มะลาละห์ ยูซัฟซัย: ‘เราอาจมีเวลาเถียงกันเรื่องอัฟกานิสถานมาถึงจุดนี้ได้ยังไง แต่เสียงร้องของผู้หญิงและเด็กหญิงชาวอัฟกัน รอเวลาไม่ได้แล้ว’

มะลาละห์ ยูซัฟซัย (Malala Yousafzai) ชาวปากีสถานผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2557 ผู้รอดชีวิตจากการเผชิญหน้ากับตาลีบัน และปัจจุบันเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านการศึกษา ได้ตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่กลุ่มตาลีบันเข้าครองอำนาจการปกครองในอัฟกานิสถาน ว่านอกจากบรรดาผู้นำโลกจะต้องแสดงออกอย่างแข็งขันและเข้ามาปกป้องพลเมือง ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ และเปิดพรมแดนรับผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันแล้ว ยังมีประเด็นที่จะต้องตระหนักถึงเป็นสำคัญอย่างการลิดรอน/จำกัดสิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน การที่ต้องปกปิดตัวตนหรือถูกกีดกันไม่ให้ไปโรงเรียนหรือทำงาน และความรู้สึก ‘หวาดกลัว’ กับปัจจุบันและอนาคตที่อันตรายภายใต้ระบอบของตาลีบันอีกครั้ง

‘ผู้หญิงชาวอัฟกันมีความกล้าหาญ เข้มแข็ง และส่งเสียงมาโดยเสมอ เราทุกคนจะต้องให้โอกาสและเวลากับพวกเธอมากขึ้น ให้ได้ส่งเสียงบอกเราว่าโลกจะต้องทำอะไรเพื่อพวกเธอบ้าง และเพื่อสันติภาพของอัฟกานิสถาน’

– มะลาละห์ ยูซัฟซัย

ข้อเขียนของมะลาละห์ ยูซัฟซัยที่เธอเขียนเผยแพร่ใน New York Times ช่วยฉายภาพให้เห็นสถานการณ์และความเป็นอยู่ของผู้หญิงและเด็กหญิงในอัฟกานิสถานได้ดีขึ้น รวมถึงข้อเรียกร้องและความเป็นไปได้ที่จะช่วยเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง

ในด้านการศึกษา ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวอัฟกันหลายล้านคนได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนและได้รับการศึกษาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่การที่กลุ่มตาลีบันซึ่งเคยกีดกันผู้หญิงและเด็กหญิงไม่ให้ได้ไปโรงเรียนรวมถึงลงโทษพวกเธออย่างรุนแรง ในตอนนี้สามารถหวนคืนกลับเข้าสู่อำนาจ ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีถูกตั้งคำถามอีกครั้ง ผู้คนต่างกังวลว่าจะได้ไปโรงเรียนอีกหรือไม่ จะได้อ่านหนังสืออีกหรือไม่ หรือจะได้กลับไปทำงานตามปกติอีกหรือไม่ ความหวาดกลัวได้แพร่ขยายนับเป็นหนึ่งประเด็นหลักเมื่อเราพูดถึงสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน

มะลาละห์ ยูซัฟซัย มองว่า แม้ตาลีบันจะแถลงอธิบายว่าจะไม่ละเลยและไม่ปฏิเสธสิทธิในการศึกษาและสิทธิในการทำงานของผู้หญิงและเด็กหญิง แต่ตาลีบันเองก็มีประวัติที่เคยกดขี่สิทธิสตรีมาก่อน และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความหวาดกลัวของผู้หญิงและเด็กหญิงอัฟกันนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะข้อมูลรายงานในตอนนี้ก็มีที่ชี้ว่า มีเด็กหญิงที่ไม่สามารถกลับไปยังมหาวิทยาลัยได้ และผู้หญิงไม่สามารถกลับไปยังที่ทำงานได้ ตามที่เธอได้พูดคุยกับนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาในอัฟกานิสถานหลาย ๆ คน

นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งมีความเห็นว่า ตาลีบันจะต้องมีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่ามีอะไรที่สามารถอนุญาตให้ผู้หญิงและเด็กหญิงทำได้ เพราะนั่นจะเป็น ‘ข้อตกลง’ หรือสิ่งที่ยืนยันว่าผู้หญิงและเด็กหญิงจะมี ‘สิทธิ’ ที่แท้จริง ที่จะได้เรียนจนจบ สามารถเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ สามารถไปมหาวิทยาลัยและทำงานที่เธอเป็นคนเลือกเองได้ โดยไม่ใช่สิทธิในการศึกษาทางศาสนาแต่เพียงเท่านั้น (religious-only education) โดยนักเคลื่อนไหวคนดังกล่าวกังวลว่าการศึกษาดังกล่าวไม่อาจนำมาซึ่งทักษะและการบรรลุความฝัน ที่สุดท้ายหมายความว่าประเทศอาจจะไม่มีแพทย์ วิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์

‘ปกติแล้วเราจะรณรงค์เรื่องการศึกษากัน มาในวันนี้ เราต้องมาหาเต็นท์ที่พักพิง… เพราะผู้คนต่างหนีตาย และเราจะต้องให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อไม่ให้แต่ละครอบครัวต้องสูญเสียชีวิตจากความอดอยากหรือการขาดน้ำ’

นอกจากนั้น นักเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่งมีความเห็นว่า มหาอำนาจระดับภูมิภาคควรจะเข้ามาช่วยเหลือในการให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างจริงจัง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน อิหร่าน ปากีสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน จะต้องช่วยชีวิตและรับพลเมืองที่ลี้ภัย ไปจนถึงให้เด็ก ๆ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นได้ หรือองค์การด้านมนุษยธรรมอาจจะสนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราวขึ้นมาในค่ายผู้ลี้ภัย

ทั้งนี้ มะลาละห์ ยูซัฟซัย ย้ำอีกครั้งว่าสำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในอัฟกานิสถาน เรายังพอมีเวลาที่จะถกแถลงกันอยู่ แต่ที่เราไม่มีเวลาเหลืออยู่แล้วและควรจะต้องทำตอนนี้คือ ฟังเสียงตะโกนบอกของผู้หญิงและเด็กหญิงชาวอัฟกันที่เรียกร้องขอความคุ้มครอง การศึกษา สันติภาพ และอนาคตของพวกเธอ

มะลาละห์ ยูซัฟซัย นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีชาวปากีสถานอายุ 24 ปี และผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2557 อายุน้อยที่สุด (17 ปี) จากการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็ก

ปัจจุบันเธอและครอบครัวลี้ภัยอยู่ในสหราชอาณาจักร หลังจากเมื่ออายุ 15 ปี ระหว่างทางบนรถโรงเรียนกลับบ้าน เธอถูกลอบยิงเข้าที่ศรีษะและคอโดยตาลีบัน ด้วยเหตุที่เธอเรียกร้องสิทธิของเด็กหญิงที่จะได้รับการศึกษา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
-(5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
-(5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล
-(5.5) หลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
-(5.c) เลือกใช้และส่งเสริมนโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และการให้อำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG16 สังคมสงบสุข มีความยุติธรรมสำหรับทุกคน ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ โดยครอบคลุมถึงสิทธิสองประการสำคัญอย่าง
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
-(4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ระหว่างชายและหญิง และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
-(4.6) หลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Afghanistan: UK and US must protect Afghan activists – Malala (BBC)
Malala: I Fear for My Afghan Sisters (nytimes)

Last Updated on สิงหาคม 18, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น