‘ความเป็นกรดในมหาสมุทร‘ หมายถึง เมื่อคุณสมบัติความเป็นกรด-ด่าง หรือ ค่า pH ในน้ำทะเลลดลง ทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปรากฏการณ์นีมีสาเหตุมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มหาสมุทรดูดซับจากชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น
การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศสู่มหาสมุทร เป็นส่วนหนึ่งในกลไกของวัฏจักรคาร์บอน (carbon cycle) โดยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากถึงประมาณ 30% ทำให้มหาสมุทรจึงทำหน้าที่เป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ (natural carbon sink) ที่สำคัญที่จะคอยควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ แต่เนื่องจากความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มหาสมุทรดูดซับเพิ่มมากขึ้นไปด้วย
เมื่อน้ำทะเลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้ความเข้มข้นของไฮโดรเจนไอออน (H+) ในน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ยิ่งไฮโดรเจนไอออนเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างในมหาสมุทรเป็นปรากฏการณ์ขึ้นตามธรรมชาติ โดยเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าจึงทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี 1760 ทำให้ค่า pH ของน้ำทะเลพื้นผิวมหาสมุทรลดลง 0.1 หน่วย ซึ่งหมายถึงมีความเป็นกรดมากขึ้นถึงประมาณ 30% ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่สองร้อยกว่าปีเท่านั้น
ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นในมหาสมุทรส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร เช่น เมื่อมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำทะเลมากขึ้นทำให้แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ที่ต้องใช้เป็นแร่ธาตุประกอบการสร้างเปลือกและโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น หอยนางรม หอยเม่น ปะการังน้ำตื้น ปะการังน้ำลึกลดลงไปด้วย จึงทำให้มีเปลือกและโครงสร้างที่อ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตหรือซ่อมแซมตัวเองได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อการสูณพันธุ์มากขึ้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพาโปรตีนจากอาหารทะเลเป็นหลัก
ค่า pH
มากกว่า 7 = เป็นด่าง (Alkaline)
7 = เป็นกลาง (Neutral)
ต่ำกว่า 7 = เป็นกรด (Acidic)
จากข้อมูลของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า ค่า pH เฉลี่ยของมหาสมุทรปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.1 (หรือเป็นด่างเล็กน้อย) แต่หากมหาสมุทรยังคงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ค่า pH ก็ยิ่งจะลดลงและมหาสมุทรจะมีความเป็นกรดมากขึ้น
‘ความเป็นกรดในมหาสมุทร’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG14 – (14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของความเป็นกรดในมหาสมุทร โดยผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ’
Target: 14.3 Minimize and address the impacts of ocean acidification, including through enhanced scientific cooperation at all levels
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
Ocean acidification (National Oceanic and Atmospheric Administration)
ปรากฏการณ์ทะเลกรด (National Geographic ฉบับภาษาไทย)
Last Updated on มกราคม 3, 2022