เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เผยแพร่ส่วนแรกของ ‘The Sixth Assessment Report‘ หรือ AR6 ซึ่งจัดทำโดย Working Group 1 ในหัวข้อ The Physical Science Basis หรือ พื้นฐานวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่ให้ข้อมูลความเข้าใจล่าสุดต่อสถานการณ์ล่าสุดของระบบภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยละเอียดนับตั้งแต่รายงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013
The Working Group I contribution to the Sixth Assessment Report ได้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมากกว่า 230 คนจากทั่วโลกเป็นผู้เขียน โดยเป็นการสังเคราะห์ข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลถึง 78,007 รายการ และมีการอ้างอิงมากกว่า 14,000 เอกสาร ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของของรายงานการประเมินด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญและได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เผยแพร่ก่อนมีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 เพียงไม่กี่เดือน
รายงานล่าสุดของ IPCC ได้ระบุว่า “เป็นที่แน่ชัดว่าอิทธิพลของมนุษย์ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และผืนดินอุ่นขึ้น” สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงระบบสนับสนุนต่าง ๆ ของโลกไปแล้วโดยไม่สามารถย้อนคืนได้ ซึ่งจะทำให้มหาสมุทรจะยังคงอุ่นขึ้น ธารน้ำแข็งบนภูเขาและขั้วโลกจะละลายต่อไปเป็นเวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปีต่อจากนี้ และภายในปี 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่จะมีการลดปริมาณคาร์บอนจำนวนมหาศาลเท่านั้นที่จะหยุดยั้งสถานการณ์นี้ไม่ให้เกิดเร็วขึ้น
สกู๊ปข่าวของ BBC ได้สรุป ข้อค้นพบที่สำคัญ 5 ประการจากรายงาน IPCC ฉบับใหม่นี้ ได้แก่
- ในช่วงระหว่างปี 2011-2020 อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น 1.09 องศาเซลเซียสจากช่วงระหว่างปี 1850-1900
- ห้าปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1850
- อัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลล่าสุด เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับในปี 1901-1971
- อิทธิพลของมนุษย์ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก (90%) ของการละลายของธารน้ำแข็งทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1990 รวมถึงการลดลงของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกด้วย
- ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ “ค่อนข้างแน่นอน” ที่สภาพอากาศร้อนสุดขั้ว เช่น การเกิดคลื่นความร้อนได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์สภาพอากาศหนาวเย็นสุดขั้วเกิดขึ้นถี่น้อยลงและรุนแรงน้อยลง
และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 5 ประการ ได้แก่
- ภายใต้ทุกสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณ อุณหภูมิโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับของปี 1850-1900 ภายในปี 2040
- ขั้วโลกเหนือจะไร้น้ำแข็งในช่วงเดือนกันยายนอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนปี 2050
- แม้จะควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นถึงแค่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ก็ยังจะเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นอย่างที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในบันทึกประวัติศาสตร์”
- เหตุการณ์ระดับน้ำทะเลสุดขั้วรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้งในร้อยปี จะเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละครั้งภายในปี 2100
- มีแนวโน้มการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค
เนื้อหาทั้งหมดของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 นี้ จะค่อย ๆ ทะยอยเผยแพร่จนครบ ซึ่งจะประกอบด้วย รายงานส่วนของ Working Group II ในหัวข้อ Impacts, Adaptation, and Vulnerability – ผลกระทบ การปรับตัว และความเปราะบาง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รายงานส่วนของ Working Group III ในหัวข้อ Mitigation of Climate Change – การบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเดือนมีนาคม 2022 และรายงานสังเคราะห์ฉบับสมบูรณ์ AR6 Synthesis Report: Climate Change 2022 ในเดือนกันยายน 2022
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มา :
Climate change: IPCC report is ‘code red for humanity’ (BBC)
Major U.N. climate report warns of “extreme” and “unprecedented” impacts (CBSNews)
Last Updated on สิงหาคม 10, 2021