Site icon SDG Move

SDG Vocab | 46 – Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

ตามข้อมูลจาก รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 14 (2560) ซึ่งมีการทบทวนนิยามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) ได้ระบุถึง Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เอาไว้ โดยหากแยกย่อยองค์ประกอบ 3 ข้อ ออกมาให้เห็นชัดขึ้น IUU Fishing หมายถึง

โดยในรายละเอียดเพิ่มเติม ยังรวมถึงการทำประมงที่ปลอมแปลงหรือปกปิดเครื่องหมายทะเบียน หรือทำลายหลักฐานที่ใช้ในการสอบสวน ขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ นำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ามาตรฐานขึ้นเรือหรือขนถ่ายระหว่างเรือ ไปจนถึงการขนถ่ายสินค้าจากเรือประมงที่ผิดกฎหมายประมง การทำประมงที่ไม่เป็นไปตามมาตรการอนุรักษ์

ตลอดจนว่าเรื่องการชัก ‘ธง’ ยังเป็นประเด็นด้วย คือเป็นการชักธงของประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเรือประมงที่ไม่มีสัญชาติ และไม่มีสังกัดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ โดยที่ ‘รัฐ’ ทั้งรัฐเจ้าของธง (Flag State) รัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State) และรัฐชายฝั่ง (Coastal State) รวมถึงมาตรการด้านการค้า หรือรัฐเจ้าของตลาด (Market State) ทั้งหมดนี้จะต้องมีการควบคุมและตรวจสอบเพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมใน IUU และจะต้องตระหนักใน ‘ความรับผิดชอบ’ ของตนเอง เช่น รัฐเจ้าของธงจะต้องควบคุมกิจกรรมการทำประมงของเรือที่ชักธงของรัฐตน และจะต้องรับจดและตรวจทะเบียนเรือประมงทุกประเภท เป็นต้น

โดยนัยของการประมง IUU ที่เป็นการละเมิด หรือการขาดประสิทธิภาพในการควบคุมการทำประมงแบบ IUU นั้น ก็คือประเด็นที่ว่ามันได้ส่งผลให้เกิดการทำประมงเกินขนาด/เกินขีดจำกัด/เกินศักยภาพที่ทะเลจะฟื้นฟู (หรือผลิตใหม่) ได้ทัน (overfishing) กล่าวคือ มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล โดยไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณในการทำประมงอย่างรับผิดชอบของ FAO (FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries – CCRF 1995)

จรรยาบรรณในการทำประมงอย่างรับผิดรับชอบ (1995)

ตามการอธิบายของอาจารย์พวงทอง อ่อนอุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเล อดีตที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จรรยาบรรณนี้มีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการของรัฐ สู่การปฏิบัติหรือควบคุมการปฏิบัติ เพื่อการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ (fish stock) และการประมง เพราะเป็นการเน้นเรื่อง ‘สิทธิการประมง’ ที่ต้องมาพร้อมกับความประพฤติที่มี ‘ความรับผิดชอบ’ ทั้งการใช้ประโยชน์และการผลิตให้ ‘ยั่งยืน’ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ UNCLOS 1982, UN Fish Stocks Agreement 1995, Rio Declaration 1992 เช่น การจับสัตว์น้ำจะต้องไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหาร คุณภาพและโภชนาการของอาหาร และการคงไว้ให้อาชีพการประมงมีความยั่งยืน

ส่วนแผนของสากลที่จะนำมาใช้ควบคุมหรือยับยั้ง IUU เรียกว่า แผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (International Plan of Action to Prevent, Deter, and Eliminate Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing – IPOA-IUU) ที่เน้นว่าประเด็น IUU ต้องได้รับการจัดการ ประสานงาน ร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม ชุมชนประมงพื้นบ้าน/พาณิชย์ รัฐและรัฐ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ทั้งนี้ ไทยเองคุ้นหูกับคำว่า IUU เมื่อช่วงปี 2558 ที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้ ‘ใบเหลือง’ เพราะ  ประเมินว่าไทยยังดำเนินการไม่เพียงพอในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงแบบ IUU และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศและมาตรฐานของสหภาพยุโรปได้ โดยหากไม่มีการปรับปรุงอีก (ได้ใบแดง) ก็จะทำให้เกิดปัญหาทางการค้าสินค้าทะเลระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ไทยได้เร่งดำเนินการแก้ไขทั้งด้านกฎหมาย ระบบฐานข้อมูล ทรัพยากรทะเลและเรือ และการประสานงาน ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทยในวันที่ 8 มกราคม 2562

โดยสิ่งที่ไทยผลักดันให้เกิดขึ้น มีอาทิ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม พ.ศ. 2558 – 2562 (Thailand National Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing 2015 – 2019 หรือ Thailand NPOA – IUU 2015 – 2019)

ถึงกระนั้น ความยุ่งยากและซับซ้อนของไทยในการจัดการกับ IUU ก็มีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานประมงและการค้ามนุษย์ ที่สหภาพยุโรปมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการให้ใบเหลืองด้วย ทว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในจรรยาบรรณของ FAO และกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ UNCLOS 1982

‘การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG14 – (14.4) ให้กำกับอย่างมีประสิทธิผลในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลาย และดำเนินการให้เป็นผลตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูประชากรปลา (fish stocks) ในเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถจับสัตว์น้ำได้อย่ำงยั่งยืนสูงสุด (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น ภายในปี 2563’

Target 14.4: By 2020, effectively regulate harvesting and end overfishing, illegal, unreported and unregulated fishing and destructive fishing practices and implement science based management plans, in order to restore fish stocks in the shortest time feasible, at least to levels that can produce maximum sustainable yield as determined by their biological characteristics


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 14 (2560)
เอกสารจากสัมมนา ‘ใบเหลือง IUU Fishing ต่อประเทศไทยจบแล้วหรือยัง’ 6 ส.ค. 2562 สถาบันกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 1) (thaipublica)
EU-IUU หลุมพรางการพัฒนาการทำประมงอย่างยั่งยืน: กรณีประเทศไทย (ตอนที่ 3) (thaipublica)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version