คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจ ประชากรศาสตร์ รูปแบบของการทำงาน ตลอดจนวิกฤติที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งที่มีบทเรียนจากโควิด-19 ในปัจจุบัน และวิกฤติสุขภาพที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้กำหนด ‘กรอบยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน พ.ศ. 2564 – 2570’ (the EU Strategic Framework on Health and Safety at Work 2021-2027) เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมและมาตรการคุ้มครอง ให้ผู้ที่ทำงานในสหภาพยุโรปที่ราว 170 ล้านคนนั้น ปลอดภัยและมีสุขภาพดี เพราะแรงงานเป็นผู้ขับเคลื่อนและค้ำจุนเศรษฐกิจและสังคม
ไปพร้อมกับที่สถานที่ทำงานจะร่วมใจเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย ‘การตายในที่ทำงาน/ที่เกี่ยวกับการทำงานเป็นศูนย์’ (Vision Zero)
โดยกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้กำหนดความสำคัญอันดับต้นอยู่ 3 ประการ เพื่อเป็นแนวทางที่ครอบคลุมทั้งสถาบันของสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิก หุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้นำไปปฏิบัติ ดังนี้
- คาดการณ์และบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงในบริบทของการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรศาสตร์ ความเป็นดิจิทัล และความยั่งยืน (demographic, digital and green transitions)
- ป้องกันอุบัติเหตุและโรคภัยในที่ทำงาน/ที่เกี่ยวกับการทำงาน โดยมีเป้าหมายการตายในที่ทำงานหรือที่เกี่ยวกับการทำงานเป็นศูนย์ (Vision Zero)
- ขยายการเตรียมพร้อมรับมือในการตอบสนองต่อวิกฤติสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต
ซึ่งในรายละเอียดก็มีทั้งการทบทวนคำสั่งในที่ทำงาน อันรวมถึงกฎระเบียบเรื่องสารเคมีอันตรายในที่ทำงาน อาทิ สารตะกั่ว และแร่ใยหิน เพื่อจัดการกับปัญหาโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น ตลอดจนการวางแผนด้านการริเริ่มตระหนักถึงประเด็นสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยที่คำนึงถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพในอนาคตโดยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคสาธารณสุข
‘กฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพในที่ทำงานสำคัญมากต่อการปกป้องและคุ้มครองแรงงานราว 170 ล้านคน ซึ่งเป็นกลไกหล่อหลอมสังคมของชาวยุโรป ขณะเดียวกัน การงานในโลกปัจจุบันก็เปลี่ยนไปและขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรศาสตร์ ดิจิทัล และความยั่งยืน ขณะที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ จะช่วยลดต้นทุนของคน ธุรกิจ และสังคมในภาพรวม ดังนั้น การคงไว้และพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองแรงงานจึงยังคงเป็นความสำคัญอันดับต้น โดยจะต้องอาศัยกำลังของสหภาพยุโรปทั้งหมดที่จะทำให้ที่ทำงานของเราพร้อมรับกับอนาคต หรือ Fit for the Future’
รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Valdis Dombrovskis
ทั้งนี้ การจะทำให้กรอบนี้สำเร็จได้ ก็ขึ้นอยู่กับการลงมือทำของสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และกิจการ/ผู้ประกอบการ โดยที่มีการบังคับใช้กรอบดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการหารือทางสังคม มีการสนับสนุนด้านงบประมาณ มีการสร้างการตระหนักรู้ และสุดท้าย การเก็บข้อมูล
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน
แหล่งที่มา:
‘Fit for the future’: EU releases strategy for improving workplace safety and health (safety+health)
EU Strategic Framework on Health and Safety at Work 2021-2027 (EU-OSHA)