อินโดนีเซียได้ประเมินสุขภาวะของประชากร/มวลสัตว์น้ำ (fish stocks) ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ ในเขตประมง 11 เขตทั่วประเทศมาเป็นเวลาร่วม 3 เดือนแล้วและยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลชี้พื้นที่ที่ประชากรสัตว์น้ำแข็งแรง หรืออยู่ในช่วงฟื้นฟู หรือเป็นพื้นที่ที่มีการทำประมงเกินขนาด (overfish) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้อินโดนีเซียสามารถวางแผนการบริหารจัดการการจับสัตว์น้ำในมหาสมุทรของหมู่เกาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างยั่งยืนขึ้น
รวมถึงว่า จะสามารถแก้ปัญหาความไม่เสมอภาค/ความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชุมชนประมงภายในประเทศด้วย
รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินการฟื้นฟูประชากร/มวลสัตว์น้ำมาตลอด ตั้งแต่ช่วงปี 2557 โดยเมื่อปี 2559 พบว่าในเขตการประมงอยู่ในสภาพที่ไม่สู้ดีนัก เพราะมีปัญหาเรื่องการแสวงผลประโยชน์หรือจับสัตว์น้ำที่ล้นเกิน ต่อมาในปี 2561 สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นโดยมีข้อมูลชี้ว่าประชากร/มวลสัตว์น้ำมีเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2559 ที่นักวิชาการด้านการประมงระบุว่าเป็นผลงานของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการประมงที่เน้น ‘กันไม่ให้เรือประมงต่างชาติที่ผิดกฎหมายเข้ามาในน่านน้ำของประเทศ’
ขณะเดียวกัน ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) อินโดนีเซียสามารถเก็บเกี่ยวสัตว์น้ำ/อาหารทะเลได้มากถึง 84.4 ล้านเมตริกตันในปี 2561 โดยมหาสมุทรของอินโดนีเซียยังมีความหลากหลายมาก และอุตสาหกรรมการประมงของประเทศเองก็มีแรงงานประมงราว 12 ล้านคน
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจึงย้ำว่าการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาวะของประชากร/มวลสัตว์น้ำในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งที่สำคัญยิ่ง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจและการดำเนินการต่อไป อาทิ เขตประมงใดที่อนุญาตให้สามารถทำประมงขนาดใหญ่ได้ และเขตใดควรปรับเป็นพื้นที่คุ้มครองหรืออนุรักษ์เพราะประสบปัญหากับการทำประมงเกินขนาด หรือเขตประมงใดที่ควรจัดเป็นพื้นที่ทำอุตสาหกรรมประมงและพื้นที่สำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้ยังจะช่วยให้สามารถกำหนดโควตาการจับปลาในแต่ละชนิดได้ จนถึงการกำหนดจำนวนเรือและเครื่องมือจับประมงในแต่ละเขต
อย่างไรก็ดี แม้การเก็บข้อมูลอาจมีความยุ่งยากบ้างในบางประการ แต่ทางกระทรวงการประมงของอินโดนีเซียได้สร้างโมเดลสำหรับการบริหารจัดกันเอาไว้แล้ว เพื่อเตรียมนำไปทดสอบในแต่ละเขตประมง โดยนอกเหนือจากเป้าหมายของการใช้ข้อมูลดังที่กล่าวข้างต้น คอนเซ็ปท์ของโมเดลที่เรียกว่า ‘การตรวจวัดการจับสัตว์น้ำ’ ทางรัฐบาลอินโดนีเซียหวังให้สามารถนำไปสู่การปิดช่องว่างของความไม่เสมอภาคหรือความมั่งคั่งระหว่างชุมชนการประมงในอินโดนีเซียด้วยเนื่องจากในปัจจุบัน อินโดนีเซียยังเผชิญกับปัญหาที่ชุมชนประมงทางตะวันตกมีการพัฒนารุดหน้าไปมากกว่าชุมชนประมงทางฝากตะวันออก โดยที่การจับปลามักเกิดขึ้นในเขตน่านน้ำของฝั่งตะวันออก แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้มักนำไปขึ่นฝั่งทางตะวันตก เป็นต้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ในด้านความมั่นคงทางอาหาร
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
-(10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน ภายในปี 2573
-(10.3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
-(14.4) ให้กำกับอย่างมีประสิทธิผลในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลาย และดำเนินการให้เป็นผลตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูประชากรปลา (fish stocks) ในเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงจุดสูงสุดที่ให้ผลตอบแทนแบบยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น ภายในปี 2563
-(14.7) ในด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในเรื่องการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว ภายในปี 2573
– (14.b) จัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาดสำหรับชาวประมงพื้นบ้านรายย่อย
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลา และเชื่อถือได้ ที่จำแนกโดยละเอียดตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
แหล่งที่มา:
Indonesia evaluating fish stock health to improve sustainable planning (eco-business, mongabay)
Last Updated on สิงหาคม 12, 2021