แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันประกอบด้วย 2 แนวทางที่ต้องทำไปพร้อมกัน ได้แก่ ‘Mitigation’ – การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ‘Adaptation’ – การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
‘การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ‘ หรือ Climate Change Mitigation คือ ความพยายามของมนุษย์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) และการรักษาระดับของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้คงที่ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยเป้าหมายที่สำคัญของการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การหลีกเลี่ยงการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่จะมีต่อระบบภูมิอากาศ และ “รักษาระดับก๊าซเรือนกระจกให้คงที่ในระยะเวลาที่เพียงพอเพื่อให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวตามธรรมชาติให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และทำให้แน่ใจว่าการผลิตอาหารจะไม่ถูกคุกคาม และช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน” (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ – IPCC)
การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใช้แนวทางทั้ง การลดแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก เช่น เปลี่ยนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการใช้พลังงานสะอาด หรือเพิ่มกิจกรรมที่ช่วยกำจัดก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปรับปรุงความสามารถ ‘อ่างเก็บกักคาร์บอน’ (Carbon Sink) ตามธรรมชาติที่จะกักและเก็บก๊าซเรือนกระจกไว้ทั้งในมหาสมุทร ต้นไม้ และในดิน
การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประสิทธิภาพต้องอาศัยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการประกอบอาหารที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติหรือพฤติกรรม เช่น ลดใช้รถส่วนตัวหรือเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคอาหารที่เน้นผักมากขึ้น และยังรวมถึงการขยายพื้นที่ป่าและรักษาคุณภาพของอ่างกักเก็บคาร์บอนในธรรมชาติเพื่อขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกจากชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจจากภาครัฐ ทั้งการกำหนดภาษีคาร์บอน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) การให้เงินอุดหนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และการแก้กฎระเบียบเพื่อการบูรณาการพลังงานคาร์บอนต่ำให้เกิดได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งการจัดการก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
การสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นทุกภาคส่วนในทุกระดับจึงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความพยายามในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเต็มศักยภาพ
‘การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG13 – (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
Target: 13.3 Improve education, awareness-raising and human and institutional capacity on climate change mitigation, adaptation, impact reduction and early warning
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
Introduction to Mitigation (UNFCCC)
Mitigation and Adaptation | Solutions – Climate Change (NASA Global Climate Change)
Mitigation (UNEP)