ขีดความสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) สัมพันธ์กับแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) โดยตามการอธิบายอภิธานศัพท์ใน รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 13 (2560) ระบุเอาไว้ว่า
- ขีดความสามารถในการปรับตัว หมายถึง ระดับความสามารถของระบบ/สถาบันในการปรับตัว เพื่อรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความแปรปรวนจากสภาพอากาศที่รุนแรง ความเสี่ยงและผลกระทบ โดยเป็นความพยายาม ‘ลดทอนความเสียหาย’ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้ข่าวสาร เทคโนโลยี ประสบการณ์ของคน/สังคม ทุน เครื่อข่าย ฯลฯ
- การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง แผน กระบวนการ และพฤติกรรมที่เป็นการปรับตัว/การปรับเปลี่ยน ทั้งในระบบของมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อตอบสนองต่อและ ‘ลดความเสี่ยง’ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ อันหมายรวมถึง การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Disaster Risk Reduction)
เมื่อจับทั้งสองคำมาผนวกต่อกัน ขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงหมายถึง ‘การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว/ปรับเปลี่ยน ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก/คาร์บอน และขีดความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน/ลดผลกระทบและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ และนโยบายที่จะลดความล่อแหลม (exposure) และลดความเปราะบาง (vulnerability) ต่อปัญหาและผลกระทบของ #SDG13 ลง โดยเพิ่มศักยภาพในการรับมือต่อเหตุให้มากขึ้น
หากสำรวจตัวชี้วัดทั้ง 3 ตัวภายใต้เป้าประสงค์นี้จะพบว่า มีการประเมินใน 3 ส่วนที่ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นเพื่อตอบคำถามย้อนกลับไปว่า ระบบ/สถาบัน/แผน/กระบวนการนั้น ๆ มี ‘ขีดความสามารถในการปรับตัว’ แล้วหรือยัง ดังนี้
- จํานวนผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยพิบัติต่อประชากร 100,000 คน
- จํานวนประเทศที่มีและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับชาติ ที่สอดคล้องกับกรอบปฏิญญาเซนไดเรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558 – 2573
- สัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับชาติ
สำหรับไทยเอง ในการดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวนั้น ดำเนินการโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยที่มีแผนการปองกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มีการให้ความสำคัญกับกรอบปฏิญญาเซนไดฯ มีความพยายามบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management) มีการมุ่งเน้นการลดความเสี่ยง และการเก็บข้อมูลฐาน (baseline) รายเดือนและรายปี กับภัยพิบัติ 4 ประเภท (อุทกภัย ภัยแล้ง อัคคีภัย วาตภัย) ส่วนภัยพิบัติอีก 3 ประเภทอื่น (แผ่นดินไหว ไฟป่าและหมอกควัน ดินถล่ม) เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเฉพาะทางดูแล
ทั้งนี้ ข้อจำกัดด้านข้อมูลที่สำคัญเป็นเรื่องของการที่ไม่สามารถจำแนกสาเหตุของการเกิดภัยพิบัตินั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน ส่วนข้อจำกัดในเรื่องการบริหารจัดการยังมีประเด็นเรื่องการมียุทธศาสตร์จัดการภัยพิบัติและความเสี่ยงโดยชุมชนท้องถิ่นที่เข้าใจบริบทท้องถิ่นได้ดีกว่า
‘ขีดความสามารถในการปรับตัว’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG13 – (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ’
Target: 13.1 Strengthen resilience and adaptive capacity to climate-related hazards and natural disasters in all countries
นอกจากนี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏอยู่ใน #SDG13 – (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
Target: 13.3 Improve education, awareness-raising and human and institutional capacity on climate change mitigation, adaptation, impact reduction and early warning
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 13 (2560)
Last Updated on มกราคม 4, 2022