Site icon SDG Move

Director’s Note: 11: ความจริงใจของรัฐกับการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทีม SDG Move ได้ไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรม 2 ประการที่น่าสนใจ

กิจกรรมแรกเป็นกิจกรรมที่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อให้มีความเข้าใจเรื่อง SDGs และเข้าใจมุมมองของภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเด็น Climate Change, Peace and International Security และ Economic Recovery after COVID-19 

กิจกรรมที่สองนั้นเรียกว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เชิญคนที่คุ้นหน้าคุ้นตาในวงการ SDGs มาหารือกัน ทั้งทางกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ Global Compact Network Thailand และที่ปรึกษาด้าน Civil Society Organization (CSO) ในการขับเคลื่อน SDGs ของสหภาพยุโรป แล้วก็ตัวผมเอง โดยมีคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ขับเคลื่อน FTA Watch และพิธีกรรายการวิทยุ FM96.5 เป็นผู้ดำเนินการประชุม

ประเด็นน่าสนใจอยู่ในกิจกรรมที่ 2 …

ความจริงใจของรัฐกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำถามหนึ่งที่คุณกรรณิกาณ์ถาม คือ ในขณะที่รัฐแสดงตนว่าต้องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แต่ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการหลายอย่างที่ดูขัดแย้งกัน เช่น กรณีของมรดกโลกของป่าแก่งกระจานที่แลกมาด้วยความขัดแย้งและการพลัดถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านบางกลอย  หรือในวันเสาร์ (7 สิงหาคม 64) ที่มีการชุมนุมของหลายกลุ่มในหลายพื้นที่ แต่ที่รุนแรงจนเป็นข่าวไปทั่วโลกคือการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร 

คุณกรรณิกาณ์ ถามว่าผมมีความคิดเห็นอย่างไร 

ผมมีความเห็นว่า หากรัฐบาลจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย SDGs นั้น รัฐบาลจะทำแยกส่วนแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ ณ ปัจจุบัน สิ่งที่รัฐบาลทำคือ หากประเด็นใดเป็นประเด็นที่ตนเห็นว่าควรจะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะดำเนินการไปในแนวทางที่ควรจะทำ กล่าวอ้างถึงคำใหญ่ ๆ อย่าง “สิทธิมนุษยชน” “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ฯลฯ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ผมมั่นใจว่าทีมงานจำนวนมากมีความตั้งใจในการขับเคลื่อน SDGs และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันประเด็นเหล่านี้

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เริ่มมีประเด็น “ความมั่นคง” เข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลแทบจะลืมทุกอย่างและพร้อมจะละเมิด ละเลย หรือหลงลืม คำว่าสิทธิมนุษยชนไปโดยสิ้นเชิง ความมั่นคงที่ว่านี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ใช่ความมั่นคงของมนุษย์ แต่น่าจะหมายถึงความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์เป็นหลัก สิ่งที่เป็นหลักฐานประกอบนั้น ดูได้จาก

แม้ว่าจะมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น รัฐบาลก็ยังประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยได้ที่ 1 ของอาเซียนใน SDG Index 

รัฐบาลอาจใช้ข้อโต้แย้งที่ว่า สิ่งที่ทำ “ส่วนใหญ่” กับ “คนส่วนใหญ่” ก็สอดคล้องกับความยั่งยืนมิใช่หรือ ก็ต้องตอบว่าใช่ แต่สิ่งที่รัฐบาลอาจจะลืมไปก็คือ คำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ใช่คำที่เอาไว้พูดสวย ๆ แต่มันมีนัยยะว่า แม้เพื่อประโยชน์ของ “คนส่วนใหญ่” คุณก็จะทิ้งคนส่วนน้อยไว้ข้างหลังไม่ได้ และคำว่าการทิ้งคนส่วนน้อยไว้ข้างหลังมันไม่ใช่ว่าคนส่วนใหญ่วิ่งไปข้างหน้าแล้วคนกลุ่มนี้เขาตามไม่ทัน แต่มันรวมไปถึงการที่คุณละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขาด้วย ซึ่งสวนทางกับหลักการและเป้าหมายปลายทางของเป้าหมาย SDGs โดยสิ้นเชิง 

ไม่ว่า SDG Index จะออกมาอีกกี่ปี และไทยจะเป็นที่ 1 ของอาเซียนไปอีกกี่ปี ตราบเท่าที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ แม้กระทั่งในนามของ “ความมั่นคง” ประเทศไทยไม่มีวันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลไทยต้องมีความจริงใจ และมีความกล้าหาญที่จะ

นั่นหมายถึงรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแยกออกจากนโยบายอื่นไม่ได้ รัฐบาลต้องน้อมรับเอาหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหลักสิทธิมนุษยชนเข้ามาปรับใช้ในทุกนโยบายของรัฐ ไม่เว้นแม้แต่นโยบายด้านความมั่นคง

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version