Civic Engagement & SDGs
การมีส่วนร่วมของพลเมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน
การมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยหุ้นส่วนการพัฒนาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม-ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาควิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนพลเมืองทุกคนที่เสียงสะท้อนและความคิดเห็นสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ เรียกได้ว่าแม้แต่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ ‘เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน’ ทั้งนี้ โดยตระหนักว่านโยบาย/ยุทธศาสตร์และการถ่ายระดับสู่การปฏิบัติ ล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
รัฐบาลอังกฤษจัดทำแบบสำรวจ Civic Engagement and Social Action – Community Life Survey 2020/21 ให้แต่ละครัวเรือนตอบแบบสำรวจทางออนไลน์หรือทางกระดาษ (สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล) เพื่อมาสรุปเป็นสถานการณ์การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน/แก้ปัญหาโดยพลเมือง (civic engagement) และการกระทำทางสังคม (social action) ปี 2563/2564 (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564) โดยเป็นการประเมินในด้าน
- การเข้ามาร่วมของพลเมือง (Civic participation) ในกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงการเข้ามาติดต่อกับทางภาครัฐ การลงชื่อในคำร้อง การเข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะ
- การปรึกษาหารือของพลเมือง (Civic consultation) อาทิ การเข้ามาหารือ/ให้ความคิดเห็น/สะท้อนปัญหาในท้องถิ่น กับหน่วยงานท้องถิ่น ทำแบบสอบถาม หรือเข้าร่วมประชุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์
- การเคลื่อนไหวของพลเมือง (Civic activism) อาทิ กิจกรรมในชุมชนท้องถิ่น ในสภาท้องถิ่นหรือโรงเรียน การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับกับผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจ เช่น ด้านสาธารณสุขท้องถิ่น การให้บริการการศึกษา การแก้ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ การที่พลเมืองมีความแข็งขันโดยเข้ามาร่วม หารือ/แสดงความคิดเห็น และเคลื่อนไหว เหล่านี้ไม่ได้สูญเปล่า แต่ได้ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่น (influencing local decisions) ไปจนถึงทำให้เกิดการตัดสินใจ (enabling decisions making) และการกระทำทางสังคม (social action)
การมีส่วนร่วมของพลเมืองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในท้องถิ่น
27% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รู้สึกว่าตนเองสามารถมีส่วนส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจใด ๆ ที่ส่งผลต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย โดยพลเมืองอายุ 35-49 หรือที่ 29% เห็นด้วยว่าพวกเขาสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่าพลเมืองอายุ 25-34 (24%)
นอกจาก ‘ความรู้สึก’ ว่าตนเองส่งอิทธิพลได้แล้ว ยังขึ้นอยู่กับ ‘ความเป็นชาติพันธุ์’ ด้วย กล่าวคือ มีผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเป็นคนผิวขาวที่ 25% รู้สึกว่าส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจน้อยกว่าผู้ตอบแบบสำรวจชาวเอเชีย ผิวดำ หรือผู้ที่มีหลายชาติพันธุ์ (33%-39%)
ขณะที่ พลเมืองที่มีการเจ็บไข้หรือพิการ (23%) มักจะไม่ค่อยออกความเห็นว่ารู้สึกหรือไม่ที่ตนเองสามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจได้ เมื่อเทียบกับพลเมืองที่ไม่ได้มีการเจ็บไข้หรือพิการ (28%)
นอกจากนี้ หากแบ่งเป็นภูมิภาค จะเห็นว่า พลเมืองในลอนดอนที่ 30% รู้สึกว่าสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ มากกว่าพลเมืองที่อาศัยทางตะวันออก (24%) และทางตะวันออกเฉียงเหนือ (22%)
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 54% ระบุว่าความรู้สึกที่ว่าตนเองสามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจได้นั้นมีความสำคัญมาก โดยพลเมืองที่มองว่า ‘ความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ’ (ability to influence decisions) สำคัญ (58-59%) ได้แก่ กลุ่มอายุ 35-49, 50-64, และ 65-74 ปี สูงกว่ากลุ่มอายุ 16-24, 25-34, และ 75+ ปี (42-49%) ทั้งนี้ นอกจากจะได้แสดงภาพความคิดเห็นของพลเมืองบนฐานชาติพันธุ์และภูมิภาค การมองว่าความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจยังสูงในพลเมืองที่อาศัยอยู่ในชนบท (58%) มากกว่าในเมืองด้วย (53%)
ทั้งนี้ พลเมืองที่ 50% มองว่าต้องการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจมากขึ้น ในระดับสภาท้องถิ่นเพื่อที่จะสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ ขณะที่ 48% มองว่าไม่ได้ต้องการเข้าไปส่วนเกี่ยวข้องมากกว่านี้ และอีก 2% มองว่า ‘แล้วแต่ประเด็นปัญหา’
ช่องทางเร่งให้เกิดการตัดสินใจ
ผู้ตอบแบบสำรวจต้องตอบคำถามที่ว่า ‘จะใช้ช่องทาง/ทางเลือกใด หากต้องการส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจในท้องถิ่น’ และผลของการสำรวจเป็นดังในภาพ
โดยแบบสอบถามยังถามต่อว่า ‘ปัจจัยใดที่จะทำให้สามารถเข้ามาร่วมส่งเสียงตนเอง เพื่อส่งอิทธิพลตามช่องทางที่เลือกให้เกิดการตัดสินใจ’คำตอบ 3 อันดับแรกคือ ‘ถ้าฉันรู้ว่าประเด็นอะไรที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่’ (51%) ตามมาด้วย ‘ถ้าฉันสามารถให้ความเห็นทางออนไลน์หรือส่งอีเมล์ได้’ (44%) และ ‘ถ้าฉันมีเวลามากกว่านี้’ (33%)
การลงมือทำ
อาทิ การเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นที่มีผลต่อท้องถิ่น โดยอาจจะลงมือทำเช่น เป็นอาสาสมัครช่วยจัดกิจกรรมในชุมชน ช่วยให้บริการด้วยจิตสาธารณะ จัดการให้บริการใหม่ ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบสำรวจ 14% มีส่วนเกี่ยวข้อง/เข้ามาลงมือทำอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มอายุ 65-74 และ 50-64 ปี ถือว่าเข้ามาลงมือทำสูงกว่ากลุ่มอายุ 25-34 (16% ต่อ 11%) คนชนบทเข้ามาลงมือทำสูงกว่าคนในเมือง (19% ต่อ 13%) ขณะที่มีผู้ตอบแบบสำรวจ 30% ตระหนักว่ามีพลเมืองคนอื่น ๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง/เข้ามาลงมือทำ
การมีส่วนร่วมของพลเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับ
#SDG16 สังคมมีสันติภาพ ครอบคลุม มีความยุติธรรม
-(16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
-(16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
ทั้งนี้ โดยที่การจัดทำแบบสำรวจโดยภาครัฐที่พยายามเก็บข้อมูลให้ครอบคลุม เพื่อนำมาใช้พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง พัฒนานโยบาย หรือให้บริการขั้นพื้นฐานต่อไปนั้น ยังเกี่ยวข้องกับ
-(17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกในเรื่องรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความบกพร่องทางร่างกาย ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563