การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Epidemiology and Community Health ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้บุคคลได้รับการศึกษาและการจ้างงานในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นต่างกัน มีส่วนทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในช่วงชีวิตต่อมา แม้ว่าเวลานั้นบุคคลจะมีอาชีพที่ดีกว่าหรือระดับรายได้ที่สูงขึ้นแล้วในวัยกลางคน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยบริสตอล และสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้วิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่รวบรวมจากผู้เข้าร่วมกว่า 12,000 คนในโครงการศึกษา British Cohort Study ปี 1970 (BCS70) เพื่อระบุให้ได้การมีส่วนร่วมทางสังคมและเศรษฐกิจมีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของบุคคลในวัยกลางคนอย่างไร
การศึกษาเริ่มต้นด้วยการแบ่งประชากรในการศึกษาออกเป็นกลุ่มตามเส้นวิถีทางเศรษฐกิจและสังคม (socioeconomic trajectory) ที่ต่างกัน โดยพิจารณาจากการได้รับการศึกษา ประเภทของงานที่ทำ การว่างงานหรือการไม่มีกิจกรรมทางการเงินในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 16-24 ปี) จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรเหล่านี้เมื่ออายุ 46 ปี กับปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ระดับความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล และเส้นรอบเอว
นักวิจัยพบว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) ได้ทำงานในสายวิชาชีพหรืองานบริหารในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มีสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีกว่ากลุ่มประชากรอื่น ๆ เมื่ออายุ 46 ปี และยังพบว่าความเชื่อมโยงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการมีรายได้สูงขึ้นหรือมีตำแหน่งสูงขึ้น ณ อายุนั้น นั่นแปลว่า อิทธิพลของการทำงานและเรียนหนังสือในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดในการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ แต่ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ความเครียดและภาวะซึมเศร้า อาจมีบทบาทสำคัญด้วย
Dr. Eleanor Winpenny นักวิทยาศาสตร์ประจำ MRC Epidemiology Unit จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นผู้เขียนหลักของงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวว่า
“เราพบว่าประสบการณ์การศึกษาและการจ้างงานในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อการประเมินผลด้านสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในช่วงเวลา 20 ปีให้หลัง มากกว่าผลจากอาชีพหรือรายได้ของพวกเขาในขณะนั้น
ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องให้การสนับสนุนคนหนุ่มสาวมากขึ้นเพื่อให้สามารถมีพัฒนาการสุขภาพที่ดีไปสู่วัยกลางคนและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต และเนื่องจากความเสียเปรียบของคนหนุ่มสาวที่มากขึ้นอันเป็นผลจากการระบาดของโคโรนาไวรัสในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำความเข้าใจและบรรเทาผลกระทบที่สถานการณ์เหล่านี้อาจมีต่อสุขภาพในอนาคตของพวกเขา”
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี - (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ - (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573 #SDG8 งานที่มีคุณค่า และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ - (8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชน ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ให้มาก ภายในปี 2563 และความเหลื่อมล้ำทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมยังเกี่ยวข้องกับ #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและระหว่างประเทศ