การศึกษา ‘No future, no kids–no kids, no future?’ จากมหาวิทยาลัย Arizona ระบุว่าการบริโภคที่มากเกิน (overconsumption) ประชากรโลกที่มากเกิน (overpopulation) และอนาคตที่ไม่แน่นอน เป็น 3 แรงจูงใจหลักของครอบครัวที่ให้ความสำคัญหรือตระหนักกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมองว่ามีผลต่อการตัดสินใจวางแผนครอบครัวและเลือกที่จะไม่มีลูก (childfree)
เพราะข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่นั้น มีปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ ปัจจัยด้านการเงิน ระบบสังคมที่พร้อมจะสนับสนุน และคุณค่าส่วนบุคคลที่ยึดถือ นอกจากนั้น บางครอบครัวเริ่มกังวลว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเมื่อโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบมากขึ้น จึงนับรวมประเด็นนี้เป็นหนึ่งในการพิจารณาด้วย
ทางทีมผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ความคิดเห็นของชาวอินเตอร์เน็ตที่ตอบกลับบทความเกี่ยวกับการตัดสินใจไม่มีลูกเพราะความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคัดออกมาเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18 – 35 ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องนี้ และได้ทำการสัมภาษณ์อีกในนิวซีแลนด์และสหรัฐฯ โดยผลออกมาเป็น 3 กลุ่มปัจจัยหรือแรงจูงใจสำคัญ ได้แก่
- การบริโภคที่มากเกิน – เป็นประเด็นที่ผู้ให้สัมภาษณ์คิดเห็นเหมือน ๆ กัน โดยเกือบจะทุกคำตอบมองว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนักหน่วง ทำให้ทรัพยากรพื้นฐานอย่างอาหารและน้ำขาดแคลนในอนาคต อีกทั้งยังกังวลว่าเด็ก ๆ ที่จะเกิดมานั้นจะยิ่งขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติจนทำให้มีรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่
- ประชากรโลกที่มากเกิน – เป็นประเด็นความกังวลที่แพร่หลาย โดยบางครอบครัวกังวลว่าถ้ามีลูกสองคนจะเป็นการสร้างปัญหาให้โลกหรือเห็นแก่ตัวเกินไปหรือไม่ ขณะที่บางครอบครัวมองว่าอาจจะเลือกทางเลือก ‘รับบุตรบุญธรรม’ ดีกว่า เพราะเป็นทางเลือกที่สร้างคาร์บอนน้อยกว่า (low-carbon alternative) กล่าวคือ ไม่มีลูกเพิ่มที่จะเป็นการผลิตประชากรใหม่เพื่อใช้ทรัพยากร/สิ่งแวดล้อมหรือสร้างรอยเท้าคาร์บอนให้มากขึ้นอีก แต่ใช้วิธีรับคนที่มีอยู่เดิมแล้วมาดูแลแทน
- อนาคตที่ไม่แน่นอน – เป็นความเห็นที่มองว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ เพราะไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลอย่างไรหรือจะมีการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ และคงจะรู้สึกผิดในทางศีลธรรมและจริยธรรมที่จะให้ลูกเกิดและเติบโตในอนาคตที่ไม่แน่นอนเช่นนั้น
ถึงกระนั้น แรงจูงใจดังกล่าวก็ปะปนกับ ‘ความหวัง’ ด้วย โดยมองว่าไอเดียของการมีลูกนั้นเป็นแสงสว่างที่ให้ความหวังว่าอนาคตจะต้องดีขึ้นแน่นอน หรือมีความหวังกับเด็กรุ่นต่อไปที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาโดยตระหนักถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้น
ส่วนทีมผู้ศึกษามองว่า การเข้าใจว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจวางแผนครอบครัวและการมีลูก/ไม่มีลูกอย่างไร เป็นความพยายามทำความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อ ‘จิตใจและความรู้สึก’ ของปัจเจกบุคคล เนื่องจากอาการความกังวลและความกระสับกระส่ายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นมุมมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงนอกเหนือจากปรากฎการณ์ทางอากาศ/สภาพภูมิอากาศ แต่ยังรวมถึงด้านสาธารณสุข และถือเป็นการช่วยเปิดบทสนทนาให้คนเริ่มหันมาตระหนักและพูดถึงประเด็นนี้กันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ในด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
– (3.7) ในด้านการวางแผนครอบครัวและการวางแผนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2573
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งที่มา:
Why Climate Change is Driving Some to Skip Having Kids (university of Arizona)