เครือข่าย Partners for Review และ Danish Institute for Human Rights (DIHR) ร่วมกับ International Civil Society Centre เผยแพร่รายงานซึ่งรวมบทเรียนที่ได้รับและข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านข้อมูล SDGs ที่ครอบคลุม ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Events) ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ HLPF ประจำปี 2021 ที่ผ่านมา
รายงาน ‘Lessons learned report: Advancing inclusive SDG data partnerships‘ เปิดตัวในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Events) รวบรวมข้อค้นพบสำคัญและบทเรียนจาก ‘Inclusive SDG Data Partnerships initiative‘ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ตุลาคม 2020 – มีนาคม 2021 ซึ่งโครงการริ่เริ่มดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศข้อมูลที่มีผู้มีเล่นหลายคน (multi-actor) ในระดับชาติ และพัฒนาความร่วมมือด้านข้อมูลสำหรับ SDGs
ผู้จัดทำรายงานได้ให้ข้อมูลว่าการติดตามข้อมูลและการรายงานสถานะการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ในระดับชาติยังอาศัยแหล่งข้อมูลที่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้องค์ประกอบหลายประการ “ไม่ชัดเจน” จึงควรรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้ามาในระบบนิเวศของข้อมูล รวมแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมและสถาบันด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เข้าใจบริบทในท้องถิ่นได้ดีขึ้นและให้สามารถระบุสาเหตุที่ฝังรากลึกของการทำให้คนบางกลุ่มกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ นอกจากนี้ยังช่วยสะท้อนและติดตามข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ในกลยุทธ์การขับเคลื่อน SDGs ในระดับชาติต่อไปด้วย
รายงานเสนอว่า หากต้องการให้หุ้นส่วนความร่วมมือด้านข้อมูล SDGs มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะต้องมีการ ‘ยกระดับและขยายฐานทรัพยากรและโครงการต่างๆ ที่มีอยู่’ ‘ให้ผู้เล่นหลักมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น’ ‘ตั้งเป้าหมายร่วมและกำหนดผลลัพธ์ที่ชัดเจน’ ‘เห็นพ้องกับบทบาทที่ตรงกับความสนใจและความสามารถของผู้เล่น’ ‘แลกเปลี่ยนองค์ความรู้’ และ ‘ใช้ภาษาแม่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้หลายภาษา’
รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อเสนอแนะเพื่ออำนวยความสะดวกการทำงานของหุ้นส่วนความร่วมมือด้านข้อมูล SDGs ได้แก่
- ลดความซับซ้อนลง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้
- มีแนวทางสำหรับการดำเนินงาน แต่ยังคงมีความยืดหยุ่นเพื่อปรับให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มได้
- จัดให้มีพื้นที่ให้สมาชิกในกลุ่มได้อภิปรายอย่างเปิดเผยและรับฟังซึ่งกันและกัน
- ให้การสนับสนุนเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา และ
- มีการประชุมทั้งออนไลน์และพบหน้าตัวต่อตัว
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยว #SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน - (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563