‘ความปลอดภัยของสื่อมวลชน’ เป็นกุญแจสำคัญในการคุ้มครอง ‘สิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร’ ขณะเดียวกัน ‘เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก’ ก็เป็นภาพสะท้อนความแข็งขันของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ สามปัจจัยที่เกี่ยวพันกันนี้ เกื้อหนุน ‘หลักนิติธรรม’ (rule of law) ในสังคมให้เกิดการพัฒนาโดยมีสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง ก่อร่างสังคมที่ประชาชนมีความเฉลียวฉลาด (human ingenuity) ในการสรรสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ขับเคลื่อนสังคมให้รุดหน้าด้วยข้อมูลและองค์ความรู้อย่างครอบคลุม (inclusive knowledge societies) สู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม (social inclusion) สังคมที่มีสันติภาพ และตระหนักในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
หรืออีกนัยหนึ่ง สามหัวใจดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งเสริม #SDG16 – (16.10) ด้านสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (16.3) นิติธรรม (16.6) สถาบันรับผิดรับชอบและมีความโปร่งใส และ (16.7) การมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนในการตัดสินใจ หรือย้ำถึงบทบาทของหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสำคัญแห่งยุคอย่าง #SDG9 – (9.c) ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้า แต่เพียงเท่านั้น เพราะประเด็นนี้ยังช่วยเป็นหู เป็นตา และเป็นปากให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีตามเป้าหมายในมิติอื่น ๆ ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
SDG Updates วันนี้ ชวนอ่านความสัมพันธ์ของบทบาทของสื่อมวลชนที่มีต่อ SDGs ความสำคัญของข้อมูลข่าวสารในฐานะ ‘สินค้าสาธารณะ’ (public goods) ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ที่สื่อและสารจะต้องได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ ทั้งนี้ ยังได้ฉายภาพตัวอย่างสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกรวมถึงไทยในวันนี้จากบทวิเคราะห์ใน World Press Freedom Index 2021 จัดทำโดย Reporters Without Borders ด้วย
01 – บทบาทของสื่อมวลชนกับ SDGs
SDGs พูดให้ง่ายที่สุดก็คือเป้าหมายที่โยงใยองค์ประกอบของการพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีในมิติของคน ความมั่งคั่ง โลกและสิ่งแวดล้อม สันติภาพ และหุ้นส่วนความร่วมมือ ซึ่งตัวแปรหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยติดตามความคืบหน้า ติดตาม ‘ผู้เล่น’ (actors) ในประเด็นหนึ่ง ๆ สอดส่องปัญหา ตรวจสอบจุดที่ติดขัด สืบเสาะหาและเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือกระทั่งชี้ช่องทางที่จำเป็นต้องอุดรอยโหว่ของการพัฒนา นั่นก็คือ ‘สื่อมวลชน’ นักหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยนอกจากในเชิงประเด็นเนื้อหาแล้ว ยังเป็นในเชิงของความโปร่งใสของนโยบายและการปฏิบัติ การเข้ามากระตุ้นหน่วยงานภาครัฐตลอดจนหุ้นส่วนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการหรือปรับปรุงการดำเนินการให้ดีขึ้น หรือเป็นไปตามหลักการและเป้าหมายสู่ความยั่งยืน บทบาทของสื่อมวลชนสำหรับ SDGs จึงไม่แตกต่างไปจากภารกิจและจรรยาบรรณที่สื่อมวลชนยึดถือแต่อย่างใด และยังเป็นคุณประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะผู้ที่จะได้รับประโยชน์ (beneficiary)
เพราะสื่อมวลชนที่รายงานสถานการณ์ไปจนถึงการสืบเสาะหาข้อเท็จจริง (investigative journalism) สามารถเข้ามาช่วยรายงานสาเหตุของปัญหาความยากจน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ทำไมพลเมืองในพื้นที่หนึ่งถึงประสบกับความอดอยาก อาหารในโรงเรียนมีโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพของเด็กหรือไม่ การสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศเป็นอย่างไร การผลักดันความเท่าเทียมระหว่างเพศคืบหน้าไปถึงขั้นไหน ยังมีพื้นที่ใดบ้างที่เข้าไม่ถึงการมีน้ำสะอาด สุขาภิบาลที่ดี หรือไฟฟ้าที่ราคาซื้อหาได้ อัตราการว่างงานสูงหรือไม่ แล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ไปจนถึงประเด็นอื่น ๆ ทั้งอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เมืองและชุมชน การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล ตลอดจนความยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถมีข้อมูลประกอบกระบวนการตัดสินใจและดำเนินนโยบายสู่การปฏิบัติได้ดีขึ้น ขณะที่พลเมืองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง แล้วเข้ามาร่วมขับเคลื่อน หรือสะท้อนข้อเท็จจริง หรือคอยกำกับทิศทางและเสนอทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าได้
02 – สื่อยังต้องตรวจสอบตัวเองและเป็นผู้ส่งเสริมความรู้และข้อเท็จจริงแก่สังคม
หน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนยังรวมถึงการสื่อสารที่ถูกต้อง ประกอบไปด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่ผิด (misinformation) หรือข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) โดยที่ต้องสำรวจและตรวจสอบตัวเองด้วยในขณะเดียวกัน และช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการศึกษาแก่สาธารณชน ไม่ว่าจะผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตและดิจิทัลแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ถึงกระนั้น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารอาจเผชิญกับตัวแปรอื่นที่ส่งผลต่อการทำงาน อย่างที่ในปีนี้ (2564) Edelman บริษัทด้านการสื่อสารรายใหญ่จากสหรัฐฯ นิยามว่าเป็น ‘ปีแห่งการล้มละลายทางข้อมูลข่าวสาร’ (Information Bankruptcy) กล่าวคือ ในขณะที่สาธารณชนต้องการเสพข้อมูลข่าวสารอย่างไม่หยุดหย่อนและมากกว่าที่เคยเป็นมา บริษัทผลิตสื่อและข่าวสารต่างเผชิญกับความท้าทายตั้งแต่รายได้จากการโฆษณาไปจนถึงกฎหมายและข้อบังคับที่เข้ามากำหนดวิถีของการดำเนินงาน ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบต่อคุณภาพของข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่รับผิดรับชอบ รักษาไว้ซึ่งพื้นที่และการถกเถียงในสังคมอย่างสมดุล หรือจุดประกายกระบวนการพูดคุย/เสวนาที่สร้างสรรค์ของประเทศ (constructive national dialogue) ขณะเดียวกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชน (public trust) ที่มีต่อแหล่งข้อมูลข่าวสารดั้งเดิมอาจตกต่ำลง และมองว่าสื่อมวลชนในวันนี้ อาจไม่ได้คงความเป็นกลาง (objective and non-partisan)
เมื่อประชาชนสงสัยในความเถรตรงและน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยที่ไม่เป็นการชี้นำ หรือเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยที่ไม่รู้ตัว หรือไม่มีสิทธิเลือกที่จะรับสาร หรือข้อมูลที่มีอยู่ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดอาจเป็นเท็จ/บิดเบือนและส่งผลเสียต่อการตัดสินใจในลักษณะความเป็นความตาย อย่าง ‘การแพร่กระจายข้อมูลเท็จในช่วงโรคระบาด’ (disinfodemic) ในวิกฤติการโควิด-19 นั่นหมายถึงว่า ระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสาร (information ecosystems) กำลังเสื่อมถอย สวนทางกับการส่งเสริมเรื่องสิทธิของพลเมือง สิทธิที่จะได้ตัดสินใจโดยที่รับทราบข้อมูล และการเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนพัฒนาสังคมให้มีสันติภาพ
03 – เมื่อข้อมูลข่าวสารเป็นสินค้าสาธารณะ รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องสื่อ และทุกคนต้องช่วยกันคงไว้ซึ่งระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่ดี
วันเสรีภาพของสื่อ World Press Freedom Day 2021 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เน้นแนวคิด ‘ข้อมูลข่าวสารในฐานะสินค้าสาธารณะ’ (information as a public goods) กล่าวคือ เป็นสินค้าและบริการที่จัดหาให้ฟรีและเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในสังคม โดยให้ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่กับเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) การที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (access to information) และบทบาทของสื่อมวลชนที่มีในด้านการบริการสาธารณะ (public service role of journalism) โดยสำรวจความโปร่งใสของข้อมูลเนื้อหาตั้งแต่การผลิต การแจกจ่าย และการรับสาร ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนระบบนิเวศของงานด้านการสื่อสารได้ ทั้งนี้ หากปล่อยปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสไว้โดยไม่แก้ไข สุญญากาศของข้อมูลและข้อเท็จจริงนี้จะถูกถมด้วยข้อมูลที่เป็นอันตราย (harmful content) ข้อมูลในลักษณะเกลียดชัง (hate speech) และข้อมูลที่ชี้นำหรือเป็นการสมคบคิด
ดังนั้น เมื่อตระหนักว่าข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือเป็นสินค้าสาธารณะ รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบให้สื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเปิดเผย โดยจะต้องปกป้องและคุ้มครองสื่อตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และลดการใช้กฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่ส่งผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนหรือทำให้มีความโอนเอียง ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้พลเมืองได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง พร้อมกันนั้น ตัวสื่อมวลชนเอง ภาคเอกชนอันหมายรวมถึงแพลตฟอร์มให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ภาคประชาสังคมและอื่น ๆ ต่างก็มีหน้าที่ในการส่งเสริมระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกที่ควร
04 – สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนในวันนี้
กลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporters Without Borders องค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร จัดทำ World Press Freedom Index 2021 ซึ่งสำรวจเสรีภาพของสื่อใน 180 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก ด้วยเกณฑ์การประเมิน 7 ตัวชี้วัด (ความเห็นที่หลากหลาย, อิสระของสื่อ, เซ็นเซอร์ชิปรวมถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง, กรอบกฎหมาย, ความโปร่งใส, โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการผลิตสื่อ, การละเมิด) ได้สะท้อนประเด็นสำคัญของปีว่าผู้เสพข้อมูลข่าวสารย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ขณะที่บนโลกออนไลน์เองก็มีปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ข้อมูลที่บิดเบือน ข่าวลือ และทฤษฎีสมคบคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายวัคซีนและการเมือง นอกจากนั้น บริษัทผลิตสื่อยังเผชิญกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้และเผชิญอุปสรรคสำคัญเรื่อง ‘ความเป็นอิสระ’ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน เพราะมีประเด็นการถูกคุกคาม ถูกจับกุม และการรายงานข่าวที่ถูกเซ็นเซอร์ ถูกควบคุม และถูกบล็อกจากรัฐ โดยเฉพาะระบอบเผด็จการ หรือด้วยสาเหตุด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมในสังคมนั้น ๆ เอง
กล่าวได้ว่าปัญหาสำคัญที่กำลังเสื่อมถอยลงเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและความปลอดภัยของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิด-19 ที่หลายประเทศมีการบล็อกสื่อมวลชนไม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการรายงานข่าวได้ รวมถึงการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนยังเป็นไปอย่างติดขัด สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ทั้งที่ในมุมของผู้จัดทำดัชนีดังกล่าวระบุว่า ‘สื่อมวลชนเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดที่จะต่อสู้กับข้อมูลเท็จ’ ด้วยการเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมารายงานให้เกิดการถกเถียงขึ้นในสังคม
ทั้งนี้ จากการจัดกลุ่ม 5 กลุ่มสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชน พบว่าภาพรวม 180 ประเทศที่ทำการสำรวจในปี 2564 มีดังนี้
หรือมีสัดส่วน ดังนี้
- สถานการณ์ดี (สีขาว) 6.93%
- สถานการณ์น่าพึงพอใจ (สีเหลือง) 19.80%
- สถานการณ์มีปัญหา (สีส้ม) 32.67%
- สถานการณ์ที่ยากลำบาก (สีแดง) 28.71% และ
- สถานการณ์ร้ายแรง (สีดำ) 11.88%
ภาพรวมของแต่ละภูมิภาค
● ยุโรป – จัดเป็นทวีปที่มีสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนที่ดีและค่อนข้างดี แต่ยังคงมีประเด็นการใช้ความรุนแรง การโจมตีและจับกุมสื่อมวลชน เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ยุโรปดิ้นรนที่จะปกป้องคุณค่าสิทธิและเสรีภาพที่ตนยึดถือ
● อเมริกาเหนือ กลาง และใต้ – แม้อเมริกาเหนือจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีประเด็นเสรีภาพที่น่ากังวล อาทิ การละเมิดและจับกุมสื่อมวลชน ส่วนสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในอเมริกาใต้ซับซ้อนและย่ำแย่ลงโดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง
● เอเชียแปซิฟิก – มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารและเผยแพร่ข้อมูลเท็จอย่างหนัก ตลอดจนการใช้กฎหมายควบคุม ปรากฏในบรรดาประเทศที่มีลักษณะการปกครองในระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยในลักษณะเผด็จการ
● ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง – อยู่ในระดับสองรั้งจากท้ายที่มีปัญหาเสรีภาพของสื่อมวลชน มีข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและการควบคุมสื่อ
● แอฟริกา – ยังคงเป็นภูมิภาคที่รุนแรงสำหรับสื่อมวลชน นอกจากการละเมิดหรือความรุนแรงต่อสื่อแล้ว ยังปรากฏแนวคิดต่อต้านทฤษฎีสมคบคิดจากตะวันตก
● ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ – ยังคงเป็นภูมิภาครั้งท้ายที่มีปัญหาเสรีภาพสื่อมวลชน มีนโยบายที่กดขี่สื่อ ระบบยุติธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปิดปากสื่อ มีการผูกขาดข้อมูลและข่าวสาร สื่อมวลชนตกอยู่ในอันตราย รวมถึงว่าการที่ไม่มีข้อมูลความเคลื่อนไหวประกอบการจัดทำดัชนีนี้ เป็นหนึ่งตัวแสดงชี้สภาพปัญหาของภูมิภาค
10 ประเทศแรกที่เสรีภาพของสื่อมวลชนดี และ 10 ประเทศสุดท้ายที่เสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ในขั้นร้ายแรง
โดย 10 ประเทศแรกที่พบว่ามีสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนดี (สีขาว) ได้แก่ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก คอสตาริกา เนเธอร์แลนด์ จาไมก้า นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ ขณะที่ 10 ประเทศสุดท้ายที่พบว่ามีสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ในขั้นร้ายแรง (สีดำ) จากลำดับที่ 170 – 180 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คิวบา ลาว ซีเรีย อิหร่าน เวียดนาม จิบูตี จีน เติร์กเมนิสถาน เกาหลีเหนือ และเอริเทรีย
ทิศทางของเสรีภาพสื่อมวลชน
- เสรีภาพของสื่อมวลชนในปี 2564 นี้ เสื่อมถอยลงจากแรกเริ่มที่มีการพัฒนาดัชนีนี้ขึ้นเมื่อปี 2556 ที่ 12%
- โดยมีเพียง 12 ประเทศจาก 180 ประเทศ หรือโดยเฉลี่ยที่ 7% ถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสื่อมวลชน
- ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลง: เยอรมันหลุดจากกลุ่มสีขาวมาเป็นสีเหลืองกลุ่มเดียวกับสหรัฐฯ จากเหตุที่สื่อมวลชนถูกโจมตีจากผู้ที่เชื่อและสนับสนุนในทฤษฎีสมคบคิดในช่วงการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิด-19 ขณะที่สื่อมวลชนในสหรัฐฯ ถูกละเมิดหรือถูกจับกุมจำนวนหลักร้อย บราซิลเข้ากลุ่มสีแดง ร่วมกับอินเดีย เม็กซิโก และรัสเซีย จีนยังคงเดินหน้าสอดส่องและเซ็นเซอร์ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและทำโฆษณาชวนเชื่อต่อไป ส่วนประเทศที่ตกต่ำที่สุด ตกลงมา 18 อันดับสู่ลำดับที่ 119 ในปีนี้ได้แก่ มาเลเซีย โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากการออก พ.ร.ฎ.ต่อต้านข่าวปลอม (เฟกนิวส์) อนุญาตให้รัฐบาลมีอำนาจกำหนด ‘ชุดความจริง’ ของตนเอง ทั้งนี้ บุรุนดี เซียร์ราลีโอน และมาลี ซึ่งล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกา มีพัฒนาการด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนดีขึ้น ในแง่ที่สามารถขยับอันดับขึ้นมาได้เฉลี่ย 10 อันดับ ด้วยเหตุที่มีการปล่อยตัวสื่อมวลชน การยกเลิกกฎหมายความผิดทางอาญาของสื่อมวลชน เป็นต้น
05 – สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนในไทย
ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 137 จาก 180 ประเทศ หรืออยู่ในกลุ่มสีแดงที่สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนตกที่นั่งลำบาก จากสาเหตุของการสืบทอดอำนาจตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบันที่มีข้อกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์จัดการกับความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ การออกกฎหมายเพื่อจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ ‘สร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณะ’ และการใช้ ม.112 ที่มีโทษอาญาประกอบกับการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ความพยายามแก้ไข ‘ข้อเท็จจริง’ ตลอดจนการอนุญาตให้กัมพูชา จีน และเวียดนามสามารถดำเนินการจับกุมสื่อมวลชนหรือบล็อกเกอร์ (bloggers) ที่ลี้ภัยมายังไทย กลับไปดำเนินคดีหรือคุมขังในประเทศต้นทาง
ขณะที่สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนในโลกยังคงน่ากังวล ต้องไม่ลืมว่าเมื่อใดที่สื่อมวลชนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่มีความปลอดภัยหรือตกอยู่ในอันตราย ข้อมูลข่าวสารถูกควบคุม บิดเบือน หรือแฝงไปด้วยผลประโยชน์ ก็ย่อมกระทบกับสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อมูลและสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมอย่างเต็มที่ เป็นภาพสะท้อนกำแพงด้านเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก สิทธิที่จะรู้ หลักนิติธรรม การมีรัฐบาลเปิด (open government) ในสังคมนั้น และขีดความสามารถที่จะเดินไปสู่สังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่มุ่งหวังไว้
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs
SDG Recommends | Infodemic กับ SDGs เสรีภาพในอินเตอร์เน็ตของเอเชีย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
– (9.c) ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้า
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผลและรับผิดรับชอบ
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศและสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
– (16.6) สถาบันรับผิดรับชอบและมีความโปร่งใส
– (16.7) การมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนในการตัดสินใจ
– (16.10) ด้านสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ โดยที่บทบาทของสื่อมวลชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของทุกเป้าหมาย SDGs
แหล่งอ้างอิง:
Sustainable Development Goals for Communication and Information (UNESCO)
The role of media in promoting effective citizen participation for achieving the SDGs (Ghanaweb)
World Press Freedom Day 2021: Information as a public good (UNESCO)
Independent journalism is a public good. We must work together to protect it (World Economic Forum)
A healthy news media is more critical than ever (UNDP)
2021 World Press Freedom Index (Reporters Without Borders)
2021 World Press Freedom Index: Journalism, the vaccine against disinformation, blocked in more than 130 countries (Reporters Without Borders)
Analyses: 2021 World Press Freedom Index (Reporters Without Borders)
WPF Index: Thailand (Reporters Without Borders)