จักรี โพธิมณี
อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ในปี 2558 สหประชาชาติยอมรับบทบาทของวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและแรงผลักดันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นปีเดียวกันกับที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน (Kaeng Krachan Forest Complex) ได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาโดยคณะกรรมการมรดกโลกในคราวการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี[1]
หลังจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการจัดทำเอกสารนำเสนอการพิจารณา อีก 2 ครั้งในปี 2559 และ 2562 จนกระทั่งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ บรรดารัฐภาคี (state parties) ได้ออกเสียงสนับให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 (criteria-x) “เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก”
มรดกโลกทางธรรมชาติ (natural heritage) แห่งใหม่นี้มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 4,089.4 ตารางกิโลเมตร คาบเกี่ยวจังหวัดราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี นั่นหมายความว่า แม้ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานจะตั้งอยู่บนขอบเขตดินแดนของประเทศไทย ก็ถือได้ว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวง
การสงวนรักษามรดกโลกอันเป็นคุณค่าสากลนั้น ยูเนสโก ได้อธิบายว่า “มรดก (heritage) คือ สิ่งตกทอดของมนุษยชาติจากอดีต เป็นสิ่งที่เราอาศัยอยู่ร่วมวันนี้ และเป็นสิ่งที่เราส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปในอนาคต มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของเราเป็นทั้งแหล่งชีวิตและแรงบันดาลใจที่ไม่สามารถถูกแทนที่ได้” “สิ่งที่ทำให้แนวคิดเรื่องมรดกโลกมีความพิเศษ คือประโยชน์สากล แหล่งมรดกโลกเป็นของชนชาติทั้งหลายในโลก โดยไม่จำกัดเขตแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่” ดังนั้น กระบวนการคุ้มครองคงไว้ซึ่งคุณค่าของสถานที่เก่าแก่และมีความหมายทั่วโลกนั้นจึงเป็นเรื่องที่ของทุกคนและเป็นความรับผิดชอบที่ชุมชนนานาชาติมีส่วนร่วมด้วยทั้งหมด “มรดก” จึงไม่ใช่เพียงเรื่องราวสารัตถะของสิ่งตกทอดและอดีตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการยังประโยชน์จาก “อดีต” ของสังคมร่วมสมัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “ปฏิบัติการว่าด้วยมรดก” นั้นเป็นเรื่องของปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการให้ความหมาย การแสวงหาความจริงแท้ การจัดการความทรงจำร่วมและอัตลักษณ์ การเมืองระหว่างรัฐภาคี อุตสาหกรรมมรดก และการบริหารจัดการอย่างส่วนร่วมในมรดกของชนพื้นเมือง
ที่ผ่านมา แหล่งมรดกโลกหลายแหล่งในหลายรัฐภาคีล้วนได้รับประโยชน์จากการรองรับคุณค่าสากลเหล่านี้ ได้แก่ ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และทุนสนับสนุนพันธกิจประจำในการดำเนินการรักษาและฟื้นฟูแหล่งมรดกนั้น ด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรภาคการบริหารจัดการ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกเหนือจากอรรถประโยชน์ที่รัฐภาคีได้รับแล้ว การกลายเป็นมรดกยังถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนท้องถิ่น โดยเชื่อว่าพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนาด้วยแหล่งดกโลกนั้นจะช่วยผ่อนปรนความยากจน สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน รวมไปถึง ในบริบทของรัฐชาติที่มรดกโลกได้สร้างสำนึกความภาคภูมิใจของพลเมืองและการสั่งสมทุนทางสังคมในฐานะที่มรดกนั้นเป็นแหล่งที่ในการบูรณาการทางสังคมของผู้คน ชุมชนและคนต่างกลุ่มอีกด้วย
อย่างไรก็ดี บทเรียนในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตีความแยกขาดอย่างชัดเจนระหว่างมรดกโลกทางธรรมชาติและมรดกโลกทางวัฒนธรรรมนั้นได้สร้างรูปแบบที่แตกต่างกันทางคุณค่าและมีลักษณะเป็นทวิลักษณ์ที่แยกแยะธรรมชาติกับวัฒนธรรม ร่างกายกับจิตใจ ปฏิบัติการกับความคิด สิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ได้กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการรับรู้เชิงมรดก (heritage perception) ท่ามกลางเงื่อนไขและกลไกนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่มีต่อแหล่งมรดกทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่ “มรดก” เป็นแนวคิดที่มีความหมายเลื่อนไหล เกิดการตีความอย่างหลากหลายในการอธิบายสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของปัจเจกบุคคล กลุ่มทางสังคม หรือแม้กระทั่งสำหรับสถาบันทางสังคมต่าง ๆ
วาทกรรมมรดกโลก (heritage discourse) ว่าด้วย “คุณค่าอันโดนเด่นเป็นสากล” นั้นเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกรัฐภาคีและองค์กรระหว่างประเทศอย่างยูเนสโก ทำให้เกิดจัดประเภทมรดกวัฒนธรรมอย่างแยกขาดจากกันผ่านเครื่องมือว่าด้วยกฎหมายของอนุสัญญา นั่นคือ การกำหนดลักษณะของมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) ที่แบ่งออกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และมรดกทางธรรมชาติ (natural heritage) เกณฑ์ในการแยกแยะมรดกแต่ละประเภทนั้นถูกกำหนดแบบตายตัวและมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละข้อ ส่งผลต่อความจำเป็นในการจัดวาง “แหล่งที่ของมรดก” ไปในทางใดทางหนึ่ง โดยอาศัยกระบวนสร้าง/เปลี่ยนผ่านความเป็นของท้องถิ่น (locality/particularity) ของแหล่งที่มรดกนั้น ๆ ไปสู่ “ความเป็นโลก” (globality/universality)
การสร้างรูปแบบเชิงคุณค่าของมรกดกโลกที่แตกต่างกันและการขยายปริมณฑลของแหล่งที่ของมรดกนั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อกลุ่มชนพื้นเมือง ชุมชนดั้งเดิม และชุมชนท้องถิ่น ทั้งการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ การรับรู้เชิงมรดก ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ไปจนถึงข้อจำกัดในการมีส่วนรวม เจตจำนง และการมีส่วนได้ส่วนเสียจากมรดกดังกรณี แหล่งมรดกโลกเมืองพระนครในกัมพูชา อันเคยพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสัตว์ เคยเป็นที่จำวัดของพระ เป็นพื้นที่พิธีกรรม มีการสืบสิทธิในที่ดินทำกินของครอบครัวในหมู่บ้านรอบ ๆ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะจำกัดสิทธิอยู่อาศัยและห้ามกิจกรรมทั้งหลายเพื่อการจัดการเชิงอนุรักษ์แหล่งโบราณคดี เปลี่ยนผ่านมาจนมาถึงช่วงที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เกิดปรับเปลี่ยนข้อจำกัด การแบ่งโซนพื้นที่ การเลือกและแยกแยะคนบางกลุ่มออกจากกายภาพของโบราณสถาน ขณะที่เมืองพระนคร (Angkor Archaeological Park) ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก คล้ายคลึงกับ กรณี การแช่แข็งอดีตของเมืองมรดกโลกจอร์จทาวน์ (World Heritage George Town) ในรัฐปีนังของมาเลเซีย ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี 2551 เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เป็นแหล่งรวมความหลายผสมผสานของวัฒนธรรมมาเลเซีย ภายหลังการไหลบ่าเข้ามาของนักท่องเที่ยวและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นได้ผลักให้ผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมย้ายออกไปจากเมือง อาจเรียกได้เมืองจอร์จทาวน์ได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าผ่านการท่องเที่ยวมรดก (heritage tourism) อันเป็นผลมาจากการจับจ้องมองดูของนักท่องเที่ยว (the tourist gaze) ที่สร้างภาพพจน์เฉพาะให้แก่เมืองและผู้คนจนส่งผลการปรับตัวของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในที่สุด
นอกจากนี้ แหล่งมรดกโลกบางแห่งยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมในการบูรณาการแผนการพัฒนาด้วยการมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นและมักเป็นนโยบายและแผนถูกผลิตโดยหน่วยงานของรัฐภาคีที่กำกับดูแลเพียงเท่านั้น ดังกรณีแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอุทยานแห่งชาติคาซีรังงา (Kaziranga National Park) ในอินเดีย แหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางด้านเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2528 ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ขยายพื้นที่อนุรักษ์ถึง 9 ครั้ง ปัจจุบันมีเนื้อที่รวมเกือบสองเท่า ส่งผลต่อการจำกัดพื้นที่อยู่อาศัย การฟ้องร้องขับไล่โดยรัฐ และการโยกย้ายหลายชุมชนหลายแห่งไปอยู่ในที่จัดสรรชดเชย และชุมชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำและป่าอย่างชุมชนชาติพันธุ์มิซิง (the Misings) ชุมชนชาติพันธุ์การะบี (the Karbis) และชุมชนผู้ย้ายถิ่นอย่างชุมชนชาวเนปาลีและชุมชนชาวพิหารีที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ได้รับผลกระทบอย่างมากจนนำไปสู่การประท้วงหลายครั้ง พื้นที่คาซีรังงาประสบกับปัญหาความเสื่อมถอยของสภาพแวดล้อมและปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ ขบวนการผู้ลักลอบล่าและค้าสัตว์หายาก (เช่น แรด เสียเบงกอล เสือดาว ช้างอินเดีย สมัน เป็นต้น) ที่อาศัยเครือข่ายชาวบ้านที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบของพื้นที่ป่า โดยทางการอินเดียอธิบายว่าเครือข่ายผิดกฎหมายของชาวบ้านเหล่านี้ไม่ตระหนักรู้และใส่ใจความสำคัญทางนิเวศวิทยาว่าความหลากหลายทางชีวภาพแห่งนี้ฐานะมรดกโลก อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านการพัฒนาของรัฐอัสสัมได้พยายามสร้างกระบวนมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องอนุรักษ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจพึ่งตนเอง คาดหวังให้ชุมชนชายชอบผืนป่าเหล่านั้นมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หันมาคอยสอดส่องและเป็นแนวร่วมแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์
การยกยกระดับแหล่งมรดกโลกในฐานะคุณค่าสากล (international profile) ไม่เพียงส่งผลกระทบในระดับชุมชนเท่านั้น แต่บางกรณียังส่งเกิดผลกระทบการเมืองและเศรษฐกิจระดับประเทศในบางรัฐภาคี ที่ผ่านมามีแหล่งมรดกโลกบางแห่งที่ได้รับการอนุมัติให้ถอนรายชื่ออกจากบัญชีได้ (delisting) อาทิ แหล่งมรดกภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม Dresden Elbe Valley ในประเทศเยอรมันได้ถูกถอนชื่อออกจากมรดกโลก มีสาเหตุมาจากการสร้างสะพานวัลท์ชเลิสเชิน (Waldschlösschen) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในเมืองและออกแบบเส้นการจราจรเสียใหม่ ในปี 2548 โครงการได้ผ่านความเห็นชอบของสภาเมืองและผ่านการลงคะแนนเสียงประชามติของชาวเมือง การก่อสร้างดำเนินไปพร้อม ๆ กับการทบทวนของคณะกรรมการมรดกโลก จนกระทั่งในปี ในปี 2552 แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ได้ถูกถอนชื่อออกจากบัญชี นอกจากนี้ ในปี 2550 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออริกซ์สายพันธุ์อาหรับ (Arabian Oryx Wildlife Sanctuary) ประเทศโอมาน ได้รับการอนุมัติให้ถอนชื่อจากบัญชีมรดกโลกตามคำร้องขอของรัฐภาคีโอมานภายหลังที่ประชากรออริกซ์ลดน้อยลงและโอมานเองก็ต้องการสำรวจน้ำมันในบริเวณดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนว่าการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนั้นเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จภายหลังความพยายามอย่างยาวนานของรัฐบาลไทยที่ต้องการยกระดับความหลากหลายทางชีวภาพบน “ผืนป่าแก่งกระจาน” ขึ้นเป็นมรดกของมนุษยชาติ ทว่าผลลัพธ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีชุมชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยง/กระหร่าง (the Karens) ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วบริเวณและยังประโยชน์จากผืนป่ามาหลายชั่วอายุคน บริเวณหนึ่งที่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน คือบริเวณที่เรียกว่า “ชุมชนใจแผ่นดิน” เป็นพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าต้นน้ำ ต่อมาคนในชุมชนดังกล่าวได้ถูกโยกย้ายออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมจากบริเวณป่าลึกสมบูรณ์บริเวณชายแดนเมียนมาให้ไปตั้ง “กลุ่มบ้านใหม่” บนที่ดินจัดสรรโดยภาครัฐบริเวณบ้านโป่งลึก ชายขอบผืนป่าแก่งกระจานที่มีนิเวศวิทยาแตกต่างจากถิ่นฐานดั้งเดิมเป็นอย่างมาก การกีดกันชุมชนไม่ให้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรเชิงซ้อนนี้ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความต้องเตรียมการและจัดการ “รอยแหว่ง” ของกลุ่มผืนป่าว่าที่มรดกโลกชิ้นนี้ให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของยูเนสโก ชี้ให้เห็นระบอบของการจัดการทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณชายแดนของรัฐไทย ที่ต้องการผลักคนให้ไปอยู่ขอบผืนป่า ควบคุมและลดทอนสิทธิการเข้าถึงและยังประโยชน์ทรัพยากรป่าต้นน้ำด้วยวิถีของชุมชนเอง
ก่อนหน้านี้ ในคราวยื่นข้อเสนอเพื่อพิจารณาต่อคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อปี 2558 สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ในฐานะองค์กรที่ปรึกษาพิจารณาและตรวจสอบแฟ้มข้อมูล (nomination file) ส่วนมรดกทางธรรมชาติได้รับข้อมูลจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (Karen Network for Culture and Environment: KNCE) องค์กร Forest Peoples Programme (FPP) และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) เกี่ยวกับข้อกังวลในเรื่องสิทธิ การร่วมหารือ การสร้างจิตสำนึก การจัดการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน และแนวทางการใช้ที่ดินและทรัพยากร รวมถึงการระงับข้อพิพาทภายในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ต่อมา IUCN ได้ตีพิมพ์รายงานการประเมินผลเชิงเทคนิคในเดือนพฤษภาคม 2559 แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน (roadmap outline) ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน อาทิ การนิยามสถานภาพของผู้อยู่อาศัย (สัญชาติและสถานภาพของชาวบ้าน) แก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ จัดเวทีรับฟังความเห็น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงสะท้อนของชุมชนกะเหรี่ยง) บูรณาการความร่วมมือในการอนุรักษ์และการจัดการ ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ส่งเสริมความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไรก็ดี IUCN ยังได้อธิบายว่าการโยกย้ายกลุ่มคนออกจากพื้นที่พิจารณา (nominated protected areas) นั้นสามารถกระทำได้หากอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อตกลงสากล “แม้ว่าจะไม่ใช่แนวทางปฏิบัติในอุดมคติหรือทางเลือกแรกหรือทางเลือกเดียว แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้เงื่อนไขบางประการ” ในท้ายที่สุด ได้แนะนำให้ไทยในฐานะรัฐภาคีให้ทบทวนเงื่อนไขและหาทางออกให้กับกรณีปัญหาทั้งหมด ทั้งนี้เพราะกลุ่มป่าแก่งกระจานนั้นมีศักยภาพในการเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นอกจากนี้ IUCN ยังเสนอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือเชื่อมต่อความร่วมมือในการอนุรักษ์ปกป้องผืนป่ารอยต่อเขตตะนาวศรีร่วมกับเมียนมาภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพข้ามพรมแดนในอนาคต
ต่อมาปี 2562 ในรายงานการประเมินผลเชิงเทคนิคต่อเนื่อง IUCN ได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในการเสนอเพื่อพิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรกดกโลก (revised nominated areas) ลดลง จาก 4,822.25 ตารางกิโลเมตร เหลือ 4,119.12 ตารางกิโลเมตร (ลดลงร้อยละ 15) โดยการปรับนี้เกิดขึ้นหลังจากข้อโต้แย้งจากเมียนมาต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่ชี้ว่า ร้อยละ 34 ของพื้นที่เสนอเพื่อพิจารณาของไทยนั้นอยู่ในเขตประเทศเมียนมา แม้ว่าในการนำเสนอครั้งก่อนหน้า ไทยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาบริเวณพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเพื่อขยายและพัฒนา “บริเวณระเบียงนิเวศน์มรดกโลกข้ามพรมแดน” ก็ตาม หลังจากนั้น แผนที่กลุ่มป่าแก่งกระจานจึงถูกเขียนขึ้นมาใหม่ ได้มีการขีดขอบเขตแผนที่กลุ่มป่าแก่งกระจานโดยใช้เส้นตรงเกือบตลอดแนวด้านทิศตะวันตกตั้งแต่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีจรดลงมาจนถึงอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยขอรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศเมียนมาเพื่อคลายความกังวลที่เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าว จึงขอปรับเสนอตัวแปรในการวัดพื้นที่ด้านตะวันตก ทั้งนี้ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศเมียนมาไร้ความกังวลเรื่องเขตแดนของตนเองแล้ว ประเทศไทยก็เสนอแก้ไขขอบเขตพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ครอบคลุมเต็มรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยพร้อมและเต็มใจที่จะร่วมมือกับเมียนมาเพื่อพัฒนาพื้นที่เสนอพิจารณาเขตแดนมรดกโลกระหว่างพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานร่วมกับบริเวณป่ารอยต่อตะนินตายี[2] เพื่อเข้าสู่การเป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนต่อไป เห็นได้ชัดว่าการกลายมาเป็นมรดกโลกนั้นไม่ใช่เพียงปฏิบัติการที่รัฐภาคีกระทำต่อชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่สิทธิครอบครองมรดกโลกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการต่อรองปรับเปลี่ยน กระทั่งผ่อนปรนกระบวนการให้คุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลนี้ เมื่อจำเป็นต้องคิดอย่างถ้วนถี่ถึงผลได้ผลเสียเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในชาติอาเซียนอีกด้วย
กระบวนการกลายมาเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานในครั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดโดยรัฐบาลไทยต่อสาธารณะว่า ข้อวิจารณ์และคำแนะนำจากคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งก่อนหน้านั้นถูกแก้ไขและดำเนินการอย่างไร วิธีการที่เป็นรูปธรรมและกระบวนการอะไรนำไปสู่การคลี่คลายข้อสงสัยจากประชาคมรัฐภาคีในที่ประชุม ณ เมืองฝูโจว ประเทศจีน จนกระทั่ง ในท้ายที่สุด กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการลงคะแนนเสียงรับรองให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ว่าใน IUCN จะมีข้อเสนอแนะท้วงติงเพื่อชะลอการขึ้นเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานก็ตาม อย่างไรก็ดี รายงานผลการตัดสินใจของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมาได้ระบุว่า ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาตามข้อวิจารณ์และคำแนะนำ ได้แก่ 1) ข้อตกลงในการทบทวนพรมแดนมรดกโลกร่วมกับเมียนมา 2) ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การปกป้องและการจัดการมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งประจาน และ 3) ปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเรื่องความเป็นอยู่และการมีส่วนผูกพันกับการจัดการกลุ่มป่าแก่งกระจาน นั่นคือ แม้ว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ในการเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนขอบเขตพื้นที่และพิจารณาการมีส่วนร่วมร่วมของชุมชนที่อาศัยทรัพยากรของพื้นที่ป่าในอนาคต
ภายหลังที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ได้มีสะท้อนทวงถามจากนักพัฒนาเอกชน ภาคีเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน (โป่งลึก-บางกลอย) และนักวิชาการที่แสวงหาคำตอบจากข้อสงสัยต่อกรณีดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ข้อพิพาทและความขัดแย้งในผืนป่าแก่งกระจานยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติและมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเรื่อย ๆ
ด้วยความมุ่งมั่นของภาครัฐที่ต้องการแยกแยะธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ออกจากวิถีชีวิต มองข้ามโลกทัศน์และความสัมพันธ์ของคนกับป่า สร้างวิธีปกครองผืนป่าและยังประโยชน์เพียงผู้เดียวอย่างเบ็ดเสร็จ ได้ลดทอนความน่าจะเป็นของการอยู่ร่วมกันและการยอมรับคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศไทยและอาศัยอยู่มาอย่างยาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงการปฏิเสธการยกระดับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ให้เป็นคุณค่าสากล ด้วยการเกาะเกี่ยวอยู่กับวาทกรรมมรดกโลกว่าด้วยการเป็นมรดกวัฒนธรรมทางธรรมชาติเพียงมิติเดียวอย่างแข็งขัน
ในบรรดาแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวน 1,154 แหล่ง พบว่า สัดส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นมีมากกว่ามรดกทางธรรมชาติราว 3 เท่า และจำนวนหนึ่งมีลักษณะเป็นมรดกโลกแบบผสมผสาน (mixed heritage) นั่นคือเป็นแหล่งที่พบองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมในแหล่งเดียวกัน ปัจจุบันมีแหล่งมรดกโลกแบบผสมสานได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 39 แหล่ง ใน 31 รัฐภาคีของยูเนสโก ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติคังเชนเซิงงา (Khangchendzonga National Park) ในรัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ใจกลางเทือกเขาหิมาลัย มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ปกคลุมด้วยป่าโบราณ มีสถานที่หลายแห่งที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามความเชื่อนิกายวชิรญาณซึ่งได้รับการบูชาโดยคนท้องถิ่นและนักแสวงบุญมาตั้งแต่ก่อนที่ราชอาณาจักรสิกขิมจะผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียภายหลังการประกาศอิสรภาพ มรดกโลกอีกแหล่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับมรดกโลกแบบผสมผสานที่ไม่จำเป็นต้องปราศจากชุมชนหรือผู้คน คือ แหล่งภูมิทัศน์จ่างอาน (Trang An Scenic Landscape Complex) ที่ตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ประกอบด้วยธรณีสัณฐานที่มีลักษณะสำคัญทางวิทยาศาสตร์ แหล่งโบราณคดี ร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่แสดงถึงการอยู่อาศัย การปรับตัวของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศตั้งแต่ยุคหินใหม่จนถึงยุคสำริด แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ยังครอบคลุมวัฒนธรรมของชุมชนสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นวัด เจดีย์ นาข้าวและหมู่บ้านขนาดเล็กหลายแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า มีแหล่งมรดกโลกประเภทข้ามเขตแดนระหว่างประเทศ (transboundary sites) อีกหลายแห่ง อาทิ เครือข่ายเส้นทางสายไหมฉางอาน-เทียนซาน ในจีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และงานสถาปัตยกรรมของเลอกอร์บูซีเย ที่เป็นคุณูปการอันโดดเด่นต่อขบวนการสมัยใหม่ ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น และอินเดีย กรณีมรดกโลกแบบผสมผสานและมรดกโลกที่มีลักษณะข้ามพรมแดนเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการให้คุณค่าของวิถีชีวิตคนกับธรรมชาติ คนอื่นกับรัฐ และระหว่างรัฐภาคีด้วยกันเอง ซึ่งความน่าจะเป็นหรือความเป็นไปได้นี้ไม่เคยถูกพิจารณาระหว่างการตระเตรียมกลุ่มผืนป่าว่าที่มรดกเลยไม่ว่าจะเป็นการเสนอข้อมูลต่อสาธารณะหรือที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งใด ๆ
“มรดกโลกแบบผสมผสาน” เป็นความพยายามที่จะแก้ไขข้อจำกัดของการพยายามแบ่งประเภท “มรดกทางวัฒนธรรม” และ “มรดกทางธรรมชาติ”
ซึ่งการปรับคุณลักษณะของแหล่งมรดกนี้ช่วยให้ครอบคลุมภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมหรือพื้นที่ที่แสดงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ผ่านมา มีหลายรัฐภาคีที่เสนอขอปรับเปลี่ยนประเภทมรดกโลกเป็นแบบผสมผสาน อันเนื่องมาจากการขยายขอบเขตพื้นที่หรือข้อค้นพบใหม่ที่แสดงเห็นถึงความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับสภาพแวดล้อมภายในบริเวณที่ต้องกลายเป็นมรดกโลก ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนประเภทของแหล่งมรดกหลายแห่งที่ผ่านมาก็ยังสอดคล้องเกณฑ์คุณลักษณะ (criteria) ถูกระบุไว้โดยคณะกรรมการมรดกโลก ยกตัวอย่างเช่น กรณีพื้นที่อนุรักษ์อึงโกรองโกโร (The Ngorongoro Conservation Area) ในแทนซาเนีย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี 2522 และต่อมาได้ถูกปรับการปรับเปลี่ยนพิจารณาให้เป็นมรดกโลกแบบผสมผสาน หลังจากมีเสนอให้คณะกรรมการที่ปรึกษาศึกษารูปแบบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองมาไซ (the Maasis) ซึ่งมีวิถีการผลิตแบบการเลี้ยงสัตว์กึ่งเร่ร่อน (pastoralism) มาอย่างยาวนานในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และยังให้ความสำคัญกับความรู้ภูมิปัญญาพื้นเมืองของชาวมาไซในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ ช่วยทำความเข้าใจการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเคารพระหว่างคนและสัตว์ ระบบการอพยพ ระบบการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงต่างระดับ การเปลี่ยนแปลงประชากรสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง รวมไปถึงยารักษาโรค กรณีเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ..
การฉวยใช้วาทกรรมมรดกโลกนั้นไม่มีความจำเป็นที่ต้องกีดกันผู้คนและชุมชนออกจากธรรมชาติด้วยความรู้แบบนิเวศวิทยาศาสตร์และการจัดการป่าไม้อย่างที่รัฐไทยได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมไทย การเปิดโอกาสให้ความเป็นไปได้ขององค์ความรู้แบบมานุษยนิเวศน์ของชุมชนชาติพันธุ์หรือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกับทรัพยากรมายาวนานมากพอที่จะสามารถจัดการ อนุรักษ์และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้ น่าจะเป็นทางออกอีกอย่างหนึ่งในการจัดการทรัพยากรของรัฐไทย ขณะเดียวกันยังมาสามารถสร้างคุณค่าให้แก่แหล่งมรดกโลกได้อย่างยั่งยืน
แน่นอนว่า หากไทยเลือกวิธีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้เป็นมรดกโลกแบบผสมผสาน ซึ่งมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและยังขาดการศึกษาวิจัยเพื่อความเป็นไปได้นั้น จะไม่ได้ทำให้ “แหล่งที่ของมรดก” (location of heritage) ในประเทศไทยหลุดพ้นไปจากวาทกรรมมรดกโลกและกระบวนการสร้างคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลซึ่งมีรัฐภาคีเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการ ทว่าอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำความเข้าใจมรดกโลกของสังคมไทยและหาทางออกให้แก่ผู้คนและชุมชนซึ่งเป็นเจ้าร่วมในทรัพยากรที่ถูกพิจารณาว่ามีคุณูปการและคุณค่าต่อมนุษยชาตินั้น ให้สามารถอยู่ร่วมกับ “มรดกโลก” (heritage site) ที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
● Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
● การแย่ง-ยึดที่ดิน (Land grabs): การพรากสิทธิเหนือที่ดินและทรัพยากรไปจากชุมชนคนท้องถิ่น
การขึ้นทะเบียนคุ้มครองพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลก เกี่ยวข้องโดยตรงกับ #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน - (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก และการให้พลเมืองทุกคน โดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ได้มีส่วนร่วม มีตัวแทนในทุกระดับของกระบวนการการตัดสินใจของรัฐ เป็นไปตามเป้าประสงค์ (16.7) ของ #SDG16 สังคมสงบสุข มีความยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง และยังเป็นความพยายามปกป้อง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับ #SDG15 การใช้ประโยชน์ระบบนิเวศบนบก
ดูเพิ่มเติม
บทความ
Apaydin, V. (2015). Value, Meaning and Understanding of Heritage: Perception and Interpretation of Local Communities in Turkey. In Mena Castillo, A. (Ed.) Proceedings of the 2nd International Conference on Best Practices in World Heritage: People and Communities. Spain: JAS Arqueología.
De Cesari, C. (2013). Thinking Through Heritage Regimes. In Bendix, R. F., Eggert, A., & Peselmann, A. (Eds.), Heritage Regimes and the State. Göttingen University Press. Tiré de.
Harrison, R. (2015). Beyond “Natural” and “Cultural” Heritage: Toward an Ontological Politics of Heritage in the Age of Anthropocene, Heritage & Society, 8:1, 24-42, DOI: 10.1179/2159032X15Z.00000000036
Larsen, P., & Buckley, K. (2018). Approaching Human Rights at the World Heritage Committee: Capturing Situated Conversations, Complexity, and Dynamism in Global Heritage Processes. International Journal of Cultural Property, 25(1), 85-110. doi:10.1017/S0940739118000048
Scholze, M. (2008). Arrested Heritage: The Politics of Inscription into the UNESCO World Heritage List: The Case of Agadez in Niger. Journal of Material Culture, 13(2), 215–231. https://doi.org/10.1177/1359183508090895
เว็บไซต์
1. บัญชีรายชื่อมรดกโลก, เข้าถึงได้จาก https://whc.unesco.org/en/list/
2. มรดกทางธรรมชาติทางทะเลและบัญชีรายชื่อมรดกโลก, เข้าถึงได้จาก https://www.iucn.org/sites/dev/files/import/downloads/marine_natural_heritage_and_the_world_heritage_list.pdf
3. Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน, เข้าถึงได้จาก https://www.sdgmove.com/2021/02/13/change-agent-indigenous-people-center-of-sustainability/
4. เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน เป้าหมายที่ 11.4, เข้าถึงได้จาก http://uis.unesco.org/en/topic/sustainable-development-goal-11-4
5. ‘Unesco-cide’: does world heritage status do cities more harm than good?, เข้าถึงได้จาก https://www.travindy.com/2017/08/unesco-cide-does-world-heritage-status-do-cities-more-harm-than-good/
6. รายงานการประเมินผลเชิงเทคนิคการพิจารณาแหล่งมรดกทางธรรมชาติ, เข้าถึงได้จาก https://whc.unesco.org/archive/2016/whc16-40com-inf8B2-Add-en.pdf
7. สรุปผลการตัดสินการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44, เข้าถึงได้จาก http://whc.unesco.org/archive/2021/whc-21-44com-18-en.pdf
[1] ก่อนหน้านี้ ในปี 2554 กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นรายงานข้อเสนอให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (tentative list) ต่อศูนย์มรดกโลก (Word Heritage Centre) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก
[2] กลุ่มป่ารอยต่อตะนินตายี/ตะนาวศรี (Taninthayi Forest Corridor) ได้เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (tentative list) ในการเตรียมพิจารณาเพื่อนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557
เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร