นักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีทักษะการให้เหตุผลในปัญหาที่ซับซ้อน: กุญแจฟื้นวิชาความเป็นพลเมืองสู่การมีส่วนร่วมที่แข็งขันในสังคม

Civic Engagement & SDGs
การมีส่วนร่วมของพลเมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน

การมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยหุ้นส่วนการพัฒนาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม-ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาควิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนพลเมืองทุกคนที่เสียงสะท้อนและความคิดเห็นสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ เรียกได้ว่าแม้แต่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ ‘เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน’ ทั้งนี้ โดยตระหนักว่านโยบาย/ยุทธศาสตร์และการถ่ายระดับสู่การปฏิบัติ ล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน


Akilah Lyons-Moore ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาทางคลินิกประจำ USC Rossier School of Education สหรัฐฯ เขียนถึงวิธีการฟื้นคืนวิชาความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยให้เป็นผลในสังคมได้จริง ใน Revitalize Civics Education By Connecting Real-World Action to the Classroom เอาไว้ว่า ต้องเริ่มจากการเชื่อมห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นและมีการลงมือทำในโลกเข้าด้วยกัน เพราะชุมชนที่นักเรียนอาศัยและเติบโต เป็นเรื่องราว ประสบการณ์ และภูมิหลังที่ก่อร่างให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงวิชาความเป็นพลเมืองหรือการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) ได้ ไม่ใช่รูปแบบการศึกษาความเป็นพลเมืองดั้งเดิมที่มักเป็นการเรียนจากหน้าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยชื่อบุคคล วันที่ สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญ แต่ไม่สามารถยึดโยงกับความเป็นชุมชน หรือทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับประเทศและโลกได้ จึงไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งของวิชาและสร้างพลเมืองได้จริง กล่าวคือ จะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในวิชาและในภายภาคหน้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นและสร้างการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ในห้องเรียนจะต้องสอนว่ารัฐบาลทำงานอย่างไร ประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร นิยามของประชาธิปไตยคืออะไร ซึ่ง Akilah Lyons-Moore ก็มีตัวอย่างที่ใช้ในวิชาความเป็นพลเมือง โดยได้เชื่อมโยงประเด็นหลัก ๆ อาทิ รัฐบาลและการเมือง ข้อถกเถียง (debate) กระบวนการหารือ (dialogue) ความร่วมมือ การโหวต และการทำงาน ที่ล้วนมีส่วนพัฒนาชุมชนและเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะเดียวกับที่ให้นักเรียนตระหนักว่านโยบายที่ออกโดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นและรัฐบาลนั้น มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนด้วย

โดยให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงมุมมอง ความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เผชิญจริงในประเด็นเหล่านี้ และให้นักเรียนได้ซึมซับการลงมือทำจริงและความสำคัญของเสียงของพลเมืองที่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในการถกเถียงหรือกระบวนการหารือที่จะนำไปสู่ความพยายามรับฟังและเข้าใจมุมมองของทุกฝ่าย รวมถึงเรียกร้องให้แสดงความรับผิดรับชอบ (accountability) ไปจนถึงหาวิธีประณีประนอมหรือฉันทามติได้ และนั่นเป็นสิ่งที่วิชาพลเมืองจะต้องถ่ายทอดออกไป

อนึ่ง การที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางดังกล่าว ถือเป็นการช่วยยืนยันหรือแก้ปัญหาการแพร่กระจายข่าวลวง/ข่าวเท็จ/ข่าวปลอมที่อาจเกิดขึ้นจากหนังสือเรียนหรืออินเตอร์เน็ต/โซเชียลมีเดียได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รายงาน ‘Educating for Civic Reasoning and Discourse’ ที่จัดทำโดยองค์การไม่แสวงผลกำไร National Academy of Education ในสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาด้วยงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ยังได้ระบุถึงแนวทางการพัฒนาวิชาความเป็นพลเมืองไปในทิศทางเดียวกัน

โดยเพิ่มเติมจุดสำคัญอีกประการคือ นอกจากจะสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชนแล้ว จะต้องเน้นให้มีการถกแถลง/บทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่มีความซับซ้อน อ้างอิงด้วยหลักฐาน โดยให้ขยายระยะเวลาของการศึกษาที่ครอบคลุมระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อยกระดับความสามารถในการให้เหตุผลซึ่งรวมถึงการชั่งน้ำหนักมิติทางการเมือง ศีลธรรม และคุณค่าของประชาธิปไตย ความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่จะส่งผลต่อชีวิตของพลเมืองในสังคมทุกคน และทักษะความรู้ความอ่านทางการเมือง เพื่อที่จะนำไปสู่หนทางแก้ไขที่ตอบสนองต่อความท้าทายและความต้องการของส่วนรวมได้ (collective needs) ซึ่งเป็นทักษะรากฐานของการสร้างสังคมประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ นักเรียนจะต้องตระหนักว่า ‘ไม่มีคำถามใดที่สามารถตอบได้ด้วยคำอธิบายเดียว’

ตัวอย่างของคำถามที่แสดงถึงความซับซ้อน และควรใช้ในวิชาความเป็นพลเมือง มีอาทิ

  • เราจะสามารถทะลายความตึงเครียดระหว่างการใช้อำนาจของรัฐบาลในทุกระดับ (รัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลของชนเผ่า) เพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของส่วนร่วม โดยที่ยังคงไว้ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลได้อย่างไร อาทิ ในกรณีของการขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในช่วงโรคระบาด หรือ ขอให้เด็กและผู้ใหญ่ฉีดวัคซีน
  • ในการต่อสู้กับวิกฤติสาธารณสุขหรือปกป้องเขตแดน/พรมแดนของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลในแต่ละระดับและการลงมือทำเพื่อส่วนรวมควรเป็นอย่างไร?

ประเด็น Civic Education เกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
-(4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมมีสันติภาพ ครอบคลุม มีความยุติธรรม
-(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบและโปร่งใสในทุกระดับ-(16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
Revitalize Civics Education By Connecting Real-World Action to the Classroom (USC – University of Southern California)
What civics education should really look like (washintonpost)

Last Updated on สิงหาคม 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น