ชยา วรรธนะภูติ
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2021 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ เรียกสั้นๆ ว่า IPCC) หน่วยงานซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกในปี 1988 ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[1] ใจความว่า มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกในปัจจุบันสูงขึ้นกว่าในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วประมาณ 1°C และจะเพิ่มเกิน 1.5°C อย่างแน่นอน นั่นหมายความว่า หากไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง จะทำให้เป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ล้มเหลว พร้อมกับที่แทบทุกพื้นที่บนโลกจะประสบกับความรุนแรงทางสภาพอากาศ รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะบั่นทอนการพัฒนาประเทศไปอีกเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการลดระดับก๊าซเรือนกระจกเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด แต่สิ่งที่ต้องตระหนักควบคู่กันไปด้วย คือ การบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อมระดับโลก
รายงานของ IPCC ไม่มีอะไรใหม่ – ยังคงยืนยันว่า มนุษย์เป็นตัวการหลักที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
หน้าที่ของคณะกรรมการ IPCC คือ การสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการตัดสินใจ ในทุก ๆ ประมาณ 5-6 ปี จะมีการเผยแพร่รายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Assessment Report: AR) เช่น AR3 (2001), AR4 (2007), AR5 (2014), และ AR6 (2021) เนื้อหาของรายงานแบ่งเป็น 3 กลุ่มคณะทำงาน (Working Group: WG) ได้แก่ ด้านการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสภาพภูมิอากาศ (WG1) ด้านผลกระทบ การปรับตัวและความเปราะบาง (WG2) และด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (WG3) แต่สิ่งที่รายงาน AR6 ล่าสุดแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ คือ มีเพียงการเผยแพร่เฉพาะเนื้อหาของ WG1 เท่านั้น โดยจะปล่อยรายงาน WG2 และ WG3 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ปี 2022 ตามลำดับ (คาดว่าเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19) นี่จึงทำให้ท่าทีของรายงาน IPCC ฉบับนี้เน้นไปที่การตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากกว่าการนำเสนอแนวทางการรับมือกับผลกระทบ และแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
● รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”
● อ่านรายงานล่าสุด ‘สถานะสภาพภูมิอากาศของโลก 2563’: ดู Climate Change ว่าเป็นอย่างไรในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากรายงาน AR6 WG1 สรุปได้ว่า มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกและความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษที่ 21 มีค่าสูงกว่าในช่วงยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850) อย่างมีนัยสำคัญ ในรายงาน AR5 กล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลก ช่วงปี 2003–2012 มีตัวเลขสูงกว่าอุณหภูมิในช่วงปี 1850–1900 อยู่ที่ 0.78 (0.72-0.85)°C สอดคล้องกับข้อมูลใน AR6 ที่รายงานว่า ช่วงปี 2001–2020 มีอุณหภูมิสูงกว่าในศตวรรษที่ 19 อยู่ที่ 0.99 (0.84-1.10)°C อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทะลุไปถึง 410 ส่วนในล้านส่วนแล้ว (parts per million: ppm) (ใน AR5 รายงานอยู่ที่ประมาณ 390 ppm) ก๊าซมีเทน 1866 ส่วนในพันล้านส่วน (parts per billion: ppb) และไนตรัสออกไซด์ 332 ppb หากไม่มีโครงการลดการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง คาดว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ (ปี 2081-2100) อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5°C หรือ 2°C อย่างแน่นอน (สูงสุดที่ 1.8, 3.5 และ 5.7°C ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำ กลาง สูง ตามลำดับ)
รายงานฉบับนี้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเกินกว่า 2°C จากค่าอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 1.5°C ตามข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงพบว่ากรอบด้านอุณหภูมิอยู่เหลืออยู่เพียงประมาณ 0.5°C เท่านั้น หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกเพียงแค่ 1000 GtCO2 โดยในเวลาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยที่ปีละประมาณ 40 GtCO2 นั่นแปลว่า เหลือกรอบด้านเวลาอีกประมาณ 25 ปี หรือตีคร่าว ๆ ที่ปี 2050 ก่อนที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มเกิน 1.5°C
การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลก ทำให้สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนตามธรรมชาติอยู่แล้วนั้น ทวีความรุนแรงและคาดการณ์ได้ยากขึ้นไปอีก ดังเช่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าช่วงฤดูหนาวสั้นลง แทนที่ด้วยฤดูร้อนที่ยาวขึ้นพร้อมกับการเกิดอากาศร้อนสุดขั้วและ Heatwave ถี่ขึ้น ฝนตกหนักแบบทิ้งช่วงสลับกับช่วงแล้งที่ยาวนานขึ้น เกิดพายุที่มีความถี่และความรุนแรงขึ้น ภูมิประเทศและระบบนิเวศที่อาจไม่เหมือนเดิม การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนำไปสู่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงการหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เริ่มเสียความเสถียร และมีผลต่อการเจริญเติบโต แหล่งที่อยู่อาศัย และห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตและพาหะนำโรค อัตราความถี่และขนาดความรุนแรงทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายพันปีที่ผ่านมา และไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติสามารถกระทำขึ้นได้เอง แม้แต่ในรายงาน AR4 ก็ได้เริ่มมีการใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อขึ้นโดยมนุษย์” หรือ anthropogenic climate change เพื่อเน้นย้ำว่า สภาพอากาศที่มนุษย์ประสบทุกวันนี้ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม มากกว่าบทบาทโดยตัวแปรทางธรรมชาติ
อาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลจาก AR6 WG1 แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมนัก ในเมื่อวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความชัดเจนแล้วตั้งแต่ในรายงาน AR5 เมื่อปี 2014 จึงแทบไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องรอข้อมูลจาก AR6 WG1 เพื่อจัดตั้งโครงการหรือร่างนโยบาย การขาดข้อมูลที่มีความละเอียดและแม่นยำจึงไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่ลงมือทำอีกต่อไป นี่เองจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลให้คุณเกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาเรียงร้องต่อผู้นำโลกให้แสดงความเป็นผู้นำและความจริงใจในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เขียนมองว่า ภายใต้กรอบด้านเวลาและอุณหภูมิที่เร่งเข้ามานี้ การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม หากในต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ IPCC ตัดสินใจเลือกนำเสนอข้อมูลจาก WG3 ด้านแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาก่อน ตามด้วย WG2 ด้านแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบและการลดความเปราะบาง และจบด้วยการยืนยันข้อมูลวิทยาศาสตร์ของ WG1 ทั้งนี้เพื่อให้นานาประเทศได้เริ่มอภิปรายได้เลยภายในปีนี้เลย ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
ต้องไม่ลืมว่าแต่ละประเทศมีวิสัยทัศน์ เป้าหมายแนวทางและวิธีดำเนินการการต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างมาก การจะจัดลำดับความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศท่ามกลางประเด็นปัญหาอื่น ๆ ภายในและระหว่างประเทศอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเปิดเวทีให้ทุกฝ่าย ทุกระดับและทุกภาคส่วนร่วมเจรจา เหล่านี้คือสิ่งที่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ใน AR6 WG1 ตอบไม่ได้ นั่นเพราะการทำความเข้าใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นจะต้องมองให้รอบด้าน ทั้งในมิติทางจริยธรรม สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการเมือง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาทางสังคม เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และประชาธิปไตย
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นมากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของปัญหานี้ใหม่เสียก่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์มองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ “ปัญหาพยศ” หรือ wicked problem[2] ในที่นี้ หมายถึง ปัญหาที่ส่งผลกระทบระดับโลก จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน แต่กลับเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้หนึ่งเดียวที่ดีที่สุด เพราะแต่ละฝ่ายต่างมองปัญหาจากมุมของตัวเอง จำเป็นต้องสร้างพื้นที่สำหรับการอภิปรายว่า เป็นทางแก้ที่เหมาะสมกับใคร ใครได้อะไร ใครเสียอะไร ภายใต้เป้าหมาย เงื่อนไขและบริบทใด จะยอมรับกับระดับผลกระทบที่ตามมาได้มากน้อยเพียงใด คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ จะปกป้องอะไร แลกกับอะไร หรือยอมสูญเสียอะไร คำถามเหล่านี้ซับซ้อนเกินกว่าที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวจะสามารถตอบได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัญหาเชิงการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับบางกลุ่มมองว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากกลุ่มทุนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอำนาจผูกขาดการผลิตพลังงาน ดังนั้นทางแก้คือ การลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาสนับสนุนพลังงานทดแทน บ้างมองว่าปัญหาเกิดจากการที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม carbon capture and storage เพื่อเก็บกักคาร์บอนลงสู่ชั้นใต้ดิน บ้างมองว่ารากลึกของปัญหามาจากการล่าอาณานิคมในอดีตและระบบทุนนิยม ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายต้องชดใช้ค่าเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศที่ถูกขูดรีด ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความแม่นยำและความแน่นอนขององค์ความรู้วิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการลงมือแก้ปัญหาและสนับสนุนการตัดสินใจ แต่จะมีอยู่จุดหนึ่งที่ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นหรือละเอียดขึ้นจะเริ่มมีประสิทธิภาพน้อยลงและกลับยิ่งพบกับอุปสรรคและข้อโต้เถียง ที่ไม่ได้เถียงกันเพราะข้อมูลไม่ถูกต้องแต่เพราะต่างกลุ่มต่างมีจุดยืนแตกต่างกันในทางจริยธรรม ศีลธรรม บรรทัดฐานสังคมและการเมืองต่อวิธีอธิบายสาเหตุและแนวทางการแก้ไข ปัญหาจึงอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่อยู่ที่สภาพอากาศ
อีกประเด็นหนึ่งในเนื้อหาของ WG1 คือ การที่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า “มนุษย์” ผู้เป็นตัวการนั้นคือใคร ราวกับว่ามนุษย์ทุกคนก่อให้เกิดปัญหาด้วยสาเหตุเดียวกันและมีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้เท่ากัน ในรายงาน AR5 WG2 ได้ตระหนักถึงความแตกต่างของสถานะทางเชื้อชาติ เพศ ชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ สิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิต การเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการ อำนาจการต่อรองและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ระดับการพัฒนาของประเทศ รวมถึงการเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมหรือการตกเป็นประเทศในอาณานิคม ปัจจัยเชิงคุณภาพเหล่านี้ทำให้แต่ละชุมชน เมือง หรือประเทศ มีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและศักยภาพในการรับมือกับปัญหาไม่เท่ากัน บริบทเชิงพื้นที่และเชิงประวัติศาสตร์จึงสำคัญมากต่อการรับมือกับปัญหา นี่คือรายละเอียดที่ภาครัฐในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศต้องใส่ใจให้มากขึ้น
ทั้งนี้ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจัดวางแนวทางการตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้อยู่ในบริบทของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ในเชิงหลักการ IPCC ระบุ 2 แนวทางในการตอบสนอง คือ การปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (adaptation) เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายในแต่ละภาคส่วน และการลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มปริมาณการเก็บกักก๊าซเรือนกระจก (mitigation) ทั้งสองแนวทางล้วนมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง สภาพอากาศที่รุนแรงและคาดเดาไม่ได้จะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และเศรษฐกิจแย่ลงกว่าเดิม เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำและบั่นทอนการพัฒนาประเทศ ในทางกลับกัน ยิ่งลดก๊าซเรือนกระจกได้น้อยเพียงใด ก็เท่ากับจะต้องยิ่งรีบลงทุนปรับเปลี่ยนระบบสังคม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อให้รอดพ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-สิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ในอนาคต แน่นอนว่า ต่างกลุ่มมีต้นทุนทางมนุษย์ ทางสังคม ทางทรัพยากร และทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน กลุ่มที่เปราะบางที่สุดมักจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นกลับคืนมาได้ยาก เห็นได้จากหลายตัวอย่างจากสถานการณ์โควิด-19
อีกสิ่งหนึ่งที่รายงาน AR5 WG2 เน้นย้ำเสมอคือ จำเป็นต้องใส่ใจกับการบูรณาการองค์ความรู้ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์หลากหลาย โดยเฉพาะการที่ผู้วางแผนและนโนบายและนักวิทยาศาสตร์ควรเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนพื้นเมือง[3] ทั้งนี้เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศติดอยู่ที่การพึ่งพาเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียว ที่สนใจเพียงการบริหารปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนหรืออุณหภูมิ โดยอ้างความเป็นกลางและฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ดีพอ แต่การทำความเข้าใจกับญาณวิทยา (epistemology) ที่แตกต่างอาจช่วยให้เข้าใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากมุมมองด้านความผูกพันทางจิตวิญญาณกับโลกและสรรพสิ่ง ความหวงแหนต่อท้องถิ่นที่อาจสูญสลาย และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยยึดเอาธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์ เป็นศูนย์กลาง การนำเสนอองค์ความรู้และมุมมองที่หลากหลาย จึงเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สิทธิ์ให้เสียงกับคนทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนมากขึ้น และแต่ละฝ่ายควรมีสิทธิและอำนาจการตัดสินใจเท่าเทียมกันเพื่อการสร้างประชาธิปไตยทางความรู้และสร้างกระบวนการวางแผนและตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง กล่าวคือ หากการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งอยู่บนพื้นฐานที่คับแคบโดยเฉพาะในมุมมองแบบเทคโนแครต (Technocrats) หรือเมื่อมีผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอยู่เพียงกลุ่มเดียว ก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตกอยู่ในสภาวะปราศจากการเมือง กลายเป็นปัญหาของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของ “เรา” อีกต่อไป
4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ
การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593[4] แต่แผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะต้องเป็นมากกว่าการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับชาติและการช่วยเหลือเยียวยาชุมชนที่เปราะบางให้สามารถฟื้นตัวได้โดยเร็ว ทั้งหมดนี้จะยังไม่สมบูรณ์ หากไม่กำจัดช่องว่างที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หากมาตรการและนโยบายไม่มีความยืดหยุ่นสำหรับคนหลากกลุ่ม หรือไม่สามารถตรวจสอบและทบทวนได้โดยประชาชน และหากไม่สร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้สิทธิ์และเสียงของทุกคนมีความหมาย เพื่อการแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดอย่างมีส่วนร่วม[5]
ข้อเสนอต่อภาครัฐจึงมีดังนี้
1. จัดวางแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) นักวิชาการได้จัดกลุ่มเป้าหมาย 17 ประการ ให้เป็น 6 กลุ่ม[6] ดังนี้ 1) การศึกษา เพศ ความเท่าเทียม 2) สุขภาพ วิถีชีวิต ประชากร 3) การใช้พลังงานโดยไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และอุตสาหกรรมยั่งยืน 4) อาหาร ที่ดิน น้ำและมหาสมุทรที่ยั่งยืน 5) เมืองและชุมชนยั่งยืน และ 6) การปฏิวัติดิจิตอลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดกลุ่มเช่นนี้ อาจเป็นแนวทางให้ภาครัฐจัดระเบียบนโยบายและความเชื่อมโยงของกระทรวงต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. มีแผนระยะกลางและระยะยาวเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คือการกล้าที่จะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า เปิดโอกาสให้มีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง และปฏิวัติระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดการใช้น้ำมัน ในภาพรวมนี่หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระบบของภาครัฐด้วย ที่จะต้องไม่แก้ปัญหาเพียงเพื่อรักษาความสัมพันธ์และรักษาอำนาจของตนเองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3. อย่างไรก็ดี เมื่อไม่สามารถแยกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการพัฒนามีความซับซ้อนขึ้น เสนอว่า การแก้ปัญหาความยากจนและความมั่นคงทางอาหาร การสร้างพื้นที่สำหรับความหลากหลาย การมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม อาจจะเป็นสิ่งที่สังคมต้องการมากที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ ในบางเงื่อนไขอาจต้องมาก่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. สุดท้าย ควรพยายามลดการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและสื่อสารความเสี่ยง ที่มีเนื้อหาในเชิงวาทกรรมโลกาวินาศ หรือเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินแก้ให้ทันภายในกรอบเวลาที่กำหนด เพราะจะยิ่งทำให้ผู้รับสารรู้สึกไร้อำนาจในการแก้ไข นอกจากนั้นควรพยายามสื่อสารให้คนไทยสามารถจิตนาการถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของตนเอง และสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เช่น จะมีผลอย่างไรต่อการจับปลาในแถบทะเลอันดามัน หรือพื้นที่ใดของกรุงเทพมหานครที่อาจจมอยู่ใต้น้ำในอนาคต เราไม่ควรต้องใช้หมีขั้วโลกเป็นตัวแทนของปัญหาอีกต่อไปแล้ว นี่คือพื้นที่และโอกาสสำคัญของนักการสื่อสาร ศิลปิน นักภาษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์
กับอนาคตที่ไม่แน่นอน อาจทำให้เราต้องเริ่มตั้งคำถามว่า อยากจะมีชีวิตอยู่อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการเมือง? ฉันจะทำอาชีพอะไรเพื่อมาแก้ไขปัญหาประเทศ? ฉันควรซื้อรถพลังงานไฟฟ้าดีหรือไม่? จะปลูกผลไม้แล้วได้ผลผลิตคุณภาพและปริมาณดีขึ้นหรือไม่? ภาคเหนือจะยังมีลมหนาวให้ฉันได้ไปสัมผัสอยู่อีกหรือไม่? คำถามเหล่านี้ ทำให้ต้องถามต่อไปว่า ภาครัฐจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อสรรค์สร้างชีวิตที่ “ดี” ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงสังคม-สิ่งแวดล้อมในอนาคต หรือถามอีกแบบคือ ถ้าการเมือง “ดี” ชีวิตของคนแต่ละกลุ่มจะเป็นอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำและรับมือกับผลกระทบอันหลากหลายของการเปลี่ยนแปลงสังคม-สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาปลายเปิด เราย้อนคืนอากาศในอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถร่วมออกแบบอนาคตอันหลากหลายของเราได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบไปถึง #SDG1 ยุติความยากจน ในภูมิต้านทานและการเปิดรับและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (1.5), #SDG2 ยุติความหิวโหย ในการสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2.4) เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความมั่นคงทางอาหาร และในข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกี่ยวข้องกับ #SDG16 สังคมสงบสุข มีความยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง ที่จำเป็นต้องให้ทุกคน ได้มีส่วนร่วม มีสิทธิม์มีเสียงในกระบวนการการตัดสินใจของรัฐด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
● SDG Insights | ความท้าทายด้านความมั่นคง: ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
● SDG Updates | ทำความเข้าใจ Loss & Damage และผลกระทบที่คนไทยต้องเผชิญ เมื่อ Climate change รุนแรงขึ้น ประเด็นน่าสนใจงานเสวนาวิชาการศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green)
อ้างอิง
[1] Climate Change 2021: The Physical Science Basis (IPCC)
[2] Climate Change (Mike Hulme)
[3] ทุนนิยมหรือนิเวศวัฒนธรรมชนพื้นเมือง ทางออกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ThaiPublica)
[4] แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๙๓ (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
[5] การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย: ว่าด้วยการเมืองของความรู้และระบบการจัดการ (ชยา วรรธนะภูติ)
[6] Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals (Nature Sustainability)
Last Updated on มกราคม 12, 2022