ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เป็นคำที่ใช้อธิบายความหลากหลายของประเภทของสิ่งมีชีวิต/อินทรีย์ (organisms) และสปีชีส์สัตว์ พืช เชื้อรา จุลชีพ จำนวนมหาศาลตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสามารถพบได้ในพื้นที่หนึ่งและองค์ประกอบเหล่านี้ทำงานร่วมกันและเกื้อกูลกันเป็นโครงข่ายโยงใยในระบบนิเวศเพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลและสนับสนุนการมีชีวิตของกันและกัน
ทั้งนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่หนึ่ง/ในระบบนิเวศหนึ่ง อาทิ ระบบนิเวศบนบก (terrestrial ecosystem) และระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดิน (inland freshwater ecosystem) เช่น ในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ทุ่งหญ้า ทะเลสาบ เขตทุนดรา เป็นต้น ระบบนิเวศภูเขา (mountain ecosystem) ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง (marine and coastal ecosystems) ล้วนประกอบสร้างขึ้นเป็น ‘สิ่งแวดล้อม’ ของโลก
- ระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดิน – ปรากฏใน #SDG15 – (15.1)
- ระบบนิเวศภูเขา – ปรากฏใน #SDG15 – (15.4)
- ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง – ปรากฏใน #SDG14 – (14.2)
และในบางพื้นที่ของโลกอาจมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าพื้นที่อื่น เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีมากในเม็กซิโก แอฟริกาใต้ บราซิล ตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ และมาดากัสการ์ เป็นต้น ซึ่งในพื้นที่ที่มีระดับความหลากหลายทางชีวภาพมากหรือที่เรียกว่า ‘จุดฮอตสปอต’ นั้น มักเป็นแหล่งที่พบสายพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic species) ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพในโลกยังมีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าน่าจะมีสปีชีส์สัตว์และพืชราว 8.7 ล้านสปีชีส์ ทว่ามีเพียง 1.2 ล้านสปีชีส์เท่านั้นที่มีการค้นพบและให้คำอธิบาย และส่วนมากเป็นสปีชีส์จำพวกแมลง หมายความว่ายังมีอีกหลายล้านสปีชีส์ที่รอการค้นพบ ถึงกระนั้น สปีชีส์ที่ค้นพบแล้วในปัจจุบันนี้กลับเผชิญกับการคุกคามและบางส่วนเข้าใกล้ขั้นสูญพันธุ์ โดยที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมและการบริโภคของมนุษย์ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเรียกได้ว่าตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้ประเมินว่าครึ่งหนึ่งของสปีชีส์ทั่วโลกจะมลายหายไปในภายใน 100 ปีจากนี้
ทำให้การอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ สปีชีส์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และแหล่งที่อยู่อาศัย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะว่าความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมมนุษย์ในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค และที่พักอาศัย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นพื้นฐานและสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย อาทิ
- เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในการทำการเกษตรและขจัดความยากจนสำหรับชนพื้นเมือง ชุมชน ผู้หญิง และกลุ่มต่าง ๆ ตาม #SDG1
- ส่งผลต่อการมีงานทำ เศรษฐกิจที่เติบโต และการเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกันลง ตาม #SDG8 และ #SDG10
- ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเป็นความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพื่อยุติความหิวโหย ตาม #SDG2
- เป็นต้นธารของของลดมลพิษ/มลภาวะทางอากาศ น้ำ และดิน ที่สนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ตาม #SDG3
- และเป็นแหล่งน้ำ ตาม #SDG6
(อ่านต่อที่: BIODIVERSITY AND THE 2030 AGENDA FOR SUSTAINABLE DEVELOPMENT)
ทั้งนี้ โดยที่มีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(Convention on Biological Diversity – CBD) เป็นความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์ และพันธุกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งยังครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพด้วย อาทิ วิทยาศาสตร์ การเมือง การศึกษา ธุรกิจ และวัฒนธรรม
‘#SDG15 – ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน บริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นสภาพความเสื่อมโทรมของดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ’
SDG15 – Protect, restore and promote sustainable use of terrestrial ecosystems, sustainably manage forests, combat desertification, and halt and reverse land degradation and halt biodiversity loss
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา :
What is biodiversity? (WWF)
Biodiversity (National Geographic)
Convention on Biological Diversity, key international instrument for sustainable development (UN)
Why Biodiversity Matters: Mapping the Linkages between Biodiversity and the SDGs (IISD)
Last Updated on มกราคม 3, 2022