จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง

บทความ Coastal communities take the lead: How plans to safeguard Southeast Asia’s biodiverse waters are evolving เผยแพร่ใน Eco-Business เล่าเรื่องราวความสำเร็จและความท้าทายของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางทะเล ผ่านการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MAPs) รวมถึงการให้ชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองรอบชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับภาครัฐในการอนุรักษ์และการลาดตระเวน โดยยกตัวอย่างสำคัญอย่างจังหวัดปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสปีชีส์พืชและสัตว์น้ำนานาพันธุ์และแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของโลก

หรือที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระดับโลก’ (global epicentre of marine biodiversity) ที่การอนุรักษ์ระดับประเทศ ส่งผลต่อระดับภูมิภาคและระดับโลก


เมื่อปี 2546 ตั้งแต่ที่กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อันประกอบไปด้วย Conservation International, Nature Conservancy, กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในจังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ภาครัฐจึงได้เชื้อเชิญให้ผู้นำทางประเพณีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาที่ชุมชน Tomolol ทางตอนใต้ของหมู่เกาะราชาอัมพัต (Raja Ampat) เพื่อประกาศให้ภูมิภาคนี้ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้มีการทำประมงที่เป็นการทำลายมหาสมุทร ต่อมาในปี 2549 จึงมีการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MPAs) สองแห่งแรก และอีกสองปีถัดมา ได้เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอีก 4 แห่ง จนในวันนี้มีพื้นที่คุ้มครองมากกว่า 12 แห่งทั่วทั้งภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของทั้งประเทศอินโดนีเซียและสามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) มีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกือบ ๆ 1,300 แห่งที่ครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทร 207,339 ตารางกิโลเมตร โดยอินโดนีเซียมีเป้าหมายจะกำหนดให้พื้นที่ 20 ล้านเฮกเตอร์ได้รับการคุ้มครองภายในปี 2563 และ 30 ล้านเฮกเตอร์ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติในการคุ้มครองพื้นที่ดินและมหาสมุทร 30% ของโลกภายในปี 2573

ทั้งนี้ ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของพื้นที่หมู่เกาะในจังหวัดปาปัวตะวันตกนั้น เพราะจังหวัดปาปัวตะวันตกถือเป็น ‘ศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระดับโลก’ (global epicentre of marine biodiversity) นั่นหมายความว่าความพยายามอนุรักษ์ในระดับประเทศ มีผลต่อระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยการอนุรักษ์พื้นที่นี้พร้อมกับการอนุรักษ์พื้นที่อื่นในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกัน จะช่วยปกป้อง 80% ของแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีสปีชีส์ทางทะเลที่กำลังถูกคุกคาม ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความมั่นคงทางอาหารด้วย

ความสำเร็จของจังหวัดปาปัวตะวันตกในการรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลมาจากความร่วมมือของภาครัฐกับชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองรอบชายฝั่งทะเล

ความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยตามชายฝั่งทะเลกับมหาสมุทรมีความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญชุมชนท้องถิ่นรอบชายฝั่งยังมีองค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศในท้องถิ่น ดังนั้น การสนับสนุนให้ชุมชนในฐานะเจ้าของเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในการอนุรักษ์ยังเป็นประโยชน์ต่อทั้งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและทรัพยากรที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตของชุมชนรอบชายฝั่งด้วย

โดยที่ชาวบ้านและชนพื้นเมืองละแวกนั้น ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญทั้งในแผนและการบริหารจัดการอนุรักษ์ มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณร่วมกัน โดยที่ให้ความสำคัญและเคารพต่อประเพณี วิถีชีวิต และข้อห่วงกังวลของชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางของการจัดการ

ภาพเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนและบันทึกการกระทำที่เป็นการละเมิดหรือทำลายทะเล โดย Eco-Business

ตัวอย่างของความร่วมมือมีอาทิ ชาวบ้านในหมู่บ้านชนพื้นเมืองที่ชื่อ Arborek ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาปะการังในฐานะที่เป็นอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ได้เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการออกลาดตระเวนตรวจความเป็นไปของพื้นที่ชายฝั่ง เกาะ และมหาสมุทร เพื่อคุ้มครองปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

ความท้าทายในการอนุรักษ์ของหมู่เกาะและพื้นที่พึ่งพิงการท่องเที่ยว

ด้วยความที่พื้นที่อนุรักษ์มีพื้นที่ใหญ่มาก อย่างในกรณีของพื้นที่คุ้มครองเกาะ Kofiau-Boo (Kofiau-Boo Islands Marine Protected Area) ในหมู่เกาะราชาอัมพัต ที่ครอบคลุมพื้นที่ 148,979 เฮกเตอร์ คิดเป็น 2 เท่าของขนาดประเทศสิงคโปร์ ทั้งยังประกอบไปด้วยเกาะเล็กอีก 44 เกาะ หากมีการทำประมงผิดกฎหมาย หรือมีการปฏิบัติที่ทำลายท้องทะเล อาทิ การระเบิดปะการังเพื่อจับปลา หรือการฆ่าฉลามเพื่อเอาหูฉลามแล้วโยนทิ้งกลับไปยังทะเล ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามหาผู้ที่กระทำความผิด แม้ว่าจะมีการออกลาดตระเวนมากกว่า 10 ครั้งต่อเดือน และได้บันทึกทักลักษณะการกระทำที่มีการละเมิดก็ตาม

เพราะความท้าทายในการอนุรักษ์ ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่าย จำนวนเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าบำรุงและซ่อมแซมเรือ ซึ่งโดยมากแหล่งงบประมาณของพื้นที่อนุรักษ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้มาจากนักท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีผลต่องบประมาณที่ใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองทางทะเลด้วย โดยที่ยังพบการประมงที่แสวงหาประโยชน์ในยามวิกฤติเช่นนี้อยู่

อย่างไรก็ดี แม้ในการอนุรักษ์จะประสบกับประเด็นด้านงบประมาณ แต่ทั้งในสภาวะปกติและยามวิกฤติก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยื่งของการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่จะทำให้เป้าหมายของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพยังคงดำเนินต่อไปได้

จังหวัดปาปัวตะวันตก (West Papua) ของอินโดนีเซีย เป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดพื้นที่ 4 ล้านตารางไมล์ ถือเป็น ‘ศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระดับโลก’ (global epicentre of marine biodiversity) เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของพืชและสัตว์ทะเลหลากหลายสปีชีส์หลายล้านชีวิต คิดเป็น 76% ของสปีชีส์ปะการังทั้งหมดในโลก สปีชีส์ปลากว่า 6,000 ชนิดที่มีการสำรวจและบันทึก โดยสามารถเลี้ยงปากท้องของมนุษย์ร่วม 120 ล้านคน และยังเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วโลกด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น มรดก และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ภายในปี 2573
#SDG2 ยุติความหิวโหย โภชนาการที่ดี ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
-(14.4) ให้กำกับอย่างมีประสิทธิผลในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีการควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลาย
-(14.5) อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ภายในปี 2563
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งที่มา:
Coastal communities take the lead: How plans to safeguard Southeast Asia’s biodiverse waters are evolving (eco-business, RUMAH foundation)

Last Updated on สิงหาคม 9, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น