ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon sequestration) เป็นที่พักพิงของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และยังค้ำจุนชีวิตของมนุษย์ราว 2 พันล้านคนทั่วโลกจากการที่เป็นแหล่งอาหารและน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน นั่นจึงทำให้เกิดโครงการฟื้นฟูป่าไม้หรือ ‘การปลูกต้นไม้’ หลากหลายโครงการจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน หรือระดับบุคคลทั่วโลก
เพื่อให้ความพยายามฟื้นฟูป่าประสบความสำเร็จ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) Royal Botanic Gardens, Kew และ Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ตลอดจนหุ้นส่วนการพัฒนา จึงได้รวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการปลูกป่า 10 ข้อสำคัญ ที่จะทำให้การทุ่มเทแรงกายและทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูป่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
ใจความสำคัญของกฎทอง 10 ข้อ มีดังนี้
- ก่อนจะเริ่มลงมือปลูกใหม่ ให้เริ่มจากปกป้องป่าไม้ที่มีอยู่เสียก่อน – เพราะในทุก ๆ ปี โลกได้สูญเสียป่าไม้ที่มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศสหราชอาณาจักร หมายความว่า โลกสูญเสียแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะว่าป่าไม้ที่เก่าแก่ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่นั้น ใช้เวลายาวนานหลักร้อยปีเพื่อฟื้นฟูตัวเอง เมื่อไม่มีปัจจัยที่ทำหน้าที่กักเก็บได้ดี ก็มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ดังนั้น จึงควรเริ่มที่การต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation) เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่เดิม
- การฟื้นฟูป่าจะต้องทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น – เพราะชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานในบริเวณของป่าไม้นั้น ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ของป่าไม้เฉพาะถิ่นและความท้าทายที่กำลังเผชิญ ทั้งยังเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากป่าไม้โดยตรงในด้านอาชีพและสุขภาพ สอดคล้องกับบทบาทของการฟื้นฟูป่าไม้เพื่อตอบโจทย์การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่ระบุว่า ความพยายามฟื้นฟูป่าไม้ในหลายครั้ง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีการเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น
- ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายแค่มีต้นไม้ แต่ตั้งเป้าหมายที่ส่งเสริมประโยชน์กัน – อาทิ ปลูกต้นไม้/ปลูกป่า เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อช่วยเศรษฐกิจชุมชน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันต่อทั้งระบบนิเวศของพืช สัตว์ และมนุษย์ อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดของวิธีการสามารถหารือกันเพื่อชั่งน้ำหนัก (trade-offs) ประเด็นเหล่านี้ได้ เพียงแต่อันดับความสำคัญจะต้องมาจากการเห็นพ้องกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้น ๆ บนฐานของวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความต้องการของชุมชน
- เลือกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟู – เพราะไม่ใช่ผืนดินทุกแห่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการฟื้นฟู หากเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะเป็นการลงทุนและลงแรงที่สูญเปล่า กล่าวคือ ควรกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการฟื้นฟูเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อหรือขยายพื้นที่ป่าไม้ได้ หรือฟื้นกลับพื้นที่แต่เดิมที่เคยเป็นป่ามาก่อน เพื่อปรับปรุงทั้งขนาดและสุขภาวะของผืนป่าแห่งนั้นทั้งหมด
- ให้สิ่งแวดล้อมเยียวยาตัวเองด้วยแนวคิดการสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติ (natural regeneration) – เพราะการสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติเป็นกระบวนการที่ป่าไม้จะเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง หรือฟื้นฟูตัวเองหลังจากที่เสื่อมโทรม และการดักจับคาร์บอน (carbon capture) ในกระบวนการดังกล่าวอาจมีมากกว่าการปลูกป่าถึง 40 เท่า ถึงกระนั้น การสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติมีหลายระดับ ทั้งแบบที่มนุษย์ไม่ต้องเข้ามาแทรกแซง หรือเข้ามาแทรกแซงบ้างเพื่อปกป้องจากไฟป่า หรือในระดับที่เข้ามาแทรกแซงมากขึ้น ๆ ไป (passive, low, intermediate, high intervention) โดยดูปัจจัยด้านระยะเวลาตั้งแต่พื้นที่นั้น ๆ ได้มีการเคลียร์พื้นที่ หรือระยะห่างจากพื้นที่นั้น ๆ จากพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่
- หากไม่สามารถใช้วิธีการสืบต่อพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ให้หันมาเลือกพันธุ์ไม้ที่จะปลูกให้เหมาะสม – เพราะการเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะพันธุ์เฉพาะถิ่นและพันธุ์ที่หายากหรือกำลังสูญพันธุ์ ในรูปแบบผสมผสานซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่นั้น ที่จะดึงดูดแมลงผสมเกสรและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ เป็นเกราะป้องกันความผันผวนต่าง ๆ อาทิ โรคภัย ไฟป่า และอากาศรุนแรงสุดขั้ว ทั้งนี้ ต้องหลีกเลี่ยงพันธุ์ไม้ต่างถิ่นที่รุกรานในทุกกรณี
- ใช้ทรัพยากรสำหรับการปลูกป่าที่ทนทานและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง – กล่าวคือ เลือกเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและเป็นตัวเลือกที่แข็งแรง เพราะเมื่อเติบโตจะช่วยลดการเกิดศัตรูพืชและพร้อมรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ก่อนเริ่มลงมือปลูก ควรจะศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้น ๆ ในอนาคตว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกพันธุ์พืชที่พร้อมรับมือกับการคาดการณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม
- วางแผนองค์ประกอบของการปลูกป่าให้ดีเสียก่อน – ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐาน ประเมินขีดความสามารถ และคลังเมล็ดพันธุ์ โดยเน้นใช้ต้นไม้ เมล็ดพันธ์ และต้นอ่อนท้องถิ่น พร้อมกับที่กำหนดห่วงโซ่ของการทำงานให้ชัดเจน อย่างการทำงานกับชุมชนท้องถิ่น การฝึกอบรมผู้ที่ทำงานว่าแนวปฏิบัติใดที่ดีที่สุดในการเก็บและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
- ทำไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย – บนฐานของการทบทวนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสปีชีส์ต้นไม้และภูมิภาค/พื้นที่ที่จะฟื้นฟู ประกอบกับการปรึกษาชุมชนท้องถิ่น จากนั้นอาจเริ่มทดลองในขนาดที่เล็กก่อนที่จะเริ่มลงมือให้ครบถ้วนทั้งกระบวนการ ระหว่างนั้นให้มีการติดตามความคืบหน้าในทุก ๆ ขั้นตอน โดยเฉพาะสำรวจดูว่ามีการฟื้นฟูในระบบนิเวศบ้างหรือไม่ และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนการหากมีความจำเป็น
- จะปลูกป่าก็ต้องใช้งบประมาณ – เพราะกระบวนการปลูกป่านั้นมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากจะทำโครงการนี้ ก็จะต้องหาวิธีสร้างช่องทางรายได้เพื่อขับเคลื่อนโครงการโดยที่ยังตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.1) การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563-(15.2) ในด้านการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลก ภายในปี 2563
-(15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
-(15.6) ในด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรม (genetic resources)
-(15.8) ในด้านการลดผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในระบบนิเวศบกและน้ำ
-(15.a) ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา:
These 10 golden rules for planting trees could help save the planet (World Economic Forum)