SDG Insights | จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกต้องเผชิญอุทกภัยในวันที่ COVID-19 ยังรุมเร้า

อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ[1]

ขณะที่โลกกำลังต่อสู้และพยายามปรับตัวกับความปกติใหม่ (New Normal) จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มายาวนานเกือบสองปี ในเวลาเดียวกันความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมกำลังภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ท้าทายความมั่นคงในระดับรัฐและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยครั้งใหญ่ได้ปรากฏขึ้นทั่วโลก เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในทวีปยุโรปที่กระทบต่อทั้งประเทศเยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ น้ำท่วมครั้งนี้ได้ทำลายและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลจนนักวิทยาศาสตร์ยังประหลาดใจ และในเอเชียก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน อุทกภัยและดินถล่มในอินเดีย ทั้งสามเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับภัยพิบัติสองด้าน คือ ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ..


อุทกภัยคืออะไร 

อุทกภัย‘ หรือ น้ำท่วม (Flood) หมายถึง การสะสมของน้ำบนพื้นดินแห้ง สาเหตุเกิดจากการเอ่อล้นของน้ำเข้ามาในแผ่นดินจากแม่น้ำและลำธาร เหตุการณ์น้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ หรือจากการสะสมของปริมาณน้ำที่มากผิดปกติจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น ฝนตกหนัก หรือเหตุการณ์เขื่อนแตก  (Denchak, 2019) สภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐอเมริกา (The Natural Resources Defense Council) (2019) ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อปกป้องโลก ทั้งผู้คน พืช สัตว์ และระบบธรรมชาติ ได้แบ่งประเภทของน้ำท่วมไว้สี่ประเภทดังนี้

  1. น้ำท่วมจากแม่น้ำ (River Flooding) เกิดขึ้นเมื่อแม่น้ำหรือลำธารมีมวลน้ำจำนวนมากไหลมาตามธรรมชาติและเกิดน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นดินตามฝั่งแม่น้ำ เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ (ในยุโรป) และในฤดูฝน น้ำท่วมจากแม่น้ำอาจมีสาเหตุมาจากฝนตกหนัก หิมะละลายอย่างรวดเร็ว หรือการติดขัดของน้ำแข็ง จากการศึกษาพบว่าประชาชนประมาณ 41 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงที่จะประสบภัยจากน้ำท่วมจากประเภทนี้
  2. น้ำท่วมชายฝั่ง (Coastal Flooding) หมายถึงปริมาณน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่บริเวณชายฝั่ง เกิดขึ้นเมื่อลมพายุพัดจากมหาสมุทรเข้าสู่ชายฝั่ง เช่น พายุเฮอริเคน หรือคลื่นพายุที่พัดนำกำแพงน้ำจากมหาสมุทรเข้าสู่พื้นดิน ซึ่งคลื่นพายุสามารถก่อความสูญเสียได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ น้ำทะเลหนุนที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในลักษณะที่ไม่รุนแรงนัก แต่หากน้ำทะเลหนุนสูงมาก ก็อาจเกิดอุทกภัยในระดับที่สร้างความเสียหายได้ 
  3. น้ำท่วมฉับพลัน (Flash Floods) และน้ำป่าไหลหลาก มักเกิดจากฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ (ปกติไม่เกิน 6 ชั่วโมง) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก ที่ราบระหว่างหุบเขา และพื้นที่ที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือต้านน้ำได้ พื้นที่ลุ่มต่ำจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษหากระบบการระบายน้ำไม่ดี นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเขื่อนแตกหรือน้ำล้นอย่างกะทันหัน อันเนื่องจากมีเศษซากหรือน้ำแข็งขัดขวางทางระบายน้ำได้ โดยธรรมชาติ การเกิดน้ำท่วมฉับพลันนั้นมีอันตรายเพราะกระแสน้ำมีความรุนแรงสูงและไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ ประชาชนจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการเตือนเพื่อให้ป้องกันและอพยพได้ทันเวลา และก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด
  4. น้ำท่วมในเมือง (Urban Flooding) หมายถึงน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมชายฝั่ง หรือน้ำท่วมจากแม่น้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเมืองหรือพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น น้ำล้นในเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำในท้องถิ่น น้ำฝนจำนวนมหาศาลจึงไหล่บ่าลงถนน ลานจอดรถ อาคาร และพื้นผิวแห้งต่าง ๆ และไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ แต่ระบบระบายน้ำในเมืองไม่สามารถรองรับมวลน้ำขนาดใหญ่ได้ ทำให้น้ำระบายไม่ทันหรือเกิดปรากฏการณ์ “น้ำรอระบาย” จนกลายเป็นน้ำท่วมขังในเมือง

อุทกภัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ปัญหาอุทกภัยมีความสอดคล้องกับ 3 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SGDs) ดังนี้ 

#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) ที่เน้นเป้าหมายของการที่คนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ปัญหาอุทกภัยก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ SGDs จึงต้องการเสริมขีดความสามารถให้ทุกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากในน้ำท่วมมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกปะปนมาจำนวนมากส่งผลให้เกิดโรคระบาดตามมาได้

#SDG6 การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัย (Clean Water and Sanitation) คือการสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำสะอาดและสุขอนามัยสำหรับทุกคน มีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 6.4 ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและการจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำให้ได้ภายในปี 2030 และเป้าหมายย่อย 6.6 การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบภายในปี 2020 

#SDG11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) คือการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในชุมชนมีความครอบคลุม ปลอดภัยและยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 11.5 ที่ต้องการลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำโดยมุ่งปกป้องและช่วยเหลือคนจนและกลุ่มเปราะบาง ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วม ภายในปี 2030 


อุทกภัยทั่วโลกกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ความท้าทายด้านสาธารณสุขที่รุนแรงด้านหนึ่งคือการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่อีกด้านหนึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

วิกฤตการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ของ COVID-19 เริ่มต้นที่เมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งมีการรายงานไวรัสครั้งแรกเมื่อปลายปี 2019 ขณะนี้ (6 สิงหาคม 2021) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 201,724,792 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 4,280,666 ราย (Worldometer, 2021) การระบาดใหญ่นี้ทำให้สถานการณ์การควบคุมโรคในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากและมีรายได้ต่ำซึ่งเป็นสังคมที่มีความเปราะบางมากกว่าประเทศอื่น ๆ ย่ำแย่ลง เช่น ในประเทศอินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ การระบาดของ COVID-19 กำลังสั่นคลอนชีวิตมนุษย์ และความเป็นอยู่ที่ดี โรคระบาดจึงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน (Saha & Chakrabarti, 2021) องค์การอนามัยโลกและรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องบังคับใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัดในการจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานออนไลน์ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยการล้างมือบ่อย ๆ และลดกิจกรรมประจำวันนอกเคหะสถานให้มากที่สุด เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ความท้าทายด้านสาธารณสุขที่รุนแรงด้านหนึ่งคือการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่อีกด้านหนึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุไซโคลนแฮโรลด์ (Tropical Cyclone Harold) ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนระดับ 5 ที่มีกำลังแรงมาก[2] ก่อให้เกิดการทำลายล้างเป็นวงกว้าง กระทบต่อหมู่เกาะโซโลมอน วานูอาตู ฟิจิ และตองกาในช่วงเดือนเมษายน 2020 (Mangubhai, Nand, Reddy, & Jagadish, 2021) โรคระบาดทำให้โครงการฟื้นฟูในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากไต้ฝุ่นฮากิบิส (Hagibis) ในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ต้องหยุดชะงักลง และเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น น้ำท่วมที่เกิดจากหิมะละลายในจังหวัดแมนิโทบา (Manitoba Province) และเมืองออตตาวา (Ottawa City) ในประเทศแคนาดาเมื่อปี 2020 น้ำท่วมใหญ่ในยุโรปตะวันตกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ส่งผลกระทบกับหลายเมืองในประเทศเยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดจากฝนตกหนัก แม่น้ำหลายสายไหลเชี่ยว ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 160 คน (Schmidt, Pleitgen, Wojazer, & Ravindran, 2021)

ภาพที่ 1: แผนที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในยุโรปตะวันตกปี 2021
ที่มา: (BBC News, 2021a)

ในเอเชีย สถานการณ์น้ำท่วมตามฤดูกาลมีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม น้ำท่วมตามแนวแม่น้ำแยงซี ประเทศจีนในปี 2020 มักเกิดขึ้นหลังจากฝนตกเป็นเวลานาน และการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานในเดือนกรกฎาคม 2021 มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือมีปริมาณน้ำฝนสูงสุด 201.9 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้ผู้มีเสียชีวิตถึง 302 ราย (มี 12 รายที่เสียชีวิตในรถไฟฟ้าใต้ดิน) สูญหาย 50 คน รวมประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 9.3 ล้านคน และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล (BBC News, 2021b; Gan & Wang, 2021) ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มตามชายฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2021 เกิดจากฝนมรสุมตกหนัก ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมุมไบและรัฐมหาราษฏระ รายงานจาก Humanitarian Aid International เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมระบุว่าเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 209 รายและยังคงสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่มีประชาชนที่ต้องอพยพแล้วถึงกว่าสี่แสนคนจากพื้นที่แปดอำเภอ (Humanitarian Aid International, 2021) ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นอุทกภัยที่มากับฤดูฝนประจำปี แต่ปีนี้อุทกภัยได้เกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (Botzen, Deschenes, & Sanders, 2019; Zhou, Wu, Xu, & Fujita, 2018)

 น้ำท่วมเฉียบพลันในรถไฟใต้ดินเมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน 

น้ำท่วมตามฤดูกาลมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การทำให้เป็นเมือง (Urbanization) และการพัฒนาที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยให้มากขึ้น เช่น ระบบระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดชันในเขตเมืองและเขตชุมชน นอกจากนี้ ในเขตเมืองและเขตชุมชนยังมีความเสี่ยงมากกว่าต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกด้วย (Ishiwatari, Koike, Hiroki, Toda, & Katsube, 2020) การศึกษาของ Han และ He (2021) ตั้งข้อสังเกตว่าน้ำท่วมฉับพลันในสภาพอากาศทร้อนในพื้นที่เขตเมืองทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมตามฤดูกาลส่งผลต่อกิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ การทำลายทรัพย์สิน สร้างความสูญเสียในชีวิตไม่น้อย (Kongmuang, Tantanee, & Seejata, 2020) และทำให้พลเมืองจำนวนมากต้องพลัดถิ่น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในสังคมที่ยากจนและเปราะบาง แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว การศึกษาของ Shen และคณะ (2021) พบว่าในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาอุทกภัยจนทำให้มีพลเมืองชาวอเมริกันกลายเป็นผู้พลัดถิ่นเฉลี่ย 10,729 คนต่อปี โดยเฉพาะในปี 2020 และน้ำท่วมเฉียบพลันในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีนทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นมากกว่า 1.1 ล้านคน นอกจากนี้ ปัญหาอุทกภัยได้เพิ่มความเสี่ยงให้ประชากรพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ยังไม่สามารถจำกัดการระบาดของ COVID-19 ได้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตเมืองนั้นมีการปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลอยู่ด้วย (Shen, Cai, Yang, Anagnostou, & Li, 2021) ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่อาจรับมือกับอุทกภัยแบบเดิมที่เคยทำกันมาท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันได้


การตอบสนองต่อภัยพิบัติในภาวะโรคระบาด COVID-19

เหตุการณ์ภัยพิบัติในภาวะโรคระบาดได้ให้บทเรียนราคาแพงที่มนุษย์สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ การศึกษาของ Ishiwatari และคณะ (2021) พบว่า โดยทั่วไปรัฐบาลและองค์กรจัดการภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ  จะใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ก่อนที่จะมีมาตรการเพิ่มเติมในการจัดการภัยพิบัติ ผลของการทำเช่นนี้กลับทำให้การรับมือกับภัยพิบัติล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปในการบรรเทาความเสียหาย เช่น ประเทศวานูอาตูได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนฮาโรลด์อย่างรุนแรง สภากาชาดสากลและนานาชาติจึงได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ดำเนินการได้ล่าช้าเพราะข้อจำกัดในการเดินทางที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และประชากรเกิดความหวาดกลัวต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ปะปนผ่านสิ่งของและบุคลากรที่ส่งมาช่วยเหลือ (OCHA, 2020) นอกจากนี้ การรับมือกับน้ำท่วมในเมืองออตตาวา ประเทศแคนาดาได้จัดตั้งทีมรับมือกับอุทกภัยแยกต่างหาก ในขณะที่เมืองกำลังตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รัฐบาลท้องถิ่นจึงขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องและประชาชนปฏิบัติตามข้อจำกัดการทำงาน โดยให้เว้นระยะห่างและห้ามทำงานเกินห้าคน เพราะเกรงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หรือประเทศญี่ปุ่นได้รับความความเสียหายจากไต้ฝุ่นฮากิบิสเมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดยพายุไต้ฝุ่นคร่าชีวิตผู้คนไป 100 ราย บ้านเรือนเสียหายกว่า 60,000 หลัง แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องสั่งระงับการทำงานของอาสาสมัครประมาณ 200,000 คน ทำให้ยังไม่ได้ทำความสะอาดชุมชนและซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อพันธุ์เชื้อโรคได้ (Ishiwatari et al., 2020)

Ishiwatari และคณะ (2020) จึงมีข้อเสนอแนะในการรับมือกับภัยพิบัติท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนี้ 

1. รัฐบาลต้องบูรณาการแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) กับนโยบายใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการคุ้มครองและเสริมอำนาจให้กับทุกคน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามหลักการของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) โดยยึดหลักที่ว่าประชาชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแม้ในยามวิกฤต และต้องมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติร่วมกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ (UNDRR Asia-Pacific, 2020)

2. รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการปกป้องชีวิตมนุษย์ทุกคน รวมทั้งองค์กรภาครัฐ และเจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลระทบจากจากอุทกภัยและควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ได้ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีการจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ประสบภัยที่มีความต้องการทรัพยากรที่สำคัญ ได้แก่ เงิน มนุษย์ ความช่วยเหลือ และอุปกรณ์เครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการมากกว่าก่อนการระบาดของ COVID-19 พร้อมกันนั้นรัฐบาลต้องรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในขณะที่ปฏิบัติงานในการจัดการภัยพิบัติ รัฐบาลต้องมีสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่พนักงานและอาสาสมัคร เช่น การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ การจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม ปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 

3. การร่วมมือและการประสานงานกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสาธารณสุข เพราะมีความสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 ในขณะที่จัดการภัยพิบัติ ทุกภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องมีการประสานงานเพื่อให้กลไกการจัดการภัยพิบัติมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ (War Room) เพื่อประสานงานองค์กรต่าง ๆ ในแบบองค์รวมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

4. หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีการแบ่งปันข้อมูลความเสี่ยงกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตอบสนองต่อโรคระบาดและภัยพิบัติ เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 มีอยู่อย่างจำกัด การแบ่งปันข้อมูลบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงข่าวลือและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุข น้ำ และภัยพิบัติมีส่วนร่วมในนโยบายและกระบวนการตัดสินใจเช่นกัน (Djalante, Shaw, & DeWit, 2020)

5. รัฐบาลต้องมุ่งเน้นไปดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษทั้งในภาวะโรคระบาดและภัยพิบัติ กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจาก COVID-19  และคนยากจนมักได้รับผลกระทบด้านลบมากกว่าผู้อื่น นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดก็มีความเสี่ยงสูงเพราะฐานะที่ยากจน อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่เหมาะสมได้  รัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นต้องปรับปรุงสถานบริการสุขภาพที่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ให้เป็นไปตามมาตรการสุขอนามัย และมาตรฐานการจัดการภัยพิบัติ (Cannon, 2006; The Lancet, 2020, p. 19)


สรุป

การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับมืออุทกภัยในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การช่วยเหลือผ่านองค์กรจัดการภัยพิบัติและการจัดการน้ำและองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสุขภาพได้จัดทำแนวทางในการตอบสนองต่อภัยพิบัติในภาวะการระบาดของ COVID-19 แต่กลับพบว่าการรับมือจากภัยทั้งสองด้านกลับไม่ประสบความสำเร็จหากแยกส่วนกันทำ ดังนั้น รัฐบาล องค์กรและชุมชนท้องถิ่นจึงต้องมีบทบาทสำคัญและร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเสี่ยงบนฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติ เพื่อดำเนินมาตรการในการจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อจำกัดในสภาวะการระบาดของ COVID-19 


เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร


[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] Australian tropical cyclone intensity scale แบ่งความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งระดับที่ 5 ถือเป็นความความรุนแรงระดับสูงที่สุด คือ มีความเร็วลมอย่างน้อย 108 kn (124 mph; 200 km/h)


เอกสารอ้างอิง

BBC News. (2021a). Germany floods: Where are the worst-hit areas? BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-57862894

BBC News. (2021b). China floods: 12 dead in Zhengzhou train and thousands evacuated in Henan. BBC News. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-asia-china-57861067

Botzen, W. J. W., Deschenes, O., & Sanders, M. (2019). The Economic Impacts of Natural Disasters: A Review of Models and Empirical Studies. Review of Environmental Economics and Policy13(2), 167–188. https://doi.org/10.1093/reep/rez004

Cannon, T. (2006). Vulnerability analysis, livelihoods and disasters. In RISK21—Coping with Risks due to Natural Hazards in the 21st Century. CRC Press.

Denchak, M. (2019). Flooding and Climate Change: Everything You Need to Know. Retrieved August 5, 2021, from NRDC website: https://www.nrdc.org/stories/flooding-and-climate-change-everything-you-need-know

Djalante, R., Shaw, R., & DeWit, A. (2020). Building resilience against biological hazards and pandemics: COVID-19 and its implications for the Sendai Framework. Progress in Disaster Science6, 100080. https://doi.org/10.1016/j.pdisas.2020.100080

Gan, N., & Wang, Z. (2021). China flooding: Death toll rises in Henan as passengers recount horror of Zhengzhou subway floods—CNN. CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/07/22/china/zhengzhou-henan-china-flooding-update-intl-hnk/index.html

Humanitarian Aid International. (2021). Current situation on Maharashtra Floods and Landslides (Date: 03-08-2021) – India. ReliefWeb. Retrieved from ReliefWeb website: https://reliefweb.int/report/india/current-situation-maharashtra-floods-and-landslides-date-03-08-2021

Ishiwatari, M., Koike, T., Hiroki, K., Toda, T., & Katsube, T. (2020). Managing disasters amid COVID-19 pandemic: Approaches of response to flood disasters. Progress in Disaster Science6, 100096. https://doi.org/10.1016/j.pdisas.2020.100096

Kongmuang, C., Tantanee, S., & Seejata, K. (2020). Urban flood hazard map using gis of muang sukhothai district, Thailand. Geographia Technica15, 143–152. https://doi.org/10.21163/GT_2020.151.13

Mangubhai, S., Nand, Y., Reddy, C., & Jagadish, A. (2021). Politics of vulnerability: Impacts of COVID-19 and Cyclone Harold on Indo-Fijians engaged in small-scale fisheries. Environmental Science & Policy120, 195–203. https://doi.org/10.1016/j.envsci.2021.03.003

OCHA. (2020). Pacific Humanitarian Team—Tropical Cyclone Harold Situation Report #5, 11 April 2020—Vanuatu. Retrieved from https://reliefweb.int/report/vanuatu/pacific-humanitarian-team-tropical-cyclone-harold-situation-report-5-11-april-2020

Saha, S., & Chakrabarti, S. (2021). The Non-traditional Security Threat of COVID-19 in South Asia: An Analysis of the Indian and Chinese Leverage in Health Diplomacy. South Asian Survey28(1), 111–132. https://doi.org/10.1177/0971523121998027

Schmidt, N., Pleitgen, F., Wojazer, B., & Ravindran, J. (2021). More than 150 people still missing in German floods unlikely to be found, officials fear. CNN. Retrieved from https://www.cnn.com/2021/07/22/europe/germany-belgium-europe-floods-death-climate-intl/index.html

Shen, X., Cai, C., Yang, Q., Anagnostou, E. N., & Li, H. (2021). The US COVID-19 pandemic in the flood season. The Science of the Total Environment755, 142634. https://doi.org/10.1016/j.scitotenv.2020.142634

The Lancet. (2020). Redefining vulnerability in the era of COVID-19. Lancet (London, England)395(10230), 1089. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)30757-1

UNDRR Asia-Pacific. (2020). UNDRR Asia-Pacific COVID-19 Brief: Leave no One Behind in COVID-19 Prevention, Response and Recovery. United Nations Office for Disaster Risk Reduction – Regional Office for Asia and Pacific. Retrieved from United Nations Office for Disaster Risk Reduction – Regional Office for Asia and Pacific website: https://www.undrr.org/publication/undrr-asia-pacific-covid-19-brief-leave-no-one-behind-covid-19-prevention-response-and

Worldometer. (2021). COVID Live Update: 201,724,792 Cases and 4,280,666 Deaths from the Coronavirus – Worldometer. Retrieved August 6, 2021, from https://www.worldometers.info/coronavirus/

Zhou, L., Wu, X., Xu, Z., & Fujita, H. (2018). Emergency decision making for natural disasters: An overview. International Journal of Disaster Risk Reduction27, 567–576. https://doi.org/10.1016/j.ijdrr.2017.09.037

Last Updated on สิงหาคม 14, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น