แมลงผสมเกสร (pollinators) อาทิ ผึ้ง ผีเสื้อ ตัวต่อ ด้วง ค้างคาว แมลงวัน และนกฮัมมิงเบิร์ด เป็นสันหลังสำคัญในระบบนิเวศที่ช่วยผสมพันธุ์พืชมากกว่า 75% ของพืชผลซึ่งใช้เป็นอาหารและพืชดอก พร้อมกับค้ำจุนมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ที่พึ่งพิงพืชผลเป็นอาหาร ทว่าในปัจจุบัน แมลงผสมเกสรกลับมีจำนวนลดน้อยลงทั่วโลก นับเป็นประเด็นสำคัญที่โลกให้ความสนใจและพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกยุทธศาสตร์ระดับชาติและแผนปฏิบัติการว่าด้วยแมลงผสมเกสร
และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้แทนจากชนพื้นเมืองรวม 20 ท่าน นำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พยายามพัฒนาดัชนีโลกที่ประเมินแรงขับ/สาเหตุใน 6 ภูมิภาคที่ทำให้แมลงผสมเกสรมีจำนวนลดน้อยลง ความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจมีต่อสังคมและมวลมนุษย์
เพราะความเป็นอยู่ของแมลงผสมเกสรเป็นสัญญาณเตือนภัยของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass extinction) ดังนั้น การค้นพบและเข้าใจต้นตอตลอดจนผลกระทบของจำนวนแมลงผสมเกสรที่ลดลง อาจช่วยไขปัญหาสำคัญได้
โดยการศึกษา A global-scale expert assessment of drivers and risks associated with pollinator decline เผยแพร่ใน nature ecology & evolution รวบรวมข้อมูล ประเมินแรงขับ/สาเหตุ 8 ประการสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ทำให้แมลงผสมเกสรเหล่านี้ลดน้อยลง ตลอดจนความเสี่ยงอีก 10 ข้อที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์
โดยพบว่า แรงขับที่ทั่วโลกต่างมีเหมือนกัน 3 อันดับแรก ได้แก่
- แหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงผสมเกสรถูกทำลาย
- การบริหารจัดการที่ดิน อาทิ ระบบเกษตรกรรมปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือ ปลูกพืชชนิดเดียว(monoculture)
- การใช้ย่าฆ่าแมลง
และที่น่าสนใจในอันดับที่ 4 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทีมผู้ศึกษาชี้ว่า การออกนโยบายจึงควรเน้นไปที่เส้นทางของแรงขับหรือตัวแปรเหล่านี้ที่หลาย ๆ ภูมิภาคมีสถานการณ์เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาในรายละเอียดความเหมือนและแตกต่างระหว่างภูมิภาคในเชิงเปรียบเทียบ ข้อค้นพบระบุว่า สถานการณ์จำนวนแมลงผสมเกสรที่ลดลงมีนัยสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศซีกโลกใต้ ตลอดจนการสูญเสียผลิตภาพของพืชผลคิดเป็นมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์ กล่าวคือ ผลกระทบที่มีต่อพืชและผลไม้ป่าเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำและประชากรในชนบทยังคงพึ่งพิงการเข้าถึงอาหารจากพืชผลในป่า
- ภูมิภาคที่ทีมผู้ศึกษาระบุว่าเป็นภูมิภาคที่จะสูญเสียมากที่สุดคือ อเมริกาใต้ เพราะมีพืชผลหลากชนิดที่พึ่งพิงการผสมพันธุ์จากแมลงผสมเกสร อย่างมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง โกโก้ กาแฟ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญต่อภูมิภาคและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในพื้นที่ปลูกยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนคนพื้นเมืองจำนวนมาก ผสานรวมกันเป็นหน้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในแง่นี้ การสูญเสียแมลงผสมเกสรยังส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารและคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วย
- แมลงผสมเกสรที่ลดน้อยลงยังถูกจัดว่าเป็นความเสี่ยงระดับร้ายแรงต่อสุขภาวะที่ดีของประชากรในเอเชียแปซิฟิก อย่างที่จีนและอินเดียพึ่งพิงพืชผล ผลไม้และผักที่อาศัยการผสมเกสรของแมลงเหล่านี้
ขณะที่ประเด็นแมลงผสมเกสรและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวิภาพถูกจัดว่าเป็นความเสี่ยงมากที่สุดต่อประชากรยุโรป และการสูญเสียการเข้าถึง ‘การเลี้ยงแมลงผสมเกสร’ (managed pollinators) หรือ การสร้างรังผึ้งให้ผึ้งอยู่อาศัย (industrial beehives) จัดเป็นความเสี่ยงระดับสูงในสังคมอเมริกาเหนือ
ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดในด้านหลักฐาน ข้อมูล/ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ เพราะข้อมูลของจำนวนแมลงผสมเกสรที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคที่ร่ำรวยกว่าอย่างยุโรป ที่สามารถระบุได้ชัดเจนถึงจำนวน อาทิ อย่างน้อยมี 37% ของประชากรผึ้งที่ลดน้อยลง และ 31% ของประชากรผีเสื้อที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ ข้อมูลในด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ก็ยังคงมีอย่างจำกัดด้วย แต่เป็นไปได้ว่าคุณภาพและปริมาณของอาหารและพืชเชื้อเพลิงจะมีลดน้อยลง อยู่ในสถานะที่ไม่มีเสถียรภาพ และมีความไม่แน่นอน ซ้อนทับไปกับปัญหาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชผลด้วย
● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้องที่:
SDG Vocab | 49 – Ecosystem Services – บริการทางระบบนิเวศ
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
‘Bed and Breakfast’ หลังคาป้ายรถเมล์ และถนนทางหลวงสายน้ำผึ้ง: มาตรการช่วยพยุงประชากร ‘ผึ้ง’ ผู้นำการผลิตอาหารในเนเธอร์แลนด์ (เนื่องในวันผึ้งโลก 20 พ.ค. 2564)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
-(15.1) หลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศ (ecosystem services) ที่ยั่งยืน
-(15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
ทั้งนี้ การสูญเสียแมลงผสมเกสรส่งผลต่อ #SDG2 ในด้านความมั่นคงทางอาหาร
-(2.4) หลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีของมนุษย์
และเมื่อพืชผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการสูญเสียแมลงผสมเกสรเหล่านี้ ย่อมส่งผลกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
-(1.4) หลักประกันว่าชายและหญิงทุกคนเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเท่าเทียม
-(1.5) สร้างภูมิต้านทานให้กับกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งลดและป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2573
Last Updated on มกราคม 12, 2022