู่ SDGs จะต้องคำนึงถึงมิติสวัสดิการสังคมของคนเปราะบางในมหาวิทยาลัย และสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศสภาวะ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองด้วย โดยให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
  4. ด้านการมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนของสังคม – มหาวิทยาลัยไม่สามารถอยู่ในโลกของตนเองได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะต้องมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยก็มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนท้องถิ่นหรือแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ แต่ถ้าจะขยับไปสู่การ transformation มหาวิทยาลัยควรเป็นมากกว่า “ส่วนราชการ” ที่ทำตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ แต่ต้องทำหน้าที่เป็น “ปัญญาของสังคม” การร่วมขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และดีด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็น “สติปัญญา”ให้กับการขับเคลื่อนเหล่านั้นด้วย และมีความจริยธรรมทางวิชาการที่จะวิพากษ์ตามหลักการทางวิชาการหากพบว่าสิ่งที่รัฐดำเนินการอยู่ไม่ถูกต้อง

หากมหาวิทยาลัยทุกแห่ง คณะทุกคณะ อาจารย์ทุกคน ลองศึกษาว่า เป้าหมายปลายทางของ SDGs คืออะไร และโดยบทบาทหน้าที่ และศักยภาพของเราสามารถร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างไรได้บ้าง และเริ่มดำเนินการเลยโดยสื่อสารกันให้ทราบเพื่อการเชื่อมประสานและเสริมพลังกัน มหาวิทยาลัยในฐานะกองกำลังหลักของภาควิชาการจะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับได้แน่นอน

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version