SDG Recommends | ผ่านไปแล้ว 1 ปีร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย กับการรอเสนอเข้าสภาฯ ที่ไม่มีกำหนด

การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือที่เรียกว่า ‘อุ้มหาย’ ซึ่งทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยกเว้นหรืออนุญาตให้ทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ในทางระหว่างประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และมีผลใช้บังคับกับไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 แต่ก็ไม่ได้มีการบัญญัติกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายภายเพื่อป้องกันและจัดการกับการกระทำดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. แต่ส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง โดยยังไม่มีการกำหนดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภาเมื่อใด ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้อุ้มหายมีทั้งฉบับที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม จากภาคประชาชน พรรคการเมือง

แม้ว่าการทรมานและการอุ้มหายจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่การมีกฎหมายที่กำหนดความผิด มาตรการป้องกัน เยียวยาที่ชัดเจนจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้เป็นรูปธรรมกว่า
ในกรณีนี้รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นที่สะท้อนความสำคัญของการมีกฎหมายป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายว่า


แม้การทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้ในหลายฐานความผิด แต่ก็เป็นฐานความผิดที่ใช้ลงโทษคนทั่วไปที่กระทำทรมาน ซึ่งไม่ได้แสดงถึงความร้ายแรงของความผิดฐานกระทำทรมาน (torture) ที่เป็นการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐการมีกฎหมายเฉพาะลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำทรมานจึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด

ความเห็นจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่ข้อความลงบนเฟซบุคส่วนตัวโดยเผยแพร่แบบสาธารณะ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564

นอกจากนี้ อาจารย์ปกป้องยังให้ความเห็นต่อไปว่า การมีกฎหมายยังเป็นการสร้างความตะหนักให้เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า
1.ทรมาน (torture) ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ (international crimes) ที่ทั่วโลกร่วมกันป้องกันและปราบปราม
2.สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิเด็ดขาด (non derogable rights) ที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจกระทำได้ ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายเกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 16 ได้แก่

SDG 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
SDG 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่ 16.10.1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับจำนวนคดีฆาตกรรม ลักพาตัว การถูกพราก การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมานผู้สื่อข่าว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สหภาพทางการค้าและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน

อ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ได้ที่นี่

อ้างอิง

https://www.facebook.com/pokpong.srisanit/posts/6508666822478627

Last Updated on สิงหาคม 25, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น