หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ได้เสนอร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้ ‘การบำบัดเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ’ (LGBT conversion therapy) ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) หรือการแสดงออกทางเพศ (gender expression) ให้มีความผิดทางกฎหมาย โดยตั้งโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีนั้น
● อ่านเพิ่มเติมที่: นิวซีแลนด์เสนอกฎต้านบำบัด เปลี่ยนรสนิยมทางเพศ (ไทยรัฐ) และ New Zealand introduces bill to outlaw LGBT conversion therapy (Reuters)
มาในเดือนนี้ นิวซีแลนด์รุดไปอีกก้าวด้วยการผลักดันร่างกฎหมายที่ผนวกให้มีกระบวนการ ‘การกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง’ (self-identification) ทั้งในการแจ้งเกิด การตาย การสมรส และความสัมพันธ์ (Births, Deaths, Marriages and Relationships Registration Bill) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการหารือในรัฐสภาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญที่เสนอให้บุคคลหนึ่งสามารถเปลี่ยน/กำหนดเพศในใบแจ้งเกิดของตนได้ เป็นการสะท้อนว่านิวซีแลนด์ตระหนักถึงประเด็นเพศสภาพอย่างเป็นทางการ และให้ความสำคัญกับกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender) นอน-ไบนารี่หรือผู้ที่มีสำนึกทางเพศไม่ใช่ทั้งเพศชายหรือหญิง (non-binary) และอินเตอร์เซ็กหรือผู้ที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถระบุเพศได้ (intersex)
ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2560 และในปี 2561 รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยโดยการสนับสนุนของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ได้เสนอให้พัฒนาแนวคิดการกำหนดอัตลักษณ์ของตนเองเป็นกระบวนการหนึ่งในร่างกฎหมายนี้ สืบเนื่องมาจากคำร้องที่ได้รับจากประชาชน ต่อมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อปี 2562 แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งความพยายามอีกครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเพศของบุคคลในใบเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลายาวนานและมีความซับซ้อน Jan Tinetti รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของนิวซีแลนด์ตระหนักว่าข้อมูลที่ปรากฎในใบแจ้งเกิดนั้นเป็นสาเหตุของความเครียดในบางกลุ่มคนได้ จึงเป็นที่คาดหวังว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยาวนานและความซับซ้อนในการดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการในศาลครอบครัว และไม่ต้องมีใบรับรองทางการแพทย์หรือหลักฐานทางการแพทย์เพื่อยืนยันเรื่องเพศ
โดยหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้จริง ประชาชนจะสามารถดำเนินการ ‘ระบุเพศ’ ได้โดยตรงกับนายทะเบียนเพื่อเปลี่ยนเพศในใบแจ้งเกิด โดยในภาพรวมของกระบวนการกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง จะช่วยปรับปรุงการให้บริการของรัฐทางออนไลน์ การปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูล (อาทิ การเกิด การตาย การสมรส) ทางออนไลน์ เป็นการปรับภาษาของกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น กล่าวคือ เป็นการสนับสนุนให้กระทรวงมหาดไทยให้บริการที่มี (อัตลักษณ์ของ) ลูกค้า (หรือประชาชน) เป็นศูนย์กลางมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ชุมชนความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ร่างกฎหมาย ‘การกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง’ ยังเปิดรับความคิดเห็นของชุมชนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเมารี (Māori) กลุ่มชาติพันธุ์ในแปซิฟิก ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เกิดในนิวซีแลนด์ แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางของเว็บไซต์ของรัฐบาลได้ด้วย
● เข้าถึงรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวได้ ที่นี่
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
SDG 101 | รู้หรือไม่? ความเท่าเทียมทางเพศตาม SDG 5 ยังไม่ครอบคลุมถึง LGBTQI
SDG Updates | ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศเดินหน้าไปถึงไหน (*2563*)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
-(5.c) เลือกใช้และส่งเสริมนโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ/ไม่เท่าเทียม
-(10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี 2573
-(10.3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันที่มีประสิทธิผล
-(16.9) จัดให้มีอัตลักษณ์ทางกฎหมายสำหรับทุกคน โดยรวมถึงการให้มีสูติบัตรภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
New Zealand moves closer to passing ‘self-identification’ law (euronews.com)
Simple self-identification one step closer (beehive.govt.nz)
The Births, Deaths, Marriages, and Relationships Registration Bill (Department of Internal Affairs, NZ)
Last Updated on สิงหาคม 13, 2021