บทบาทของระบอบการปกครองของแต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยที่สร้างแรงจูงใจที่มาจากการแข่งขันทางการเมืองให้รัฐบาลลงทุนเพื่อให้ประชาชนวงกว้างเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้
บทความวิจัย Democracies Linked To Greater Universal Health Coverage Compared With Autocracies, Even In An Economic Recession ประเมินความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพของประชาธิปไตย (democracy quality) ที่มีต่อ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ และการจัดสรรเงินทุนด้านสุขภาพแก่ประชาชน ผ่านข้อมูลและดัชนีโดยสังเกต (observational) ของทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 170 ประเทศ ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1990 – 2019 โดยในจำนวนประเทศทั้งหมดในการศึกษานี้มี 73 ประเทศจัดเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และที่เหลือ 97 ประเทศ มีการปกครองในรูปแบบเผด็จการ พบว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต่อหัวประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 326 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 601 ดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับการใช้จ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต่อหัวประชากรในประเทศเผด็จการ ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 77 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 192 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ผลการศึกษา ระบุว่า คุณภาพของประชาธิปไตยมีส่วนทำให้เกิดความก้าวหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีความสัมพันธ์เชิงบวกที่สำคัญสำหรับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพและการใช้จ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ต่ำ นอกจากนั้น ผลการประเมินยังแสดงให้เห็นว่า แม้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเป็นเวลาที่การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จ่ายได้และมีประสิทธิภาพมีความสำคัญที่สุดสำหรับประชาชน ประเทศประชาธิปไตยมีแนวโน้มมากกว่าประเทศเผด็จการที่จะยังคงให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพสูงได้เมื่อต้องการโดยไม่ต้องแลกมากับความยากลำบากทางการเงินในอนาคต แต่ผู้นำประเทศที่มีการปกครองต่างกันนั้นย่อมมีตัวเลือกทางการเมืองในการส่งเสริมความก้าวหน้าของหลักประกันสุขภาพที่ต่างกัน กล่าวคือ ในประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ มีเสรีภาพ และยุติธรรม จะมีแรงจูงใจมากกว่าระบอบเผด็จการในการจัดหาทรัพยากรและบริการส่งเสริมสุขภาพประชากร และยังเปิดกว้างรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าจึงมีการลงทุนพัฒนาให้ระบบมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น
ผู้วิจัยเสนอว่า สถาบันระดับโลกและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาจจำเป็นต้องปรับข้อเสนอแนะด้านนโยบายและการดำเนินงานของตนเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในประเทศที่ผู้นำทางการเมืองขาดแรงจูงใจในการแข่งขันทางการเมืองมากพอที่จะลงทุนให้เกิดระบบดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงแก่ประชากร
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี - (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง - (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส - (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
ที่มา : Democracies more likely than autocracies to maintain universal health coverage (News Medical)
Last Updated on สิงหาคม 25, 2021