Site icon SDG Move

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก

รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าระบบอาหารดั้งเดิมของชนพื้นเมืองกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

รางาน ‘Indigenous Peoples’ food systems Insights on sustainability and resilience from the front line of climate change‘ ให้ภาพรวมขององค์ประกอบความยั่งยืนและความเป็นเอกลักษณ์ของระบบอาหารของชนพื้นเมือง ในแง่ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงตลาด ความหลากหลายของอาหาร ระบบบริหารจัดการของชนพื้นเมือง และการเชื่อมโยงไปยังความรู้ดั้งเดิมและภาษาพื้นเมือง

FAO ได้ระบุว่า ระบบอาหารของชนพื้นเมืองกว่า 476 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก เป็น “ระบบอาหารที่ยั่งยืนที่สุดในโลก” ในแง่ของประสิทธิภาพ เพราะมีความสามารถในการลดการเกิดของเสียและสามารถปรับรูปแบบให้เข้ากับฤดูกาลได้

วิธีการหาวัตถุดิบอาหารแบบดั้งเดิมอยู่บนพื้นฐานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษในท้องถิ่นและความรู้ความชำนาญที่สั่งสมมาผ่านแต่ละฤดูกาล แต่ละสภาพอากาศ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ความสามารถที่เคยมีใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่เหมือนในอดีต เพราะผลกระทบจากวิกฤตนี้ทำให้เกิดทั้งภัยแล้ง จำนวนสัตว์ป่าจำนวนพืชพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ปริมาณน้ำฝนและฤดูกาลที่เปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนเกิดคาดการณ์

นอกจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว รายงานยังระบุอีกว่า การเข้ามาของตลาดเริ่มทำให้ระบบอาหารในบางพื้นที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการสร้างรายได้จากเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นทำให้ชุมชนพื้นเมืองเปลี่ยนรูปแบบการหาอาหารจากแลกเปลี่ยนอาหาร การแบ่งปันอาหารกันในชุมชน เป็นการพึ่งพาอาหารแปรรูปที่ซื้อในตลาดท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งยังเปลี่ยนแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนมาเป็นการทำประมงเกินขนาดหรือการล่าสัตว์เพื่อเน้นขาย ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในอนาคต

การส่งเสริมการเรียนรู้ถึงความสำคัญของระบบอาหารของชนพื้นเมือง จะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในความจำเป็นเพื่อคุ้มครองระบบผลิตอาหารดั้งเดิมนี้ เพื่อที่จะได้นำภูมิปัญญานี้มาผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนสำหรับคนทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆและจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2573
#SDG12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
- (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2573 และ
- (12.3) ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
- (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกาลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสาคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
#SDG15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก
- (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

ที่มา : Climate change threatens age-old indigenous food systems, says UN (Thomson Reuters Foundation News)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version