รายงาน Towards a Productive and Inclusive Path: Job Creation in the Arab Region โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียตะวันตก (United Nations Economic and Social Commission for Western Asia – UN ESCWA) ระบุว่า ภูมิภาคอาหรับกำลังประสบปัญหาระดับการว่างงานที่สูงที่สุดในโลกโดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงและเด็ก โดยมีประชาชน 14.3 ล้านคนที่ว่างงานตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 และมีระดับการจ้างงานนอกระบบที่สูง คิดเป็น 2 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และระดับเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ต่ำนำมาซึ่งข้อคำถามต่อขีดความสามารถของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเพื่อการจ้างงานในระบบของอาหรับว่า จะสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพ มีคุณค่า และมีเพียงพอสำหรับทุกคนได้อย่างไร
โดยสามารถสรุปและขยายความประเด็นท้าทายตามบริบทของภูมิภาคอาหรับได้ ดังนี้
- ความไม่สงบทางการเมืองและความขัดแย้ง – ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานและเป็นปัญหาหลักของภูมิภาคที่กระทบกับเศรษฐกิจ การลงทุน และความเชื่อมั่น
- ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ – ตลาดแรงงานในอาหรับยังเผชิญกับปัญหาความไม่ เท่าเทียมระหว่างเพศ โดยสัดส่วนผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรืออยู่ในตำแหน่งการบริหารจัดการระดับสูงยังคงมีน้อย จุดนี้จำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าสู่เส้นทางอาชีพและสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้และระดับการศึกษาที่มี
- กลุ่มผู้เปราะบาง – ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน คนพิการ ผู้หญิง แรงงานนอกระบบ ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานได้ จุดนี้จะต้องนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟูจากโควิด-19 ที่คำนึงถึงความครอบคลุม กล่าวคือ ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาค
- ระบบการฝึกอบรมและหลักสูตรการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน – ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ ถึงกระนั้น 40% ของเจ้าของกิจการได้ระบุว่า ปัญหาที่แท้จริงของภูมิภาคอยู่ที่กำลังแรงงานที่มีการศึกษายังมีจำนวนไม่เพียงพอ
- ความขัดแย้งระหว่างนโยบายและความจริงของสภาพตลาดแรงงาน – ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมบทบาทของกิจการขนาดเล็กในการสร้างงาน แต่กิจการขนาดเล็กมีอัตราการจ้างงานที่ต่ำที่สุดในบรรดากิจการต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งภาคการผลิต ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจ โดยมีประชาชน 39.8 ล้านคนที่สุ่มเสี่ยงจะถูกบังคับให้ลาออกหรือลดค่าจ้างต่อชั่วโมงลง
ILO และ ESCWA ย้ำว่า การเลือกใช้นโยบายที่ถูกต้องอย่างผสมผสาน โดยมีกรอบการประสานงานและการเข้ามามีส่วนร่วมของแรงงานและผู้แทนจากผู้จ้างงาน จะช่วยให้สามารถฟื้นฟูสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ โดยต้องมองไปยังอนาคตว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องประสบกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้รายงานดังกล่าวเป็นแนวทางช่วยลดปัญหาการขาดดุลแรงงานในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในระบบภาคเอกชน และช่วยผลักดันให้ภาคเอกชนค้นพบและใช้ขีดความสามารถของตนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของารเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างงานและการจ้างงานที่มีคุณค่าทั่วทั้งภูมิภาคได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็ก และขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
ทั้งนี้ โดยอาศัยปัจจัย
#SDG1 ยุติความยากจน
-(1.4) สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุม และเท่าเทียม
-(4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นรวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพ สำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดี และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง
-(5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผลและความรับผิดรับชอบ
แหล่งที่มา:
ILO and ESCWA: Arab region registers the highest unemployment levels worldwide (ILO)