งานวิจัยด้านพัฒนาการเด็กแต่เดิมตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน อธิบาย ‘ช่องว่างของคำศัพท์’ (word gap) ระหว่างเด็กเล็กว่าเป็นผลมาจากความบกพร่องในการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง อย่างไรก็ดี การศึกษา What causes the word gap? Financial concerns may systematically suppress child-directed speech โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียชิ้นล่าสุดนี้ พยายามทดลองเพื่อหาหลักฐานมาอธิบายว่าแท้จริงแล้ว ช่องว่างของคำศัพท์เป็นผลมาจาก ‘ช่องว่างของความมั่นคั่ง’ (wealth gap) อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างครอบครัวที่มีรายได้น้อยและครอบครัวที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลสำคัญต่อทักษะการเรียนรู้หรือทักษะการพูด ตลอดจนแนวโน้มบั้นปลายความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น
ช่องว่างของคำศัพท์ เป็นคำที่เริ่มใช้เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 โดยการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคนซัส ที่ติดตามปฏิสัมพันธ์ผ่านทางคำพูดระหว่างผู้ปกครองและเด็กเล็กในช่วง 3 ปีแรกในครอบครัว 42 ครอบครัว โดยนักวิจัยจะบันทึกบทสนทนาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน และนำไปนับจำนวนคำที่เด็กได้ยินในช่วงเวลาเหล่านั้น ทั้งนี้ วิธีการและผลจากการศึกษาดังกล่าวเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ สำหรับการศึกษาด้านพัฒนาการเด็กเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การศึกษาล่าสุดที่กำลังพูดถึงนี้ เป็นการต่อยอดเพื่อเสาะหาสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ส่งผลให้เด็กที่มาจากต่างครอบครัวกันมีคลังคำศัพท์ที่ไม่เท่ากันหรือแตกต่างที่หลักสิบล้านคำ โดยได้ศึกษาผ่านการทดลอง 2 ส่วน
การทดลองแรกเป็นการสังเกตปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กอายุ 3 ปี โดยจะขอให้พ่อแม่อธิบายถึงประสบการณ์ ‘ความยากลำบาก/แร้นแค้น’ ล่าสุดที่เผชิญมา ผลจากการทดลองนี้พบว่า พ่อแม่ที่ประสบกับความยากไร้ทางการเงินจะไม่ค่อยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ให้ลูกฟัง หรือเล่าให้ฟังน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินหรือการเข้าถึงทรัพยากร
ต่อมาทางทีมผู้ศึกษาจะวัดความแตกต่างของเด็กในการรับรู้คำศัพท์ ด้วยการทดลองที่สองที่ใช้อุปกรณ์ ‘talk pedometer’ ติดตัวเด็กไว้ให้บันทึกบทสนทนาและนับจำนวนคำที่พวกเขาได้ยินหรือพูดออกมาตามช่วงเวลาต่าง ๆ ของเดือนเพื่อเก็บข้อมูลและศึกษารูปแบบ
จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการทดลองที่สอง พบว่า พ่อแม่มีส่วนร่วมหรือมีบทสนทนากับลูกน้อยลงเมื่อใกล้ ๆ จะสิ้นเดือนซึ่งเป็นช่วงที่จะรับเงินเดือนหรือรายได้จากช่องทางอื่น โดยที่การมีหรือไม่มีรายได้นั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าความคับขันทางการเงินของครอบครัวเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อการพูดคุยกับลูกหรือจำนวนคำศัพท์ที่ลูกจะได้ยินและเรียนรู้
ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ชี้ว่าโครงสร้าง บริบท และสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ (Socioeconomic Status – SES) ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ปกครอง แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กด้วย และสาเหตุที่นำไปสู่ความแตกต่างเรื่องพัฒนาการเรียนรู้หรือการรับรู้คำศัพท์นั้น ไม่ได้มีสาเหตุจากความบกพร่องของผู้ปกครอง หรือ ‘ปัจเจกบุคคล’ เท่านั้น
กล่าวได้ว่า การศึกษาชิ้นนี้ได้ชี้แนะว่าการฝึกอบรมการเป็นผู้ปกครองที่ดีหรือการแก้ปัญหาที่ปัจเจกบุคคล อาจจะไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างทางการศึกษา แต่จะต้องหันมาจัดการกับประเด็นที่กว้างกว่าอย่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยที่รัฐควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน หรือให้พ่อแม่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในฐานะผู้ปกครอง
เพราะหากพ่อแม่ยังคงกังวลว่าวันนี้ครอบครัวจะมีอาหารหรือจะมีเงินจ่ายค่ายารักษาโรคหรือไม่ หรือตัวพ่อแม่เองที่ยังต้องดิ้นรนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ออกจากความขัดสน ก็จะทำให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิตได้น้อยลง และส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กในอนาคต
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่กลุ่มที่ปัญหาความยากจนและเปราะบางมีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร บริการขั้นพื้นฐาน และบริการทางการเงิน เป็นต้น ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
-(4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา
-(4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่น ๆ ภายในปี 2573
-(10.4) เลือกใช้นโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มา:
Word gap: When money’s tight, parents talk less to kids (UC – Berkeley)
Last Updated on สิงหาคม 6, 2021