โลกให้ความสนใจกับระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดินน้อยเกินไป เพราะมีแม่น้ำตามธรรมชาติเพียง 17% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง

ขณะที่โลกให้ความสนใจกับการปกป้องระบบนิเวศบนบก (terrestrial ecosystem) และระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) ระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดิน (inland freshwater ecosystem) กลับไม่เป็นที่พูดถึงนัก โดยมีแม่น้ำตามธรรมชาติ (free-flowing rivers) 17% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีเงินทุนสนับสนุนการอนุรักษ์ด้านนี้ และยังไม่มีกรอบระดับโลกที่เน้นการปกป้องแม่น้ำเป็นการเฉพาะ

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำซึ่งมีผู้แทนจาก อาทิ ภาควิชาการ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) Conservation International และ The Nature Conservancy จึงร่วมกันจัดทำเอกสารที่รวบรวมการศึกษา 16 ชิ้น เรียกร้องให้ผู้จัดทำนโยบายนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือแนวทางจากการวิจัยเหล่านี้ไปผนวกรวมเข้ากับแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นการบูรณาการการอนุรักษ์ที่ดินและน้ำได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำ (river basin)

โดยเฉพาะว่าความเคลื่อนไหวในโลกเองได้พยายามจะริเริ่มเป้าหมายการอนุรักษ์ใหม่ในที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (UN Convention on Biological Diversity) ซึ่งจะจัดขึ้นภายในปีนี้

เอกสารที่รวบรวมมานั้น ถือได้ว่าเป็นการยกตัวอย่างการปกป้องแม่น้ำตามธรรมชาติที่มาจากการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กฎหมาย หรือกลไกเชิงนโยบายที่หลากหลาย นำไปประยุกต์ใช้และลงมือทำในพื้นที่จริง โดยมีทั้งข้อมูลการประเมินระดับโลก กรณีศึกษาในท้องถิ่น และข้อถกเถียงของนิยามการปกป้องแม่น้ำให้คงทน (durable river protection) เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะการที่ไม่มีการปกป้องหรือคุ้มครองระบบนิเวศน้ำจืดและสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าประชากรสปีชีส์เหล่านั้นมีลดน้อยลง 84% จากค่าเฉลี่ยเมื่อปี 1970 ไปพร้อมกับความ

เสื่อมโทรมของแม่น้ำ โดยยังเผชิญกับความเสี่ยงและภัยคุกคามที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ การก่อสร้างเขื่อน การจับปลาที่มากเกินไป หรือการก่อมลพิษ ในอีกแง่หนึ่ง ความเสื่อมโทรมของแม่น้ำยังเป็นภาพแสดงว่ามนุษย์ได้สูญเสียแหล่งอาหารสำคัญหรือแหล่งความมั่นคงทางอาหาร

ดังนั้น โลกจะต้องพึ่งพาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามเอกสารที่รวบรวมมานี้พยายามระบุชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของแม่น้ำตามธรรมชาติที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษย์ โดยจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ที่มีต่อการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) และความสำคัญของแม่น้ำในฐานะที่เป็นด่านหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและห่วงโซ่อุปทานอาหาร ตลอดจนบทบาทสำคัญต่อการให้บริการระบบนิเวศ (ecosystem services) ที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ทั้งในแง่การมีน้ำดื่มสะอาด เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสำหรับคนหลักหลายพันล้านคนทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาลที่ดี
-(6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563

ทั้งนี้ แม่น้ำตามธรรมชาติยังมีคุณค่าด้านความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรม (#SDG2)

แหล่งที่มา:
Only 17 percent of free-flowing rivers are protected, new research shows (Northern Arizona University)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น