Site icon SDG Move

Director’s Note: 12: การมอง SDGs ผ่านมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์ที่แล้วและสัปดาห์นี้ ทางทีม SDG Move ได้ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในส่วนของ กองมาตรฐาน ในการจัดทำรายงานสถานการณ์ทางสังคม และจัดอบรมนักวิจัยระดับสูงให้กับบุคลากรของกระทรวงด้วย เหตุผลที่เราเข้าไปมีบทบาทในเรื่องดังกล่าวนี้ก็เพราะว่า เราเห็นโอกาสว่า หากเราทำให้รายงานสถานการณ์ทางสังคม ของกระทรวง พม. เปลี่ยนมาใช้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นกรอบ น่าจะทำให้เราเห็นสถานะความยั่งยืนของแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของกลุ่มคนเหล่านั้น

น่าดีใจมากที่ทางกระทรวงมีความสนใจในเรื่องนี้

หลายคนอาจรู้จัก SDGs จากมุมของ 17 เป้าหมาย แต่สิ่งที่คนพูดถึงน้อยก็คือ SDGs นั้นต้องนำมาพิจารณาในบริบทของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ด้วย ว่าสถานะความยั่งยืนของเขาเป็นอย่างไร

ผู้มีส่วนส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีอีกหลายกลุ่ม องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) มีการกำหนด “กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหลัก” (Major Groups of stakeholders) เอาไว้ 9 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคเอกชน เด็กและเยาวชน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และแรงงานและสหภาพแรงงาน ถึงกระนั้นกลุ่มอื่น ๆ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ HIV เป็นต้น ก็สามารถเข้าร่วมการประชุม UN ได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน Major Groups ก็ตาม

การแบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลายกลุ่มที่ค่อนข้างละเอียดมีประโยชน์ที่สำคัญก็คือ ทำให้การพิจารณาสถานการณ์มีความชัดเจน การออกแบบโครงการเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหา บริบทและศักยภาพของคนแต่ละกลุ่ม 

อย่างไรก็ดี การจะเข้าใจสถานการณ์ของแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลทางสถิติที่สามารถจำแนกแยกย่อย (disaggregate) ลงไปได้ถึงระดับบุคคลได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของระบบสถิติที่มักให้ความสนใจกับสถิติภาพรวมของประเทศมาก ดังนั้น หากกระทรวง พม. มีความสนใจที่จะทำรายงานสถานการณ์ทางสังคมที่จำเพาะเจาะจงกับกลุ่มผู้มีสวนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่ม ๆ อาจจะช่วยเพิ่มผู้เล่นในระบบข้อมูลที่อาจช่วยให้ข้อมูลโดยละเอียดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มก็ได้

นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง คอยแก้ปัญหาให้พวกเขา การนำข้อมูลจากประสบการณ์นี้มาเติมเต็มข้อมูลทางสถิติ จะช่วยทำให้ความเข้าใจที่มีต่อสถานการณ์และปัญหาของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มมีความชัดเจนและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดได้

ปัจจุบันในระดับโลกมีการเสนอชุดตัวชี้วัด SDGs ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ไว้ โดยภาพรวม แต่ละกลุ่มเป้าหมายจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs ในกลุ่ม People, Prosperity และ Peace เป็นส่วนใหญ่ และอาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องเป้าหมายในกลุ่ม Planet และ Partnership อยู่บ้าง ท่านสามารถกดที่ลิงก์ไปที่แหล่งข้อมูลได้ตามรายละเอียดด้านล่าง

สำหรับสถานะของตัวชี้วัดสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายนั้น ตอนนี้ทางทีมงานกำลังพยายามทำการสำรวจดูอยู่ว่าเรามีข้อมูลอะไรอยู่แล้วและยังขาดข้อมูลอะไรบ้าง หากมีข้อค้นพบที่สำคัญในอนาคตจะมารายงานให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version