ภาคอาชีวศึกษามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความยั่งยืน แต่ความพร้อมของบุคลากรและหลักสูตรยังไม่เพียงพอ

บุคลากรในภาคอาชีวศึกษาส่วนใหญ่ เชื่อว่าการสอนหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มเติมในระบบการศึกษาวิชาชีพของสหราชอาณาจักรเป็นเรื่องจำเป็น

รายงานสำรวจ Experiences of Education for Sustainable Development in the Further Education and Training Sector’ โดย มูลนิธิการศึกษาและการฝึกอาชีพ หรือ Education and Training Foundation (ETF) เปิดเผยว่า บุคลากรในภาคอาชีวศึกษา (Further education) ในสหราชอาณาจักร ถึง 2 ใน 3 รู้สึกว่าระบบการศึกษาไม่ได้ให้ความรู้ในประเด็นความยั่งยืนแก่ผู้เรียนได้ดีเพียงพอ

ข้อค้นพบจากรายงานฉบับนี้มาจากการสำรวจประสบการณ์ของบุคลากรทั้งหมด 830 คนในภาคการศึกษาต่อเนื่องในสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยอาจารย์ ผู้ฝึกอบรม และผู้บริหาร ที่มีต่อการเรียนการสอนตามแนวทาง การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Education for Sustainable Development : ESD) พบว่า บุคลากร 68% รู้สึกว่าระบบการศึกษาในสายอาชีวะปัจจุบันไม่สามารถให้ความรู้ในประเด็นความยั่งยืนได้เพียงพอ ขณะที่กว่า 70% รู้สึกว่าต้องการให้มีการสอนในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ESD มากขึ้นในระบบการศึกษาต่อเนื่องหลังการศึกษาภาคบังคับ (Post-16 Education)

รายงาน ETF พบอีกว่า บุคคลากรในภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ค่อนข้างต่ำ โดยมีเพียงแค่ 43% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่คุ้นเคยกับ SDGs อยู่แล้วก่อนการสำรวจ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (85%) เห็นด้วยว่าภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน และผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (94%) เห็นไปในทางเดียวกันที่เชื่อว่าผู้เรียนในสหราชอาณาจักรทุกคนควรได้รับการสอนเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืน

โดยข้อค้นพบของ ETF ทั้งหมด สามารถสรุปได้เป็น 5 หัวข้อใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. แนวคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นที่เข้าใจในวงกว้างในภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ
  2. มีความเชื่อมั่นในวงกว้างว่าภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพอยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความยั่งยืนได้
  3. วิชาเฉพาะทางที่หลากหลายล้วนมีบทบาทสำคัญ
  4. ผู้ให้บริการความรู้ในภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพต่างกัน มีระดับความรู้ความเข้าใจต่อ ESD ต่างกัน
  5. บุคลากรของภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพได้รับการฝึกอบรมเพียงแค่เล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการการสอน ESD ที่มีคุณภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ผลการสำรวจในครั้งนี้จะช่วยให้ ETF สามารถพัฒนากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อช่วยสนับสนุนการนำ ESD ไปใช้เพื่อส่งเสริมการสอน การเรียนรู้ และการประเมินในภาคอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพ และยังเป็นการให้ข้อมูลผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการศึกษานี้ใช้เพื่อวางแผนแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอน ESD ของตนเองต่อไป

อาชีวศึกษา (Further Education) เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งเหมาะกับนักเรียนที่ไม่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ต้องการที่จะมีคุณวุฒิทางวิชาชีพต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ คุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษานี้ มีทั้งของรัฐบาลและของเอกชน
ที่มา : Apex Education

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
- (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
- (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า

ที่มา :
Report: Education system falls short on sustainability (Tes Global)

Last Updated on สิงหาคม 25, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น