2 ล้านล้านยูโรต่อปีคืองบประมาณที่ยุโรปใช้ไปกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือคิดเป็น 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน โดยเฉลี่ยแล้ว 15% ของงบประมาณมหาวิทยาลัยรัฐในยุโรปใช้จ่ายไปกับการซื้อสินค้า บริการ และงานต่าง ๆ โดยที่สถาบันการศึกษาใหญ่ ๆ อาจจะใช้งบประมาณถึง 300 ล้านยูโรต่อปี ขณะที่ในปัจจุบัน ผลการสำรวจของ European University Association (EUA) พบว่า สถาบันการศึกษาในยุโรป 38% ของ 305 สถาบันการศึกษาที่ทำการสำรวจ มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนแล้ว ขณะที่ 48% เริ่มดำเนินการไปบ้างเพียงเล็กน้อยนั้น
หมายความว่า หากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดเกณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนในมิติ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน (sustainable procurement) ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ เพื่อเป็นกฎและกระบวนการสำหรับพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ ก็จะสามารถช่วยปรับเป็นแนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่มาตรฐานใหม่ที่มีร่วมกันต่อไป เช่น การกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการหนึ่งที่เป็นการคำนึงถึงการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบริการนั้น มากกว่าที่จะเลือกจากข้อเสนอที่มีราคาถูกที่สุด เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมจะส่งผลดีให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัยให้ยั่งยืนขึ้นได้
ทั้งนี้ โดยรายละเอียดความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างของมหาวิทยาลัยนั้น มีหลากหลายโดยครอบคลุมตั้งแต่
- โครงสร้างพื้นฐานของวิทยาเขตนั้น (campus) อันหมายรวมถึงการพัฒนา การซ่อมบำรุง ตึกอาคาร อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬา เป็นต้น
- งานด้านการวิจัยและนวัตกรรม อันหมายรวมถึงอุปกรณ์ วัสดุ ระบบห้องสมุด ห้องทดลอง ฐานข้อมูล เป็นต้น
- งานด้านการเรียนรู้และการสอน อันหมายรวมถึงการทำให้เป็นดิจิทัล (digitalisation) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ อุปกรณ์และสื่อการสอน การรับนักศึกษาเข้าเรียน เป็นต้น
- การบริหารจัดการและปฏิบัติการ อันหมายรวมถึงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การจัดทำบัญชีเงินเดือน การเดินทางและเคลื่อนย้าย เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
หากดูตัวอย่างจากกรณีของสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยรัฐในสหภาพยุโรป จะเห็นว่า งบประมาณสอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของสหภาพยุโรป ที่เน้นการใช้งบประมาณไปกับประเด็นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พร้อมกับที่สอดคล้องและเป็นไปตามขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างของประเทศนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มีนโยบาย แผน มาตรการ และกฎ อาทิ
- กฎการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศพัฒนาจากเกณฑ์การเลือกข้อเสนอที่ถูกที่สุด มาเป็นเรื่องของ ‘คุณค่า’ ที่ตระหนักถึงความยั่งยืน
- แผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่ยั่งยืนด้วย
- มหาวิทยาลัยกับการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Bordeaux ในฝรั่งเศส มีแผนจัดซื้อจัดจ้างระยะ 3 ปี ที่เน้นพัฒนาการจัดซื้อที่ยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม University College Cork ในไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจ ใช้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืนของตน เป็นอิทธิพลส่งต่อให้ผู้จัดหา (suppliers) และผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยให้มีความยั่งยืนขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อมหาวิทยาลัยทั้งหมดมีทั้งความมุ่งมั่น มีการออกคำสั่ง นโยบาย งบประมาณ และการลงมือทำ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและบรรลุความยั่งยืนได้
● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้องที่:
SDG Vocab | 40 – Sustainable Procurement – การจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.7) ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ยั่งยืนตามนโยบายและการให้ลำดับความความสำคัญของประเทศ
แหล่งที่มา:
Why sustainable procurement may make universities greener (university world news)
Last Updated on สิงหาคม 13, 2021