Site icon SDG Move

การศึกษาในแคนาดาพยายามหาปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงซึ่งอพยพเข้ามาใหม่ เผชิญกับปัญหาสุขภาพหรือไม่มีความพึงพอใจในชีวิต

ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานในแคนาดาเป็นส่วนประกอบสร้างสังคมแคนาดาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานผู้หญิง มักจะไม่ถูกนับรวมหรือตกหล่นไปจากสังคม อาทิ การมีส่วนร่วมในสังคม การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและสุขภาพ รวมไปถึงว่าแรกเริ่มนั้น ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมีสุขภาพดีกว่าชาวแคนาดา ด้วยเงื่อนไขของการคัดกรองด้านสุขภาพก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศที่ระบุว่าจะต้องมีสุขภาพที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีในแคนาดา สุขภาพของผู้อพยพเข้ามาใหม่กลับเสื่อมโทรมลงหรือเกิดโรคเรื้อรังและพิการ ทั้งที่เรื่องความอยู่ดีมีสุขของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญมาก

การศึกษา Chronic health conditions, healthcare experience and life satisfaction among immigrant and native-born women in Canada เผยแพร่ใน emerald insight เป็นความพยายามวิเคราะห์สภาพสังคมและความเป็นอยู่ในแคนาดาที่กระทบต่อประเด็นสุขภาพ โดยเปรียบเทียบผู้หญิงที่เกิดและเติบโตในแคนาดา (native-born Canadian women) และผู้หญิงที่เป็นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามายังแคนาดา (immigrant women) ในด้านสถานะปัญหาสุขภาพเรื้อรัง การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการด้านสาธารณสุข และความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม

นักวิจัยในการศึกษานี้นิยามปัญหาโรคเรื้อรังไว้อย่างหลากหลาย โดยสรุปครอบคลุมทั้งโรคทางกายและโรคทางจิตใจเพราะมีความเชื่อมโยงกัน อาทิ โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง อาการปวดหัวไมเกรน ความผิดปกติทางอารมณ์ ขณะเดียวกัน ปัญหาโรคเรื้อรังอาจไม่ใช่แรงขับที่ทำให้ผู้อพยพเข้าใช้บริการด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะการศึกษาพบว่ายังคงมีอุปสรรคบางประการที่ทำให้พวกเธอไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่จะต้องดูแลครอบครัว มีรายได้ที่น้อย ไม่ได้ใส่ใจสถานะสุขภาพของตนมากนัก หรือติดขัดเรื่องความสามารถทางภาษา ยังเข้ามาอยู่อาศัยในแคนาดาเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป ตลอดจนประเด็นอายุและภูมิหลังด้านการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่/ภูมิภาค และประเด็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจมีน้ำหนักแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลต่อ ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ ในภาพรวม เช่นที่ผู้อพยพผู้หญิงที่มีสุขภาพดี มีระดับความพึงพอใจในชีวิตที่สูงและมักไม่เข้าใช้บริการด้านสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่เกิดและเติบโตในแคนาดา ผลจากการสำรวจผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานผู้หญิง 30 คนในเมืองโตรอนโต ระบุว่า การว่างงานมีผลกระทบด้านลบที่ส่งผลต่อสุขภาวะและสุขภาพที่ดีของตน ขณะเดียวกัน ข้อมูลของผู้อพยพผู้หญิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพนั้น ยังคงมีอย่างจำกัด

ปัจจุบันมีเพียงการศึกษาไม่กี่ชิ้นที่ทำการศึกษาความแตกต่างของผลลัพธ์/สุขภาวะและสุขภาพของผู้อพยพเข้ามาใหม่และชาวแคนาดาแต่เดิม และงานชิ้นนี้พยายามศึกษาโดยเน้นไปที่โรคเรื้อรังและปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ โดยหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การชี้จุดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานในแคนาดาได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้พัฒนาและปรับปรุงโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง

ทั้งนี้ โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประเด็นด้านสุขภาพ เช่น #SDG8 การมีงานที่มีคุณค่าให้ได้ทำ เป็นต้น

แหล่งที่มา:
Chronic health conditions, healthcare experience and life satisfaction among immigrant and native-born women in Canada (emerald insight)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version