“หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”แม้จะเป็นนิยามความหมายของคำว่าหลักนิติธรรม หรือ rule of law ได้อย่างรวบรัดที่สุด แต่ยังมีรายละเอียดที่จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนมากขึ้น โดยเอกสาร The rule of law and transitional justice in conflict and post-conflict societies: Report of the Secretary-General(2004) แปลเป็นภาษาไทยโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุนิยามของหลักนิติธรรมไว้ว่าหมายถึง
“…หลักการปกครองที่บุคคลทั้งหลาย สถาบันและหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณะหรือเอกชนรวมไปถึงรัฐ มีความรับผิดรับชอบต่อกฎหมายที่ได้มีการประกาศอย่างเป็นการทั่วไป มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอกันและสอดคล้องกับธรรมเนียมและมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลักดังกล่าวนี้จะต้องมีมาตรการเพื่อเป็นการประกันการเคารพและการปฏิบัติต่อหลักการความสูงสุดของกฎหมาย ความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ความรับผิดรับชอบต่อกฎหมาย ความโปร่งใสและยุติธรรมในการใช้กฎหมาย การแบ่งแยกอำนาจ การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย หลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ ความโปร่งใสของกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมาย”
“…a principle of governance in which all persons, institutions and entities, public and private, including the State itself, are accountable to laws that are publicly promulgated, equally enforced and independently adjudicated, and which are consistent with international human rights norms and standards. It requires, as well, measures to ensure adherence to the principles of supremacy of law, equality before the law, accountability to the law, fairness in the application of the law, separation of powers, participation in decision-making, legal certainty, avoidance of arbitrariness and procedural and legal transparency”
นอกจากนี้ หลักนิติธรรมตามนิยามของโครงการศึกษาวิจัยการสํารวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย เป้าหมายที่ 16 (ปี 2560) หมายถึง ‘การมีกฎหมายที่ยุติธรรมและกฎหมายดังกล่าวต้องถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียม สาระสําคัญของนิติธรรมยังรวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มชนหรือเสียงข้างน้อย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและมีกําลังตํารวจที่สุจริตและเป็นกลาง’
ส่วนตัวชี้วัด 8 องค์ประกอบภายใต้ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมที่เรียกว่า Rule of Law Index โดยโครงการ World Justice Project นั้น ยังกินใจความรวมถึง
- ข้อจำกัดการใช้อำนาจของรัฐบาล (constraints on government powers)
- ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน (absence of corruption)
- รัฐบาลเปิด (open government)
- สิทธิขั้นพื้นฐาน (fundamental rights)
- ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง (order and security)
- การบังคับใช้กฎหมาย (regulatory enforcement)
- ความยุติธรรมทางแพ่ง (civil justice)
- ความยุติธรรมทางอาญา (criminal justice)
ซึ่งสำหรับตัวชี้วัดของ #SDG16 – (16.3) มีด้วยกัน 3 ตัวชี้วัด เกี่ยวกับสัดส่วนเหยื่อของความรุนแรง สัดส่วนผู้ถูกคุมขังที่ยังไม่ได้รับการพิพากษา และสัดส่วนของประชากรที่ประสบปัญหาข้อพิพาท
หลักนิติธรรมยังถือเป็นองค์ประกอบหลักองค์ประกอบหนึ่งของหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อ #SDG16 ในภาพรวม หลักธรรมาภิบาลที่ดีตามที่องค์การสหประชาชาติได้ระบุไว้ 8 ประการ มีดังนี้
- หลักนิติธรรม (Rule of Law)
- หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
- หลักความโปร่งใส (Transparency)
- หลักความรับผิดรับชอบ (Responsibility)
- หลักการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Responsiveness)
- หลักมุ่งเน้นฉันทามติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน (Consensus oriented)
- หลักความเสมอภาคและการนับรวมทุกกลุ่มคน (Equity and inclusiveness)
- ความมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ (Effectiveness and efficiency)
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ย้ำความสำคัญของ ‘หลักนิติธรรม’ ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาและความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ การปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐ การจัดการกับการคอร์รัปชัน การจำกัดการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด การก่อร่างสัญญาประชาคมระหว่างประชาชนกับรัฐ เพราะหลักนิติธรรมกับการพัฒนาสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น การทำให้หลักนิติธรรมในสังคมมีความเข้มแข็งจะเป็นฐานนำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คำว่า นิติธรรม ปรากฎอยู่ใน ‘#SDG16 – (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
Target 16.3: Promote the rule of law at the national and international levels and ensure equal access to justice for all
● อ่านเพิ่มเติมภาพรวม #SDG16
โครงการศึกษาวิจัยการสํารวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย เป้าหมายที่ 16 (ปี 2560)
● อ่านเพิ่มเติมความเป็นมาและความแตกต่างระหว่างหลักนิติรัฐ-หลักนิติธรรม ที่:
บทความทางวิชาการ: หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม โดยศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เว็บไซต์วุฒิสภา ปี 2555)
● อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Good Governance กับ Effective Governance ที่:
Effective governance: แนวคิดเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
หลักนิติธรรม (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 16 (2560)
What is the Rule of Law (UN)
Last Updated on มกราคม 3, 2022