กลุ่มมารดาชาวมาเลเซียยื่นคำร้องต่อศาลให้ตีความกฎหมายที่หญิงชาวมาเลเซียจะไม่สามารถให้สัญชาติมาเลเซียแก่บุตรที่เกิดในต่างประเทศได้โดยอัตโนมัติ
มาตรา 14(2) ของรัฐธรรมนูญมาเลเซียให้สิทธิบิดาในการให้สัญชาติของตนแก่บุตรของตนที่เกิดในต่างประเทศโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ได้กล่าวถึงมารดา มาตรานี้ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีชาวมาเลเซียมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวต้องอยู่แยกกันนานขึ้น
เมื่อธันวาคม 2020 กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน Family Frontiers Malaysia และมารดาชาวมาเลเซีย 6 คน ยื่นคำร้องต่อศาลสูงกรุงกัวลา ลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเพื่อคัดค้านกฎหมาย นี้ และให้ตีตวามข้อกำหนดนี้ใหม่ หากประสบความสำเร็จ มารดาชาวมาเลเซียที่แต่งงานกับคู่สมรสชาวต่างชาติก็จะสามารถให้สัญชาติแก่บุตรที่เกิดในต่างประเทศได้โดยอัตโนมัติเช่นเดียวกันกับฝ่ายบิดาชาวมาเลเซีย แต่การยุบสภาทำให้การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไม่สามารถเป็นไปได้ในเร็ว ๆ นี้
แต่ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาในภาวะการระบาดใหญ่ Family Frontiers Malaysia องค์กรพัฒนาเอกชนที่ช่วยเหลือมารดาชาวมาเลเซียที่มีบุตรเกิดในต่างประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากพยายามเดินทางกลับมาคลอดบุตรในประเทศมาเลเซีย แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คู่สมรสชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศมาได้ในเวลาใกล้กัน มารดาหลายคนจึงต้องคลอดลูกตามลำพังและประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
กฎหมายการส่งต่อสัญชาติที่ไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชายเป็นสิ่งหลงเหลือจากการปกครองภายใต้อาณานิคมอังกฤษ แม้ว่าหลายประเทศอาณานิคมจะเปลี่ยนกฎหมายหลังการเกิดขึ้นของ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women : CEDAW) แต่มาเลเซียเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศที่ยังคงกฎหมายนี้ไว้ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ให้สัตยาบัน CEDAW แล้วตั้งแต่ปี 1995 แต่ยังคงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติไว้
การตีความกฎหมายสัญชาติเช่นปัจจุบันสร้างความลำบากให้แก่ฝ่ายหญิงหลายประการ อาทิ หากชีวิตสมรสในต่างแดนล้มเหลม ก็จะไม่สามารถพาลูกกลับมายังประเทศบ้านเกิดได้ จึงอาจต้องเลือกทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เลวร้าย เพราะไม่ต้องการแยกจากลูก หรือไม่สามารถแบกรับค่าใช่จ่ายด้านการศึกษาและค่ารักษาพยาบาลบุตรในอัตราคนต่างชาติได้เมื่อกลับมามาเลเซีย หรือไปจนถึงทำให้เด็กหลายเป็นคนไร้สัญชาติ (stateless)
แม้ว่าจะสามารถยื่นขอสัญชาติมาเลเซียให้บุตรได้ภายหลัง แต่ตั้งแต่ปี 2013-2018 มีเพียง 142 คำขอเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติ ในขณะที่คำขออีก 3,715 คำขอถูกปฏิเสธและ 4,959 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณา และในกรณีที่คำขอถูกปฏิเสธก็ยังคงใช้เวลาดำเนินการถึงหลักปี
Family Frontiers Malaysia และบรรดามารดาที่ยื่นคำร้องตอศาลคาดหวังว่าเรื่องนี้จะไปถึงศาลสูงสุดของมาเลเซียในที่สุด ซึ่งการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับข้อพิพาทอาจกินเวลาหลายปี
มาเลเซียเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่ไม่ยอมให้บิดามารดามีสิทธิเท่าเทียมกันในการให้สัญชาติของตนแก่บุตร และมีถึง 18 ประเทศในจำนวนนี้ที่ไม่อนุญาตให้ฝ่ายมารดาให้สัญชาติบุตร แม้ว่าจะเกิดในประเทศก็ตาม เช่น เนปาล คูเวต และซาอุดีอาระเบีย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
- (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
- (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและระหว่างประเทศ
- (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
ที่มา : Malaysia’s Sexist Citizenship Law Is Keeping Families Apart (Foreign Policy)
Malaysian mothers fight government over ‘sexist’ citizenship law (Reuters)
Last Updated on สิงหาคม 21, 2021