SDG Insights | ขยะพลาสติกในทะเล: ความพยายามของภูมิภาคอาเซียน

พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความทนทาน สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย และมีต้นทุนต่ำ ทำให้เป็นวัสดุที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในภาคการผลิต และมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ขยะมูลฝอยมีส่วนประกอบของขยะพลาสติกไม่ถึงร้อยละ 1 และในปี 2009 สัดส่วนของขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 นอกจากนี้ ขยะที่สะสมอยู่บนโลกทั้งหมดคิดเป็นพลาสติกถึงร้อยละ 80 การศึกษาประมาณการณ์ว่ากว่าร้อยละ 60 ของพลาสติกที่มีการผลิตมาในโลกยังตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นปริมาณอย่างน้อย 4.9 พันล้านตัน ขณะที่ผลกระทบจากขยะพลาสติกต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ทวีความชัดเจนขึ้นจากรณีการตายของสัตว์ทะเล อาทิ วาฬ โลมา เต่าทะเล พะยูน และสภาพชายหาดที่ปนเปื้อนด้วยเศษพลาสติกนานาชนิด ซึ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วโลก

การศึกษาของ Jambeck และคณะในปี 2015 ประมาณการณ์ว่าในแต่ละปี มีขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ซึ่งกว่าร้อยละ 50 มีแหล่งกำเนิดจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีจีนเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ต่างก็อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทรมากที่สุด ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะที่ปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อมได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2016 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย สร้างขยะมูลฝอยรวมกันทั้งสิ้น 243 ล้านตัน คิดเป็นขยะพลาสติก 31.7 ล้านตัน ซึ่งขยะที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมีเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมดเท่านั้น ดูเหมือนว่าระบบการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม การขยายตัวของเมืองและการเติบโตของประชากรกลุ่มที่มีกำลังซื้อในภูมิภาค จะเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

ปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในอาเซียนอาศัยอยู่ในเขตเมืองและคาดว่าภายในปี 2025 ประชากรในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านคน ขณะที่คาดการณ์ว่าการบริโภคของอาเซียนจะเพิ่มเป็นสองเท่ารวมถึงความต้องการสินค้าบรรจุหีบห่อ ทั้งนี้ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง หากไม่สามารถยกระดับระบบการจัดการขยะ ตลอดจนบังคับใช้มาตรการที่จำเป็น คงเป็นเรื่องยากที่อาเซียนจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้


ยุทธศาสตร์การจัดการขยะของประเทศอาเซียน 

สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างยกให้ขยะพลาสติกเป็นวาระสำคัญและประกาศยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยแต่ละประเทศมียุทธศาสตร์ที่บังคับใช้แล้วและที่จะประกาศในอนาคตอันใกล้ที่น่าสนใจ ดังนี้

กัมพูชา  

กัมพูชาได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการของเสียแห่งชาติ หรือ National Waste Strategy and Action Plan (2018-2030) โดยมีการแยกขยะพลาสติกและการจัดการถุงพลาสติกเป็นเป้าหมายหลัก นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการจัดการขยะในพนมเปญ หรือ The Phnom Penh Waste Management Strategy and Action Plan (2018-2035) ที่มีประเด็นการจัดการขยะพลาสติกที่ครอบคลุมการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติก

ไทย 

ในปี 2019 รัฐบาลได้เผยแพร่แนวทางการจัดการขยะพลาสติก หรือ Thailand Roadmap on Plastic Waste Management (2018-2030) หนึ่งในสาระสำคัญคือการเลิกใช้พลาสติกบางประเภท อาทิ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือ “แคปซีล” และถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน รวมถึงได้ประกาศแนวทางในการบังคับใช้มาตรการจูงใจสำหรับผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น (เช่น พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นต้น)

บรูไนดารุสซาลาม

บรูไนมีกรอบกฎหมายในการคุ้มครองและจัดการสิ่งแวดล้อม Minor Offences Act and the Environmental Protection and Management Order (2016) และอยู่ระหว่างการพัฒนากฎระเบียบการจัดการของเสีย Waste Management Regulation ฉบับแรก เพื่อจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกร้อยละ 3 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2017

ฟิลิปปินส์ 

กฎหมายหลักเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยของฟิลิปปินส์ ได้แก่ Republic Act 9003 ซึ่งกล่าวถึงการจัดเก็บ รวบรวม และคัดแยกขยะ ขณะที่มี Total Plastic Bag Ban Act of 2011 เป็นพระราชบัญญัติเรื่องการห้ามใช้ถุงพลาสติก Single-use Plastics Regulation and Management Act of 2018 ว่าด้วยระเบียบข้อบังคับและการจัดการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และ Beverage Container Disposal Act พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการกำจัดบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยขยะพลาสติกและขยะในทะเลที่จะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้

มาเลเซีย 

มาเลเซียมีแผนงาน Zero Single-Use Plastics (2018-2030) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รวมไปถึงการหาวัสดุทางเลือกมาทดแทน สาระสำคัญอื่น ๆ ที่ปรากฎในแผนงาน เช่น การพัฒนาเกณฑ์ฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic) และพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic) นอกจากนี้ ยังกำลังพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) มาใช้ในการจัดการขวดพลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอื่น ๆ

เมียนมา 

เมียนมาอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติ The National Waste Management Strategy and Master Plan (2018-2030) ที่ประกอบด้วยการจัดการขยะพลาสติก โดยมีนโยบายเพื่อยกระดับระบบการจัดการและจัดเก็บขยะให้คลอบคลุมประชากรทุกคนภายในปี 2030

ลาว 

ลาวมีข้อบังคับด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPL) No 29 / NA และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียว (Green Growth Strategy) ที่ครอบคลุมการกำหนดกรอบกฎหมายพื้นฐานสำหรับการจัดการขยะมูลฝอย เป็นต้น โดยแผนแม่บทสำหรับการจัดการขยะมูลฝอยระดับประเทศยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ขณะที่รัฐบาลเวียงจันทน์ก็กำลังพิจารณากฎระเบียบเกี่ยวกับถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

เวียดนาม  

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามได้เปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับการจัดการขยะพลาสติกในทะเล National Action Plan for Management of Marine Plastic Litter by 2030 โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจัดขยะพลาสติกในทะเล ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การรวบรวมและจำแนกขยะพลาสติก การควบคุมขยะพลาสติกที่ต้นทาง ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการจัดการขยะพลาสติก และการทบทวนการจัดการขยะพลาสติกในทะเล

สิงคโปร์ 

ในปี 2019 สิงคโปร์ได้ประกาศ Zero Waste Masterplan เป็นแผนแม่บทที่ประกอบด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของท้องถิ่นในการรีไซเคิล และประกาศมาตรการเพื่อจัดการกับขยะ 3 ประเภท (ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษอาหาร และขยะบรรจุภัณฑ์ รวมถึงพลาสติก) และการลดของเสียเพื่อยืดอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบแห่งเดียวในประเทศไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการรีไซเคิล สิงคโปร์มีระเบียบข้อบังคับให้ภาคเอกชนรายงานข้อมูลบรรจุภัณฑ์ มีมาตรการ EPR สำหรับการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมประกาศใช้ในปี 2025 โดยมีระบบมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ (Deposit Refund Scheme) สำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มเป็นโครงการนำร่อง

อินโดนีเซีย  

แผนปฏิบัติการของอินโดนีเซียว่าด้วยขยะพลาสติกในทะเล Plan of Action on Marine Plastic Debris (2017-2025) ระบุถึงแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การยกระดับกลไกการระดมทุน และการปฏิรูปนโยบาย โดยอินโดนีเซียเพิ่งประกาศแนวทางการจัดการตามหลักการ EPR นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (The Ministry of National Development Planning หรือ Bappenas) กำลังพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก

นอกจากจะมียุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติแล้ว สมาชิกอาเซียนยังดำเนินมาตรการที่มุ่งจัดการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งโดยเฉพาะ เนื่องจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงบรรจุภัณฑ์อายุสั้น (มีอายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปีนับจากวันผลิต) คิดเป็นสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 50 ของขยะพลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรการที่ดำเนินการโดยประเทศอาเซียนสามารถแบ่งออกเป็น 5 แนวทาง ดังนี้

01 – มาตรการจำกัดตลาดเฉพาะพื้นที่ (Marketing restrictions in specific locations) 

มาเลเซีย: ใช้แนวทางปฏิบัติ no straw-by-default ในบางพื้นที่ กล่าวคือ การงดแจกหลอดดูดน้ำหรือยกเลิกการให้โดยมิได้ขอ ซึ่งเป็นมาตรการภายใต้ Roadmap Towards Zero Single-Use Plastics 2018-2030  

อินโดนีเซีย: เมื่อวันที่่ 23 มิถุนายน 2019 บาหลีประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง วัสดุที่ห้ามใช้ ได้แก่ โฟม ถุงพลาสติก และหลอดพลาสติก 

ฟิลิปปินส์: ห้ามใช้ถุงพลาสติกในหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในมะนิลา และหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

02 – มาตรการจำกัดตลาดระดับประเทศ
(Marketing restrictions: National ban) 

ไทย: มีการรับรองแผนการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้แก่ ถุงพลาสติก ถ้วยพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะโฟม 

03 – มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic restrictions) 

อินโดนีเซีย: กระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศแนวทางการเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค โดยคาดหวังให้ผู้ค้าปลีกดำเนินการจัดเก็บค่าถุงพลาสติกตามมาตรการดังกล่าว 

มาเลเซีย: ประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ซึ่งการบังคับใช้ปัจจุบันครอบคลุมกิจการห้างร้านส่วนใหญ่ โดยมีแผนจะขยายการบังคับใช้ให้ครอบคลุมสถานประกอบธุรกิจทุกประเภทในปี 2022

กัมพูชา: กำหนดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้าทั้งหมดเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค 

04 – ระเบียบข้อบังคับอื่น ๆ 

สิงคโปร์: ออกระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผู้ค้าปลีกที่มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี ต้องรวบรวมและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและปริมาณของบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายสู่ตลาด (รวมถึงพลาสติก)  รวมถึงกำหนดให้ภาคธุรกิจพัฒนาแผนเพื่อลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 บริษัทจะต้องเริ่มรวบรวมข้อมูลบรรจุภัณฑ์และพัฒนาแผน 3R สำหรับบรรจุภัณฑ์ นับเป็นการปูทางสำหรับการบังคับใช้มาตรการ EPR ในอนาคต  ซึ่งตามหลักการ EPR ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบในการรวบรวมและการจัดการบรรจุภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะส่งเสริมให้ผู้ผลิตลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายสู่ตลาด ในช่วงแรกของ EPR จะมีการแนะนำระบบมัดจำค่าบรรจุภัณฑ์ (Deposit Refund Scheme) สำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 

05 – มาตรการตามความสมัครใจ
(Voluntary agreement/commitment) 

ไทย: ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศตกลงยกเลิกการแจกถุงพลาสติกตั้งแต่มกราคม 2020 

บรูไนดารุสซาลาม: โครงการงดใช้ถุงพลาสติกที่ริเริ่มโดยรัฐบาล ในปี 2011 เชิญชวนประชาชนให้งดใช้ถุงพลาสติกในวันเสาร์และอาทิตย์ จากนั้นเพิ่มวันศุกร์ในปี 2012 และวันพฤหัสบดีในปี 2018 

ขยะทะเล: ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน 

ประเทศอาเซียนมีตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากปัญหาหมอกควัน โดยกรณีไฟป่าที่ลุกลามบนเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตันในอินโดนีเซีย สร้างหมอกควันพิษลอยมาปกคลุมทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ จนเป็นที่มาของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน สำหรับขยะพลาสติกในทะเล Dato Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเลขาธิการอาเซียนคนที่ 14 กล่าวว่า “เนื่องจากระบบแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันของประเทศในกลุ่มอาเซียนและแนวชายฝั่งที่เชื่อมโยงกัน ทำให้ (ขยะพลาสติกในทะเล) เป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน” แม้ว่าแต่ละประเทศได้ดำเนินมาตรการเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะมาตรการเพื่อลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทว่าอาเซียนยังไม่มีแผนการควบคุมขยะพลาสติกในทะเลในระดับภูมิภาค  

ปัจจัยข้ามพรมแดนมิได้จำกัดอยู่ที่ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ (ocean science) ที่ส่งผลต่อการสะสมและเคลื่อนที่ของขยะพลาสติกในทะเล มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศก็ทำให้การจัดการขยะทะเลในภูมิภาคมีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือนโยบายจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกของจีนที่ส่งผลให้ขยะจำนวนมากถูกส่งไปยังประเทศปลายทางในอาเซียน นำไปสู่ปัญหาต่อเนื่องซึ่งรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานและวิธีกำจัดที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ การจัดการขยะพลาสติกในทะเลของอาเซียนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากขยะพลาสติกในทะเลเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ส่งผลต่อพลเมืองอาเซียนกว่า 660 ล้านคน  

แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี 2564-2568 

ความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับขยะทะเลเริ่มต้นที่การประชุมอาเซียนว่าด้วยการลดขยะในทะเลที่จัดขึ้นในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ซึ่งประเทศสมาชิกได้ทบทวนสถานการณ์มลพิษทางทะเล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกในทะเล ต่อจากนั้น ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้ปรากฎเป็นวาระสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน (The Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in the ASEAN Region) และกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันของสมาชิกอาเซียนเพื่อลดปริมาณขยะทะเล ความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะผลักดันการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค

แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล หรือ ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris in the ASEAN Member States 2021-2025 ได้รับการพัฒนาในช่วงเดือนตุลาคม 2019 ถึงเดือนกรกฎาคม 2020 ผ่านการกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคนี้เสนอกรอบการดำเนินการโดยเน้นย้ำถึงสถานะปัจจุบันและความท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเผชิญ ตลอดจนระบุแนวทางการจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chains) เพื่อต่อสู้กับการใช้พลาสติกที่ไม่ยั่งยืน การจัดการขยะพลาสติก และมลพิษจากขยะในทะเลในอีก 5 ปีต่อจากนี้ 

ภายในแผนปฏิบัติการฯ กลยุทธ์ในการจัดการกับขยะพลาสติกในทะเลประกอบด้วยการจัดการใน 3 ขั้นตอนสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติก ได้แก่ (1) การลดปัจจัยการผลิตเข้าสู่ระบบ (2) การยกระดับการจัดเก็บและลดการรั่วไหล และ (3) การสร้างมูลค่าการนำขยะกลับมาใช้ใหม่   ขณะที่มาตรการระดับภูมิภาคได้รับการพัฒนาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาพลาสติกที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสนับสนุนนโยบายและการวางแผน (Policy Support and Planning) (2) การวิจัย การเสริมสร้างนวัตกรรมและขีดความสามารถ (Research, Innovation and Capacity Building) (3) การสร้างความตระหนักรู้ การศึกษา และการเผยแพร่ (Public Awareness, Education and Outreach) และ (4) การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (Private Sector Engagement)

มาตรการจัดการขยะทะเล 14 ข้อ ภายใต้ ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris in the ASEAN Member States 2021-2025

แม้ว่าจะมีแผนปฏิบัติระดับภูมิภาคเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเลร่วมกันแล้ว สมาชิกอาเซียนยังต้องเตรียมการรับมือความท้าทายที่อาจจะอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ ดังเช่นการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้ปริมาณการใช้พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นมาก

‘…ผลจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่และการเว้นระยะห่างทางสังคมก็คือ ขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมากที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ชุด PPE หน้ากากอนามัย ถุงมือ และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ไม่เพียงเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่จัดเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม…’

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาตรการการจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐ การรับรู้ของสังคม และการแสดงความรับผิดชอบของภาคเอกชนได้พัฒนาขึ้นมาก นำมาซึ่งความกังวลว่าวิกฤติจาก COVID-19 จะไม่เพียงชะลอการพัฒนาที่เกิดขึ้น แต่อาจทำลายความคืบหน้าและนำสมาชิกอาเซียนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ผลจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่และการเว้นระยะห่างทางสังคมก็คือ ขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมากที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ชุด PPE หน้ากากอนามัย ถุงมือ และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ไม่เพียงเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่จัดเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมท่ามกลางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก งบประมาณและทรัพยากรที่ทุ่มไปกับการจัดการการระบาดของ COVID-19 ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการจัดการขยะโดยเฉพาะการรีไซเคิลพลาสติก ด้วยเหตุนี้ การละเลยประเด็นของขยะพลาสติกที่เชื่อมโยงกับการระบาดของ COVID-19 อาจนำไปสู่สถานการณ์มลพิษจากขยะพลาสติกที่เลวร้ายกว่าเดิม

สุดท้ายนี้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 70 ปีแล้ว แต่พลาสติกที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 ยังคงอยู่ในสภาพแวดล้อม และจะยังอยู่ต่อไปอีกร้อย ๆ ปี ผลกระทบจากขยะพลาสติกต่อระบบนิเวศ ท้ายที่สุดก็จะย้อนกลับมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพ แต่ยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย หวังว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการจัดการขยะทะเลข้ามพรมแดน เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งครอบคลุมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

…เพราะหากทะเลอยู่ไม่ได้ มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร

อ่านบทความและข่าวที่เกี่ยวข้องได้ที่:
สถานการณ์แบนพลาสติกในไทย ที่:
SDG Updates | แบนพลาสติกเพิ่ม: แนวโน้มความสำเร็จหรือล้มเหลว? ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ? และใครบ้างต้องปรับตัว?
ทะเลและขยะพลาสติกในทะเล ที่:
เข้าสู่หมุดหมายใหม่แห่งทศวรรษ: “สมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564 – 2573” (United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021 – 2030)
ผลกระทบของขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีต่อสุขภาพของคน: การศึกษาที่อาจยังขาดหายไป
ตัวอย่างการลงมือจัดการกับขยะพลาสติกในทะเลของภาคเอกชน ที่:
โคคา-โคล่า ร่วมมือกับ The Ocean Cleanup เดินหน้าใช้นวัตกรรมดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลกก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร
NextWave Plastics จับมือคู่แข่งทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายระดับโลกแห่งแรกที่ปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs โดยตรงในเป้าหมายที่
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
-(12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำภายในปี 2573
-(12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงในวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
-(14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเลและมลพิษของสารอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568

ทั้งนี้ โดยความพยายามที่จะมีความร่วมมือระดับภูมิภาคยังสนับสนุน #SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ ในแง่ของผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเลนั้น มีต่อ#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี #SDG8 เศรษฐกิจ และยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิด #SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


เอกสารประกอบการเขียน

ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris in the ASEAN Member States 2021-2025

Geyer, R., Jambeck, J., & Law, K. L. (2017, July 19). Production, use, and fate of all plastics ever made. Science Advances, 3(7). http://doi.org/10.1126/sciadv.1700782

The World Wide Fund for Nature (WWF). (2020). The business case for a UN treaty on plastic pollution. https://www.plasticpollutiontreaty.org/UN_treaty_plastic_poll_report.pdf

Wabnitz, C., & Nichols, W. J. (2010). Editorial: Plastic Pollution: An Ocean Emergency. Marine Turtle Newsletter, 129.

Jambeck, J. R., Geyer, R., Wilcox, C., Siegler, T. R., Perryman, M., Andrady, A., … & Law, K. L. (2015). Plastic waste inputs from land into the ocean. Science, 347(6223), 768-771.

Cleaning up our act
https://www.bangkokpost.com/business/2131951/cleaning-up-our-act

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น